Telecommunications

ปรับแผนประมูล 4 คลื่น ‘5G’ ไล่เคาะราคา ‘ทีละคลื่น’ 16 ก.พ.63

กสทช. ดีเดย์ 16 กุมภาพันธ์ 63 ประมูล 4 คลื่นความถี่ เดินเครื่อง 5G แต่ปรับเกณฑ์ใหม่จากประมูลมัลติแบนด์ เป็นไล่เคาะราคาประมูลทีละคลื่น พร้อมคาดเดือนเมษายนปีหน้า เริ่มใช้เชิงพาณิชย์ได้

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยว่า ที่ประชุม กสทช. ใันวันที่ 24 ธันวาคม 2562 ได้เห็นชอบให้เดินหน้าจัดประมูล 5G ที่จะจัดเคาะราคาในวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2563 รวม 4 คลื่นความถี่ ได้แก่ 700 MHz, 1800 MHz, 2600 MHz และ 26 GHz

5g

อย่างไรก็ตาม ได้เปลี่ยนรูปแบบการประมูล จากเดิมที่จะเป็นการประมูลแบบมัลติแบนด์ เป็นการเคาะราคาประมูลทีละคลื่นความถี่ แต่ยังคงใช้การประมูลแบบ clock auction เช่นเดิม

สำหรับกรอบเวลาในการประมูลได้แก่ วันที่ 27 ธันวาคม 2562 จะประกาศหลักเกณฑ์เผยแพร่บนราชกิจจานุเบกษา จากนั้นวันที่ 2 มกราคม – 3 กุมภาพันธ์ 2563 จะประกาศเชิญชวนให้ผู้ที่สนใจเข้าประมูล ตามด้วยวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2563 เปิดให้ยื่นซองเอกสารแสดงความจำนงเข้าร่วมประมูล วางหลักประกัน และจะจัดประมูลเคาะราคาในวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2563

ทั้งนี้ คลื่นที่นำออกประมูล ประกอบด้วย คลื่นย่านความถี่ 700 MHz มี 3 ใบอนุญาต ราคาเริ่มต้นชุดละ 8,792 ล้านบาท เคาะราคาเพิ่มขึ้นครั้งละ 440 ล้านบาท ผู้ประมูลได้สามารถจ่ายเงินค่าประมูลแบ่ง 10 งวด งวดละ 10% โดยต้องวางหลักประกันการประมูล 2,637.60 ล้านบาท ค่าปรับต่อชุด 1,319 ล้านบาท กรณีไม่มาชำระเงินค่าประมูล

ฐากร ตัณฑสิทธิ์
ฐากร ตัณฑสิทธิ์

ย่านความถี่ 1800 MHz มี 7 ใบอนุญาต ราคาเริ่มต้น 12,486 ล้านบาทต่อชุด ประมูลได้สูงสุด 4 ชุด เคาะราคาเพิ่มครั้งละ 25 ล้านบาท แบ่งชำระ 3 งวด งวดที่ 1 ชำระ 50% ของราคาที่ชนะ งวดที่ 2 ชำระ 25% งวดที่ 3 ชำระ 25% ต้องวางหลักประกัน 4,994.40 ล้านบาท ค่าปรับต่อชุด 1,873 ล้านบาท กรณีไม่มาชำระเงินค่าประมูล และมีเงื่อนไขผู้ชนะต้องขยายโครงข่ายให้ครอบคลุม 40% ของประชากรใน 4 ปี และ 50% ของประชากรภายใน 8 ปี

ในส่วนของย่านความถี่ 2600 MHz มี 19 ใบอนุญาต ราคาเริ่มต้น 1,862 ล้านบาทต่อชุด ประมูลได้สูงสุด 10 ชุด เคาะราคาเพิ่มขึ้นครั้งละ 93 ล้านบาท แบ่งจ่าย 7 งวด งวดที่ 1 ชำระ 10% ของราคาที่ชนะประมูล งวดที่ 2-7 (ปีที่ 5-10) ชำระ 15% ซึ่งผู้ชนะต้องขยายโครงข่ายให้ครอบคลุม 50% ของพื้นที่อีอีซีภายใน 1 ปี และครอบคลุม 50% ของประชากรในสมาร์ท ซิตี้ ภายใน 4 ปี วางหลักประกันการประมูล 1,862 ล้านบาท ค่าปรับต่อชุด 280 ล้านบาท กรณีไม่มาชำระเงินค่าประมูล

ขณะที่ย่านความถี่ 26 GHz มี 27 ใบอนุญาต ราคาเริ่มต้น 423 ล้านบาทต่อชุด ประมูลได้สูงสุด 12 ชุด เคาะราคาเพิ่มขึ้นครั้งละ 22 ล้านบาท พร้อมปรับเงื่อนไขให้เริ่มจ่ายเงินประมูลทั้งหมดก้อนเดียวในปีที่ 2 ที่ได้รับใบอนุญาต จากเดิมจ่ายงวดเดียว รวมทั้งต้องวางหลักประกัน 507.60 ล้านบาท ค่าปรับต่อชุด 64 ล้านบาท กรณีไม่มาชำระเงินค่าประมูล

นายฐากรกล่าวว่า ในเดือนมีนาคม 2563 คาดว่าจะเริ่มติดตั้งอุปกรณ์ และเปิดใช้งานเชิงพาณิชย์ได้ในบางพื้นที่แน่นอน

Avatar photo