Business

‘จีเอ็ม’ปรับสู่‘โฮลดิ้ง’มุ่งธุรกิจอีคอมเมิร์ซ

ย้อนหลังไป 10 ปี เม็ดเงินโฆษณากลุ่มสื่อดั้งเดิม ที่อยู่ในช่วง “ขาลง” มาอย่างต่อเนื่อง โดย “นิตยสาร” ถือว่าถดถอยในอัตราสูงกว่าสื่ออื่น ๆ

จากข้อมูลของ นีลเส็น ประเทศไทย รายงานเม็ดเงินโฆษณานิตยสาร ปี 2551 มีมูลค่า 4,771 ล้านบาท ปี 2560 ลดลงเหลือ 1,600  ล้านบาท  ขณะที่ “กรุ๊ปเอ็ม” คาดการณ์ปี 2561 มูลค่าอยู่ที่ 1,440  ล้านบาท

งบโฆษณาที่ลดลงดังกล่าว มาจากหลายปัจจัย ทั้งเทคโนโลยีดิจิทัล ที่เข้ามา disrupt สื่อดั้งเดิม  พฤติกรรมผู้อ่านเปลี่ยนสู่การเสพคอนเทนท์ออนไลน์  เอเยนต์และแผงหนังสือมีจำนวนลดลง ส่งผลให้ นิตยสาร  ทั้งหัวไทยและต่างประเทศ “ปิดตัว” ตลอดช่วงที่ผ่านมา โดยเฉพาะในช่วง 5 ปีหลัง นิตยสาร ที่เป็นตำนวนของผู้อ่านไทย ประกาศลาแผง เฉลี่ยปีละไม่ต่ำกว่า 4-5 ฉบับ

กว่า 3 ทศวรรษของการผลิตคอนเทนท์ “นิตยสาร” ในเครือ “จีเอ็ม กรุ๊ป” ที่มีเนื้อหาครอบคลุมทุกแง่มุมต่าง ๆ  ทั้งด้านสังคม การเมือง ธุรกิจ และไลฟ์สไตล์  นับจากปี 2528 ที่เปิดตัวนิตยสาร GM  ปัจจุบันนิตยสารในเครือและ แมกกาซีนแจกฟรี รวม 10 ฉบับ  คือ GM, GM CAR , GM WATCH,  GM 2000 ,Mother & Care , Woman Plus, GM Biz, Golf Vacation, GM Travel  และ  247 Free Magazine   ปีนี้ได้ประกาศนโยบายก้าวสู่ “ดิจิทัล แพลตฟอร์ม” เต็มรูปแบบ

จีเอ็มปรับสู่โฮลดิ้งมุ่งธุรกิจอีคอมเมิร์ซ
ปกรณ์ พงศ์วราภา

ลดต้นทุน-ไม่ทิ้งพริ้นท์

หัวเรือใหญ่ จีเอ็ม กรุ๊ป วัย 70 ปี ปกรณ์ พงศ์วราภา ประธานกรรมการ บริษัท จีเอ็ม มัลติมีเดีย กรุ๊ป จำกัด(มหาชน) ให้มุมมองสถานการณ์ภาพรวมโฆษณาและยอดขายแมกกาซีน ที่ลดลงมาอย่างต่อเนื่อง เครือจีเอ็ม ได้ปรับตัวรับมือสถานการณ์ดังกล่าว ด้วยการลดต้นทุน ทั้งจำนวนหน้านิตยสาร และบุคลากรให้มีความกระชับ จาก 2 ปีก่อนมีจำนวน 220 คน ปัจจุบันเหลืออยู่ 140  คน

แม้ยอดขายและโฆษณาจะลดลง ธุรกิจนิตยสารจะเผชิญภาวะขาดทุน แต่หากเป็นตัวเลขไม่มาก เป็นสิ่งที่เรายังทำต่อได้ วันนี้ จีเอ็ม ยังไม่มีเหตุผลต้องทิ้งพริ้นท์

เชื่อว่าแมกกาซีน จะปรับตัวและอยู่รอดได้ เพราะในต่างประเทศยังมีแมกกาซีน สำหรับกลุ่มเฉพาะ  ราคาแพง และแมกกาซีนสำหรับกลุ่มสะสม ไทยสามารถปรับตัวตามรูปแบบดังกล่าว

ขณะเดียวกันได้ปรับตัวมุ่งสู่สื่อออนไลน์เต็มรูปแบบ ด้วยการเปิดตัวดิจิทัล แพลตฟอร์ม “จีเอ็ม ไลฟ์”  นำเสนอคอนเทนท์ ครอบคลุมเนื้อหาที่เป็นจุดแข็งของกลุ่มนิตยสารจีเอ็ม

“วันนี้เรามีทั้งดาบ ที่เป็นนิตยสาร  และ ปืน ที่เป็นสื่อออนไลน์  จึงไม่คิดจะทิ้งพริ้นท์ เพราะการมีทั้งดาบ และ ปืน  ทำให้เรามีอาวุธที่เหมาะสม พร้อมต่อสู้กับทุกสถานการณ์”

นิตยสารในเครือจีเอ็มกรุ๊ป

จีเอ็มแตก 7 ธุรกิจเสริมพอร์ต

สถานการณ์สื่อนิตยสาร ที่มีแนวโน้มลดลงจากการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี ทำให้ช่วงที่ผ่านมา จีเอ็ม ได้ปรับตัวแตกธุรกิจใหม่  โดยใช้ประโยชน์และจุดแข็งธุรกิจเดิม ด้านการผลิตคอนเทนท์  ปัจจุบันมี 7 ธุรกิจ คือ นิตยสาร,สื่อออนไลน์,รายการทีวี,อีเวนท์,เอ็กซิบิชัน  ปีนี้จะขยายเพิ่ม 2 ธุรกิจ คือ ภาพยนตร์ และอีคอมเมิร์ซ

สำหรับธุรกิจภาพยนตร์ จะตั้งบริษัทใหม่ จีเอ็มจี พิคเจอร์ส ขึ้นมาดูแล วางเป้าหมายสร้างภาพยนตร์ปีละ 1 เรื่อง  เล็งตลาดไทยและขายลิขสิทธิ์ต่างประเทศ

ในกลุ่มอีคอมเมิร์ซ จะพัฒนา “มาร์เก็ตเพลส” จำหน่ายสินค้าทั่วไป และพัฒนาโปรดักท์ อาหารเพื่อสุขภาพสำหรับคุณแม่ ภายใต้บริษัทใหม่ จีเอ็มจี เฮลท์ และ บริษัทจีเอ็มจี อินเตอร์ฟู้ด ผลิตภัณฑ์อาหารบรรจุถุง รูปแบบพรีเมียม  สำหรับผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อสุขภาพ วางเป้าหมายเจาะตลาดอาเซียน

การขยายธุรกิจอีคอมเมิร์ซและผลิตภัณฑ์อาหารสุขภาพ  เพื่อโอกาสสร้างรายได้จากธุรกิจที่มีแนวโน้มเติบโต และกระจายความเสี่ยงจากธุรกิจสื่อ

‘จีเอ็ม’ปรับสู่‘โฮลดิ้ง’มุ่งธุรกิจอีคอมเมิร์ซ

ทิศทางการปรับตัวของ จีเอ็ม กรุ๊ป ในปีนี้หลังจากเปิดตัวธุรกิจใหม่ในกลุ่มพาณิชย์ทั้ง อีคอมเมิร์ซ และธุรกิจผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ  คาดว่าใน 2-3 ปี จะเปลี่ยนโครงสร้างองค์กรใหม่ จากเดิมใช้ชื่อบริษัท จีเอ็ม มัลติมีเดีย กรุ๊ป  จะเปลี่ยนเป็น “จีเอ็ม โฮลดิ้ง” ที่มีการลงทุนในกลุ่มพาณิชย์  โดยวางเป้าหมายรายได้ 3 ปีข้างหน้า 500  ล้านบาท จากปีก่อนอยู่ที่ 220 ล้านบาท

ช่วง 10 ปีก่อนรายได้ จีเอ็ม  70%  มาจากกลุ่มนิตยสาร  ปัจจุบันลดลงเหลือ 40-50% คาดว่าภายใน 3 ปีจากนี้จะเหลือ 10-15%  ขณะที่ธุรกิจอีคอมเมิร์ซและผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ จะขยับสัดส่วนขึ้นมาอยู่ที่ 50%  ที่เหลือมาจากธุรกิจอื่น ๆ ในเครือ

ที่ผ่านมา จีเอ็ม จดทะเบียนเป็นบริษัทมหาชน  แต่ไม่ได้กระจายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์  หลังจากขยายธุรกิจใหม่ในปีนี้ วางเป้าหมายอีก 3 ปี  ให้จีเอ็ม โฮลดิ้ง  กระจายหุ้นในตลาดฯ  ในช่วงดังกล่าวอาจจะพิจารณาเปลี่ยนหมวดจากกลุ่มสื่อ เป็นหมวดคอมเมอร์เชียล  จากรายได้หลักมาจากกลุ่มธุรกิจดังกล่าว

“ในยุคที่เทคโนโลยีและพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว มองว่าธุรกิจที่ปรับตัว จะอยู่รอดได้”  

Avatar photo