Business

ฝั่งธนฯ เฮ! วันนี้เริ่มทดลองวิ่งรถไฟฟ้า ‘เตาปูน-ท่าพระ’ ยืนยันเปิดจริง 30 มี.ค. ปีหน้า

วันนี้ (23 ธ.ค.) ทดลองวิ่งรถไฟฟ้าสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย “เตาปูน-ท่าพระ” ฟรีเป็นวันแรก ยืนยันเปิดจริงครบลูป 30 มี.ค. ปีหน้า เก็บค่าโดยสาร 42 บาทตลอดสาย

S 149929995

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยหลังเป็นประธานในพิธีเปิดให้ประชาชนทดลองใช้บริการ โครงการรถไฟฟ้า MRT สายสีน้ำเงิน (ส่วนต่อขยาย) ช่วงเตาปูน – ท่าพระ วันนี้ (23 ธ.ค.) ว่า เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2562 ที่ผ่านมา กระทรวงคมนาคม และการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ได้เปิดให้ประชาชนทดลองใช้บริการรถไฟฟ้า MRT สายสีน้ำเงิน (ส่วนต่อขยาย) ช่วงเตาปูน – ท่าพระ จากสถานีบางโพ – สถานีสิรินธร จำนวน 4 สถานี โดยไม่คิดค่าโดยสาร

และล่าสุดรถไฟฟ้า MRT สายสีน้ำเงิน (ส่วนต่อขยาย) พร้อมเปิดให้ประชาชนทดลองใช้เพิ่มอีก 4 สถานี ได้แก่ สถานีบางยี่ขัน, สถานีบางขุนนนท์, สถานีไฟฉาย และสถานีจรัญฯ 13 รวมเป็น 8 สถานี คือ จากสถานีบางโพ – สถานีจรัญฯ 13 ตั้งแต่วันนี้ถึงวันที่ 29 มีนาคม 2563 ระหว่างเวลา 10.00 – 16.00 น.

S 149929993

เฉพาะในวันนี้ จะเปิดทดลองให้บริการจากสถานีเตาปูน – สถานีสิรินธร ตั้งแต่เวลา 10.00 น. และจากสถานีเตาปูน – สถานีท่าพระ ตั้งแต่เวลา 14.30 – 18.00 น. โดยจะให้บริการรถไฟฟ้าแบบวิ่งไป-กลับ จากสถานีเตาปูน – สถานีท่าพระ มีรถไฟฟ้าให้บริการจำนวน 6 ขบวน ระยะห่างระหว่างขบวนประมาณ 8 นาที ซึ่งผู้โดยสารจากสายสีน้ำเงินปัจจุบันหรือสายสีม่วงที่ต้องการเดินทางไปปลายทางระหว่างสถานีจรัญฯ 13 – สถานีบางโพ จะต้องเปลี่ยนขบวนรถที่สถานีท่าพระหรือสถานีเตาปูน

นอกจากนี้ กระทรวงคมนาคมและ รฟม. ได้เตรียมพร้อมที่จะเปิดให้บริการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินอย่างเป็นทางการเต็มรูปแบบครบทั้งโครงข่ายและจัดเก็บค่าโดยสารตามปกติทั้งเส้นทาง ในวันที่ 30 มีนาคม 2563 เป็นต้นไป โดยจะคิดอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินตามระยะทาง ตั้งแต่สถานีแรกที่อัตรา 16 บาท และสูงสุด 42 บาท ในกรณีเดินทางเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีม่วง จะคิดอัตราค่าโดยสารสูงสุดไม่เกิน 70 บาท โดยเมื่อผู้โดยสารแตะบัตรหรือเหรียญโดยสารที่ประตูอัตโนมัติแล้ว จะสามารถอยู่ในระบบรถไฟฟ้าได้ไม่เกิน 180 นาที

S 11190324

เมื่อรถไฟฟ้า MRT สายสีน้ำเงินเปิดให้บริการอย่างเต็มโครงข่ายแล้ว จะมีระยะทางรวมทั้งสิ้น 48 กิโลเมตร จำนวน 38 สถานี และมีสถานีท่าพระเป็นสถานีร่วม (Interchange Station) เชื่อมต่อเส้นทางเป็นโครงข่ายวงกลมที่ครอบคลุมพื้นที่ใจกลางกรุงเทพฯ และเติมเต็มโครงข่ายระบบรถไฟฟ้าให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ เส้นทางของรถไฟฟ้า MRT สายสีน้ำเงิน ยังมีจุดที่เชื่อมต่อกับระบบขนส่งสาธารณะรูปแบบอื่นๆ ทั้งทางราง ทางบก และทางน้ำในเขตเมือง ซึ่งจะช่วยอำนวยความสะดวกในการเดินทาง บรรเทาปัญหาการจราจรที่ติดขัด อันเป็นการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนและยกระดับการเดินทาง พร้อมทั้งช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ทำให้ประชาชนได้รับความสะดวกสบายและมีคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้น

S 11190330

S 11190335

Avatar photo