Economics

‘ประธานบอร์ด’ เปิดทางกฟผ.นำเข้า LNG ป้อนโรงไฟฟ้าพระนครใต้ 5 ล้านตัน

“ประธานบอร์ด” เปิดทางกฟผ. นำเข้า LNG ป้อนโรงไฟฟ้าพระนครใต้ 5 ล้านตันในอนาคต  พร้อมให้ฝ่ายกฎหมาย กฟผ.ศึกษารอบคอบ นำข้อเท็จจริงชี้แจง หากยื้อจัดหา LNG สัญญาระยะยาว  1.5 ล้านตัน จาก บริษัท PETRONAS LNG หวั่นทำผิดกฎจัดซื้อจัดจ้าง

IMG 20191220 085747

นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน ในฐานะประธานคณะกรรมการ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) อธิบายถึงบทบาทของใหม่ที่ กฟผ.ในการเป็นผู้จัดหาก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG Shipper) ว่า แนวนโยบาย จะมีการแบ่งสัดส่วนให้ กฟผ.เป็นผู้การจัดหา LNG เพื่อป้อนให้กับโรงไฟฟ้าของกฟผ.เอง โดยเฉพาะโรงไฟฟ้านครใต้ ที่จะสร้างใหม่ทดแทนโรงเดิม

โรงไฟฟ้าแห่งนี้ มีกำลังผลิต 2,100 เมกะวัตต์ แบ่งเป็น ขนาด 700 เมกะวัตต์ จ่ายไฟฟ้าเข้าระบบในปี 2569 และ 1,400 เมกะวัตต์ จ่ายเข้าระบบ ปี 2570 ซึ่งมีความต้องการใช้ LNG ประมาณ 5 ล้านตันต่อปี

ในขณะที่โรงไฟฟ้าหลักของกฟผ. อื่นๆ รวมทั้งโรงไฟฟ้า ที่เกี่ยวกับความมั่นคงไฟฟ้าของประเทศ  ปตท.จะยังเป็นผู้จัดหาก๊าซธรรมชาติในระยะยาวให้ กฟผ. ดังนั้นในอนาคตยืนยันว่า กฟผ.จะไม่ได้เป็นเพียงผู้นำเข้า LNG เพียง 2 ลำเรือละ 65,000 ตันเท่านั้น

ทั้งนี้ได้มีการชี้แจงทำความเข้าใจกับฝ่ายบริหารกฟผ. และ สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ (สร.กฟผ.) แล้ว ถึงมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เมื่อวันที่ 16 ธันวคม 2562 ที่ให้ยกเลิกการประมูลนำเข้า LNG ของกฟผ.ในปริมาณไม่เกิน 1.5 ล้านตันต่อปี และทราบว่าทางสร.กฟผ.จะเข้าพบนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานในวันที่ 23 ธันวาคม

“การที่กพช.มีมติยกเลิก การประมูลนำเข้า LNG ของกฟผ.ในปริมาณไม่เกิน 1.5 ล้านตันต่อปี เนื่องจากความต้องการใช้ก๊าซในประเทศไม่ได้เพิ่มขึ้นตามที่คาดการณ์ และจะทำให้เกิดปัญหา take or pay กระทบต่อค่าไฟฟ้า 2 สตางค์ต่อหน่วย และในกรณีที่กฟผ.นำเข้ามาแล้วมีปริมาณเหลือ กฟผ.ก็ไม่สามารถจำหน่ายออกไปได้ เพราะติดเงื่อนไข พ.ร.บ.กฟผ.”

แอลเอ็นจี 4

อย่างไรก็ตามได้ให้ฝ่ายกฏหมายของกฟผ.ไปดูข้อกฏหมายเกี่ยวกับกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างของ กฟผ. ว่ากรณีที่ บริษัท PETRONAS LNG ซึ่งเป็นผู้ชนะประมูลจัดหาLNG ปริมาณไม่เกิน1.5 ล้านตันต่อปี โดยบริษัทฯยินยอมยืนราคาขายเดิม 7.32 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียู กับกฟผ. 8 ปี ขณะเดียวกันกฟผ.ยังสามารถกำหนดเวลานำเข้าLNG ได้เมื่อมีความต้องการใช้ โดยไม่ต้องเปิดประมูลใหม่ ตามแนวทางที่กฟผ.ได้ชี้แจงมานั้น สามารถทำได้หรือไม่  และหากกรณีที่การประมูลใหม่ในอนาคตสามารถได้ผู้ชนะประมูลที่เสนอราคาต่ำกว่า 7.32ดอลลาร์ต่อล้านบีทียู  กฟผ.จะโดนข้อกล่าวหา ว่าฮั้วประมูลหรือไม่

นายกุลิศ เล่าต่อว่า ในการประมูล LNG ตลาดจร (spot)ของกฟผ. ทั้ง 2 ลำเรือ ปริมาณลำเรือละ 65,000 ตันตามมติกพช. จะส่งมอบในวันที่ 28 ธันวาคม 2562 และ เมษายน 2563 แม้จะได้รายเดิม คือ บริษัท PETRONAS LNG เป็นผู้ชนะประมูล แต่ก็ได้ราคา 5.32 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียู ซึ่งต่ำกว่าสัญญาจัดซื้อปริมาณไม่เกิน 1.5 ล้านตัน ที่กฟผ.ประมูลได้ ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภค

“หลังจากนี้กฟผ.และกระทรวงพลังงาน จะมีการพิจารณาร่วมกันให้ได้ข้อสรุปที่ชัดเจน ว่าการจัดหา LNG โดย กฟผ. ในฐานะ shipper ระยะยาว จะนำเข้าในรูปแบบใด เป็นแบบ spot แบบสัญญาระยะกลาง หรือสัญญาระยะยาว โดยจะต้องผ่านการศึกษาความเหมาะสมก่อน “

แต่สำหรับสัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติระยะยาว (Global DCQ)ฉบับใหม่ ระหว่าง กฟผ.และ ปตท. จะเป็น LNG ที่ป้อนโรงไฟฟ้าเพื่อความมั่นคงใช้ทดแทน Global DCQ ฉบับเดิม ที่จะสิ้นสุดลงภายในเดือนธันวาคม 2562 ซึ่งจะมีการนำเรื่องนี้เข้าหารือในคณะกรรมการกฟผ.ในวันที่ 26 ธันวาคม 2562 นี้

Avatar photo