Politics

ฎีกาตัดสินจำคุก ‘เบญจา’ อดีต รมช.คลัง 2 ปี ฐานช่วย ‘โอ๊ค-เอม’ เลี่ยงภาษีหุ้นชินคอร์ปฯ

ฎีกาพิพากษาจำคุก ‘เบญจา หลุยเจริญ’ อดีต รมช.คลัง 2 ปี ฐานช่วย ‘โอ๊ค-เอม’ เลี่ยงภาษีซื้อหุ้นชินคอร์ปฯ ปี 49

เบญจา หลุยเจริญ
                                           ขอบคุณภาพจากกระทรวงการคลัง (แฟ้มภาพ)

เมื่อเวลา 10.30 น. วันนี้ (26 ธ.ค.) ที่ห้องพิจารณาคดี 703 ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางนัดอ่านฎีกา คดีคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนางเบญจา หลุยเจริญ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง สมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และอดีตรองอธิบดีกรมสรรพากร, น.ส.จำรัส แหยมสร้อยทอง อดีตผู้อำนวยการสำนักกฎหมาย, น.ส.โมรีรัตน์ บุญญาศิริ อดีตผู้อำนวยการสำนักกฎหมาย, นายกริช วิปุลานุสาสน์ ผู้อำนวยการสำนักกฎหมาย กรมสรรพากร และ น.ส.ปราณี เวชพฤกษ์พิทักษ์ คนใกล้ชิดเลขานุการส่วนตัวของคุณหญิงพจมาน ณ ป้อมเพชร อดีตภริยานายทักษิณ ชินวัตร เป็นจำเลยที่ 1-5 ฐานร่วมกันเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ราชการ ตามประมวลกฎหมายอาญา ม.157

กรณีพวกจำเลย ได้ช่วยเหลือนายพานทองแท้ ชินวัตร (โอ๊ค) และ น.ส.พินทองทา ชินวัตร (เอม) บุตรชายและบุตรสาวของนายทักษิณ อดีตนายกรัฐมนตรี เลี่ยงเสียภาษีอากร หรือเสียภาษีน้อยกว่าที่จะต้องเสีย ในการซื้อหุ้นชินคอร์ปอเรชั่นเมื่อปี 2549 คนละ 164,600,000 หุ้น ราคาพาร์หุ้นละ 1 บาท ขณะที่ราคาตลาดหุ้นละ 49.25 บาท ซึ่งถือเป็นผู้ได้รับเงินพึงประเมิน ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 39 และมีหน้าที่ต้องเสียภาษีของส่วนต่างราคาหุ้น คนละ 7,941,950,000 บาท

คดีนี้ จำเลยทั้งหมดให้การปฏิเสธ ขณะที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษายืนให้จำคุกจำเลยที่ 1- 4 คนละ 3 ปี ฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่ไม่ชอบ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ทำให้เกิดความเสียหายแก่กรมสรรพากร ตาม ป.อ.มาตรา 157 ส่วนจำเลยที่ 5 จำคุก 2 ปี ฐานเป็นผู้สนับสนุน

ต่อมาจำเลยทั้งหมดยื่นฎีกาสู้คดี พร้อมขอให้พิจารณาลงโทษสถานเบาหรือรอลงอาญา โดยระหว่างฎีกา จำเลยทั้งหมดได้ประกันตัวคนละ 5 แสนบาท ซึ่งวันนี้ทั้งหมดเดินทางมาพร้อมฟังคำพิพากษาฎีกา โดยมีครอบครัวและญาติสนิทมาร่วมให้กำลังใจ

S 92807174
                                          พานทองแท้ ชินวัตร (ซ้าย) และทักษิณ ชินวัตร (ขวา)

ศาลฎีกาตรวจสำนวน และประชุมปรึกษาหารือกันแล้วเห็นว่า การกระทำของจำเลยที่ 1-4 ในการ ตอบข้อหารือประเมินภาษี การซื้อขายหุ้นชินคอร์ปฯ ระหว่างแอมเพิลลิช กับนายพานทองแท้ และ น.ส.พิณทองทา ให้กับจำเลยที่ 5 รับทราบนั้นแอบแฝงเจตนา ที่จะช่วยให้นายพานทองแท้ และ น.ส.พิณทองทา ไม่ต้องแจ้งรายได้ที่เป็นส่วนต่างการซื้อขายหุ้นที่ราคาต่ำกว่าทุนซึ่งมีมูลค่า 15,883,900,000 บาท ซึ่งแนวการตอบข้อหารือนั้นก็ไม่ตรงกับข้อหารือที่กรมสรรพากร เคยวินิจฉัยเกี่ยวกับการซื้อขายหุ้นบางประการไว้

อีกทั้งยังฟังได้ว่า การที่จำเลยที่ 5 มีหนังสือแจ้งถามข้อหารือมายังกรมสรรพากรก็เป็นการวางแผนที่เตรียมไว้ในการขายหุ้นกลุ่มชินคอร์ปฯ ให้กับกลุ่มเทมาเส็ก ประเทศสิงคโปร์ ที่ศาลฎีกา แผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเคยวินิจฉัยว่า เจ้าของหุ้นที่แท้จริง คือนายทักษิณ ชินวัตร ซึ่งจำเลยที่ 1-4 เป็นเจ้าหน้าที่กรมสรรพากรระดับสูง เคยวินิจฉัย ข้อกฎหมายต่างๆมา และถือเป็นมันสมองของกรมสรรพากร

ขณะที่จำเลยที่ 5 ก็เคยทำงานเกี่ยวกับการตรวจสอบบัญชีและตรวจสอบการประเมินภาษี จึงย่อมรู้ดีว่าการมีหนังสือถามข้อหารือดังกล่าว นายพานทองแท้และ น.ส.พิณทองทา สามารถนำไปใช้ประโยชน์ ในการยื่นแบบรายได้ประเมินภาษีได้ และหากมีคดีความเกิดขึ้น ทั้งอาญาหรือแพ่งก็สามารถนำหนังสือตอบข้อหารือนี้ไปใช้อ้างเพื่อเป็นประโยชน์ได้ ขณะที่ข้อสงสัยในการประเมินภาษีลักษณะดังกล่าวยังไม่เคยมีแนวคำวินิจฉัย ดังนั้นที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษว่ากระทำความผิดนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล

ส่วนที่จำเลยทั้ง 5 ขอให้ลงโทษสถานเบาหรือรอลงอาญานั้น ศาลฎีกาเห็นว่าการกระทำของจำเลยทั้ง 5 คน ตามที่วินิจฉัยมาถือว่ามีพฤติการณ์ร้ายแรง จึงไม่สมควรให้รอการลงโทษ แต่เมื่อพิเคราะห์จากคำให้การของจำเลยที่ 1-4 แล้ว เห็นว่ายังมีประโยชน์ต่อการพิจารณาอยู่บ้าง เห็นควรลดโทษให้คนละ 1 ใน 3

โดยจำเลยที่ 1-4 มีความผิดฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ หรือปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ประกอบมาตรา 83 จำคุก 2 ปี ไม่รอลงอาญา ส่วนจำเลยที่ 5 น.ส.ปราณี ฐานสนับสนุนให้เจ้าพนักงานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ หรือปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ประกอบมาตรา 86 จำคุก 2 ปี ไม่รอลงอาญาเช่นกัน

Avatar photo