General

‘สมศักดิ์’ หนุน ‘ตัด-ฉีดยาอัณฑะฝ่อ’ นักโทษฆ่าข่มขืน

วันนี้ (27 ธ.ค.) นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวถึงกรณีที่ น.ส.รังสิมา รอดรัศมี ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ได้เสนอให้มีการเอาผิดนักโทษคดีฆ่าข่มขืน ด้วยการตัดอวัยวะเพศ หรือฉีดยาให้อัณฑะฝ่อว่า เรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องส่วนรวม สังคมมีแนวคิดหลากหลาย แต่เป็นเรื่องที่ดี ถ้า ส.ส.ส่วนใหญ่เห็นด้วยก็สามารถดำเนินการออกกฎหมายได้

สมศักดิ์111222

อย่างเช่น กรณีประเทศสหรัฐ  ที่แม้จะไม่ได้ใช้กฎหมายประหารชีวิตมานาน แต่การข่มขืนเด็กอายุ 7 ขวบ ก็มีการสั่งประหาร แม้ว่ากลุ่มสิทธิมนุษยชนจะคัดค้านทั่วประเทศ แต่ ส.ส.ของอเมริกาเห็นด้วย ก็มีการสั่งประหารชีวิต และออกกฎหมายที่ระบุว่า ถ้าฆาตกรชั่วร้ายคนนั้นอยู่ที่ไหน สังคมต้องควรรับรู้เพื่อให้ป้องกันไม่มีคนตาย

แต่ในประเทศไทยไม่มีใครรู้ว่าคนร้ายเหล่านั้นอยู่ที่ไหน ซึ่งไทยก็ควรมีกฎหมายในลักษณะนี้ออกมา และถ้า ส.ส.ต้องการออกกฎหมายเหล่านี้ ก็สามารถเสนอได้ หรือมาร่วมกับกระทรวงยุติธรรมก็พร้อม เพราะคือความปลอดภัยของประชาชนไม่ได้เป็นเรื่องส่วนตัวแต่อย่างใด ตนเชื่อว่าทุกคนเห็นด้วย แม้ว่าจะขัดหลักสิทธิมนุษยชนก็ตาม เพราะเป็นเรื่องของส่วนรวม ถ้าสังคมรับได้ก็เป็นเรื่องง่ายที่จะออกกฎหมาย

“บางทีสิ่งที่ผมพูดไปก็อาจจะพูดไปทั่วบ้านทั่วเมือง สำหรับฆาตกรคดีฆ่าข่มขืน อยู่ที่ใด ประชาชนจะต้องรับทราบเพื่อให้ระมัดระวังซึ่ง เป็นมาตรการที่เบาที่สุด แต่ถ้ามาตรการที่หนักคือต้องประหารชีวิต แต่สังคมรับไม่ได้ก็ต้องติดคุกตลอดชีวิต คำถามคือเราทำได้หรือไม่ และกฎหมายจะทำได้หรือไม่ นี่คือแนวคิดที่ใช้มาตรการจากหนักไปหาเบา”

พร้อมกันนี้ นายสมศักดิ์ ยังกล่าวถึงกรณีผู้กระทำความผิดซ้ำ แม้จะพ้นโทษออกมาแล้วก็ตามว่า ต่อไปนี้กรมราชทัณฑ์จะมีมาตรการควบคุม โดยชะลอการปล่อยตัวทั้งระยะสั้น และระยะยาว ตามข้อมูลแบ่งนักโทษออกเป็น 9 ประเภท ที่กระทำผิดซ้ำซากมีตั้งแต่น้อยสุดไปจนถึงมากสุด มีจำนวน 2.3 หมื่นคน ในกลุ่มนี้คดีฆาตกรต่อเนื่องและโรคจิต ฆ่าข่มขืนมีจำนวน 3 พันคน ซึ่งในกลุ่มนี้มีผู้นักโทษคดีฆ่าข่มขืนที่เหลือโทษจำคุกอีก 2 – 3 ปี จำนวนประมาณไม่เกิน 100 คน ซึ่งต้องมีมาตรการทางกฎหมายเพื่อควบคุมนักโทษกลุ่มนี้ ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว

สำหรับผู้พ้นโทษออกไปจะต้องมีมาตรการที่สามารถนำมาจองจำต่อ หรือกักขังต่อ ตาม พ.ร.บ.ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 39 และ พ.ร.บ.ของกรมสุขภาพจิต ที่สามารถพิสูจน์ได้ว่าบุคคลเหล่านั้นเป็นบุคคลอันตราย มีความเสี่ยงกระทำความผิดซ้ำ ซึ่งจะต้องเข้ารับการตรวจในขั้นตอนทางการแพทย์ เพื่อให้อยู่ในกำกับดูแลของกฎหมายต่ออีก 3 – 10 ปี เพื่อไม่ให้ก่อความผิดซ้ำ รวมทั้งขอให้อัยการ และศาลมีคำสั่งในเรื่องดังกล่าว

ส่วนในระยะยาวจะต้องมีการออกกฎหมายให้กรมราชทัณฑ์กำกับดูแลเพิ่มโทษ ซึ่งต่างจากนักโทษปกติทั่วไป ทั้งนี้ กรมราชทัณฑ์ได้ทำบัญชีรายชื่อนักโทษไว้แล้ว แต่ต้องใช้เวลาพอสมควร

Avatar photo