Business

‘AIT’ กวาดงานพัฒนาระบบตั๋ว ‘การรถไฟฯ-บขส.’ กำหนดเสร็จพร้อมกัน พ.ค. 64

“AIT” กวาดงานพัฒนาระบบขายตั๋วดิจิทัล “การรถไฟฯ –บขส.” มูลค่ารวม 1.1 พันล้านบาท กำหนดเสร็จพร้อมกัน พ.ค. 64 ตั้งเป้าต่อยอดเสนอ “คมนาคม” เชื่อม 2 ระบบ อำนวยความสะดวกผู้โดยสาร

อภิชัย นิมจิรวัฒน์

นายอภิชัย นิมจิรวัฒน์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานขายและการตลาด บริษัท แอ็ดวานซ์อินฟอร์เมชั่นเทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) หรือ AIT เปิดเผยว่า ในปี 2562 AIT ได้รับสัญญาว่าจ้างให้พัฒนาระบบจำหน่ายตั๋วโดยสารในองค์กร 2 แห่ง ได้แก่ การรถไฟฯ วงเงิน 920 ล้านบาท และบริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) วงเงิน 278 ล้านบาท คิดเป็นมูลค่ารวม 1,198 ล้านบาท

สำหรับสัญญาระหว่าง AIT กับการรถไฟฯ ลงนามไปเมื่อวานนี้ (23 ธ.ค.) มีอายุรวม 75 เดือน ในช่วง 15 เดือนแรก จะเป็นช่วงของการพัฒนาและส่งมอบระบบ โดย AIT จะส่งมอบระบบ โค้ดดิ้ง และการออกแบบให้เป็นลิขสิทธิ์ของการรถไฟฯ ได้ภายใน 15 เดือน หรือเดือนพฤษภาคม 2564 อย่างแน่นอน ส่วนสัญญาช่วง 60 เดือนหลัง จะเป็นสัญญาบำรุงรักษาและซ่อมบำรุง

“ในแง่กำไรของโครงการนี้ถือว่าใช้ได้ แต่ว่าไม่ได้สูงมาก เนื่องจากระยะเวลาการเก็บเงินมันนาน โดยในช่วง 15 เดือนแรก จะมีการแบ่งจ่ายเงินเป็น 7 งวด ส่วนการบำรุงรักษาและซ่อมบำรุง 5 ปี จ่ายเดือนละงวด หรือคิดเป็น 60 งวด” นายอภิชัยกล่าว

ด้านสัญญาการพัฒนาระบบระหว่าง AIT และ บขส. ลงนามสัญญาไปเมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2562 โดยต้องส่งมอบงานภายใน 24 เดือน หรือเดือนพฤษภาคม 2564  เช่นกัน ซึ่งระบบขายตั๋วของ บขส. และการรถไฟฯ ต่างเป็นระบบที่พัฒนาโดยคนไทยและมีลักษณะคล้ายๆ กัน

IMG 6755

หวังเชื่อม 2 ระบบ

ทั้งนี้ ในมุมมองของบริษัท เมื่อบริษัทได้พัฒนาระบบตั๋วให้ บขส. และการรถไฟฯ แล้ว ก็ต้องการให้เกิดการเชื่อมโยงระบบการขายตั๋วเข้าด้วยกันในอนาคต เช่น ผู้โดยสารอาจซื้อตั๋วรถโดยสารที่ตู้ขายตั๋วอัตโนมัติของการรถไฟฯ ได้ หรือซื้อตั๋วรถไฟที่ตู้อัตโนมัติของ บขส. ได้เหมือนในต่างประเทศ เพราะบริษัทเป็นผู้พัฒนาระบบขายตั๋วทั้ง 2 แห่ง ซึ่งมีลักษณะคล้ายกัน จากเดิมเอกชนที่พัฒนาระบบขายตั๋วเป็นคนละราย ทำให้ไม่สามารถบูรณาการร่วมกันได้

“ลูกค้าเราในสังกัดกระทรวงคมนาคม มีทั้ง ทอท. ซึ่งเราพัฒนาระบบโครงข่ายใน 6 สนามบิน, บขส. และการรถไฟฯ ในอนาคตเราอาจจะนำเสนอแพลตฟอร์ม ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มกลางในการซื้อขายตั๋วให้กระทรวงฯ มันก็จะเกิดความสะดวกมากขึ้นสำหรับประชาชน โดยต่อยอดจากแพลตฟอร์มตั๋วแมงมุมขึ้นไป” นายอภิชัยกล่าว

S 6307844

พัฒนาจากที่โหล่

นายวรวุฒิ มาลา รองผู้ว่าการกลุ่มธุรกิจการบริหารทรัพย์สิน รักษาการในตำแหน่งผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยหลังลงนามสัญญาโครงการจ้างพัฒนาระบบการจำหน่ายตั๋วโดยสารและสำรองที่นั่ง (D – Ticket) หรือระบบซื้อตั๋วโดยสารผ่านช่องทางดิจิทัล ระหว่างการรถไฟฯ และ AIT วานนี้ (23 ธ.ค.) ว่า

เพื่อให้การบริการประชาชนในการสำรองที่นั่งและจำหน่ายตั๋วโดยสารรถไฟเป็นไปอย่างต่อเนื่อง สะดวก และรวดเร็ว การรถไฟฯ จึงได้จัดหาเอกชนมาดำเนินการโครงการ D – Ticket ด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) ซึ่งผลปรากฏกว่า AIT เป็นผู้ชนะการประมูลด้วยวงเงิน 920 ล้านบาท

BB89AEE0 8339 4139 B777 23D921A5204C

ลดต้นทุน 84 ล้านบาท

ทั้งนี้ D – Ticket เป็นโครงการพัฒนาระบบซื้อตั๋วโดยสารผ่านช่องทางดิจิทัลต่างๆ ซึ่งหลังจากการติดตั้งระบบแล้วจะสามารถให้บริการจำหน่ายตั๋วโดยสารและสำรองที่นั่งได้ทุกช่องทาง ทั้งจำหน่ายภายในสถานี, ซื้อผ่านออนไลน์, ซื้อผ่านโมบายแอปพลิเคชั่น, รองรับการทำงานร่วมกับ QR Code รวมทั้งผู้โดยสารขึ้นระหว่างสถานีได้ด้วย

ส่วนระบบการชำระเงินผู้โดยสารสามารถชำระค่าโดยสารผ่านแอปพลิเคชั่นมือถือ โดยจะต้องดาวน์โหลดแอปพลิเคชั่นชื่อ D-ticket สมัครสมาชิกและยืนยันข้อมูล จากนั้นจะสามารถดำเนินการจองตั๋วและชำระเงินผ่านบัญชีธนาคารออนไลน์ภายในระยะเวลาที่กำหนด โดยจะได้รับรหัสยืนยันและคิวอาร์โค้ด เพื่อแสดงข้อมูลการเดินทาง

ระบบดังกล่าวยังสามารถรองรับการจองตั๋วรูปแบบอื่น ทั้งการซื้อตั๋วออนไลน์ผ่านสถานีทั่วประเทศ การซื้อผ่าน Call center 1690 โดยการแจ้งรายละเอียดการเดินทางแก่เจ้าหน้าที่ หลังจากนั้นโดยผู้โดยสารจะได้รับรหัสยืนยัน เพื่อนำรหัสไปออกตั๋วที่สถานีพร้อมชำระเงินภายใน 24 ชั่วโมง โดยสามารถชำระเป็นเงินสด หรือชำระผ่านบัญชีธนาคารออนไลน์ได้ทันที ทั้งนี้ คาดว่าจะสามารถเริ่มให้บริการจำหน่ายตั๋วโดยสารระบบดังกล่าวได้ภายในปี 2564

“โครงการนี้จะทำให้การรถไฟฯ สามารถรองตั๋วผ่านแอปฯ ผ่านระบบออนไลน์ได้ เป็นการยกระดับบริการของการรถไฟฯ จากที่เมื่อ 19 ปีก่อน เราเคยเป็นองค์กรการรถไฟที่ใช้เทคโนโลยีอันดับ 1 ของอาเซียน แต่วันนี้เราเป็นที่โหล่ คาดว่าอีก 15 เดือนข้างหน้า ระบบจะสมบูรณ์ และทำให้การรถไฟฯ มีระบบขายตั๋วที่ทันสมัยอีกครั้ง และอนาคตก็จะเป็นส่วนเชื่อมต่อกับระบบอื่น อย่างรถไฟฟ้าสายสีแดงและบัตรแมงมุม” นายวรวุฒิกล่าว

นายฐากูร อินทรชม ผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการเดินรถ การรถไฟแห่งประเทศไทย กล่าวว่า โครงการ D – Ticket จะเป็นตั๋วกระดาษขนาดเล็ก แต่หากไม่ต้องการพิมพ์เป็นเอกสาร ก็สามารถใช้เป็น QR Code แสดงผ่านมือถือได้ เพิ่มเพื่อให้สะดวกสบายและลดต้นทุนการพิมพ์ตั๋วโดยสารระยะยาว โดยคาดว่าจะช่วยลดต้นทุนการจัดจำหน่ายตั๋วของรถไฟได้ปีละ 84 ล้านบาท ด้านระบบจำหน่ายตั๋วแบบเดิมจะหมดสัญญาเช่าไปในเดือนสิงหาคม 2563

Avatar photo