Wellness

เตือน ! กินอาหารสุกๆดิบๆ พยาธิตัวตืดถามหา เสี่ยงอุจจาระร่วง-อาหารเป็นพิษ

เตือนประชาชน ! อย่ารับประทานอาหาร “สุกๆดิบ”  ป้องกันความเสี่ยง โรคจากพยาธิตัวตืด-อุจจาระร่วง-อาหารเป็นพิษ มีปัญหาระบบขับถ่าย น้ำหนักลดผิดปกติ พบแพทย์ด่วน 

เทศกาลปีใหม่กำลังมาถึงแล้ว การเฉลิมฉลองตามมา หลายบ้านเลือกปรุงประกอบอาหารกันเอง กินเลี้ยงในช่วงปีใหม่ บางเมนูปรุงแบบสุก ๆ ดิบ ๆ

S 26902545
พญ.พรรณพิมล วิปุลากร

พญ.พรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า อาหารกินเลื้ยงในช่วงเทศกาลปีใหม่ ที่มีเนื้อสัตว์เป็นส่วนประกอบหลักนั้น ผู้ประกอบอาหาร ต้องเลือกซื้อ และปรุงด้วยความร้อนให้สุกทั่วถึง หรือปรุงด้วยความร้อน 70 องศาเซลเซียส ในเวลา 5 -10 นาที ซึ่งความร้อนระดับนี้ ทำให้พยาธิ และเชื้อโรคตายได้ เพื่อสุขอนามัยที่ดี

เนื่องจากอาหารสุก ๆ ดิบ ๆ หรือที่ไม่ผ่านความร้อนเลย รวมถึงใช้ความร้อนในระยะเวลาสั้น ๆ เช่น ลาบหมู ก้อยเนื้อ ที่มักจะรวนเนื้อสัตว์พอสุกเท่านั้น แล้วใส่เครื่องปรุง และเน้นรสชาติ ที่เผ็ดจัดหรือเปรี้ยวจัด อาจทำให้เพิ่มโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดโรคพยาธิตัวตืด รวมทั้งการปนเปื้อนเชื้อโรคที่เป็นอันตราย และสารพิษตกค้าง ที่อาจก่อให้เกิด เช่น โรคอุจจาระร่วงและอาหารเป็นพิษ

สำหรับหลักการ ปรุงประกอบให้ถูกต้องตามหลักปฏิบัติที่ดี ต้องใช้ภาชนะบรรจุอาหารที่สะอาด มีการปกปิด ผู้ปรุงไม่ใช้มือหยิบจับอาหารปรุงสำเร็จโดยตรง สวมผ้ากันเปื้อน หมวกคลุมผม ส่วนวัตถุดิบควรเลือกซื้อจากแหล่งที่เชื่อถือได้ เช่น ตลาดที่ได้มาตรฐาน ตลาดสดน่าซื้อของกรมอนามัย

สำหรับผักสดก่อนกิน หรือนำผักมาปรุงอาหารต้องล้างให้สะอาดทุกครั้ง เพื่อป้องกันการปนเปื้อนของเชื้อจุลินทรีย์ และพยาธิ ด้วย 3 วิธี ได้แก่

1) ล้างด้วยน้ำไหลโดยแช่น้ำนาน 15 นาที จากนั้นเปิดน้ำไหลแรงพอประมาณ คลี่ใบผักถูไปมาประมาณ 2 นาที

2) ใช้น้ำส้มสายชู 1 ช้อนโต๊ะผสมน้ำ 4 ลิตร แช่ทิ้งไว้ 15 นาที จากนั้นล้างด้วยน้ำสะอาด

3) ผงฟูหรือเบกกิ้งโซดา โดยใช้ครึ่งช้อนโต๊ะผสมน้ำอุ่นหรือน้ำธรรมดา 10 ลิตร แช่นาน 15 นาที แล้วล้างออกด้วยน้ำสะอาด

สำหรับผักบางชนิด เช่น คะน้า กะหล่ำ ถั่วฝักยาว หากมีคราบขาวจับที่กาบใบหรือฝักมากเกินไปรวมถึงผักที่มีปล้อง เช่น ผักกะเฉด ผักบุ้ง ควรล้างน้ำหลายๆ ครั้ง และคลี่ใบถูหรือล้างด้วยการเปิดน้ำไหลผ่านอย่างน้อย 2 นาที เพื่อความปลอดภัยและลดการปนเปื้อนของสารเคมีและยาฆ่าแมลง” อธิบดีกรมอนามัย กล่าวในที่สุด

DSC 0508 ตัด
นพ.อัษฎางค์ รวยอาจิณ

ทางด้าน นพ.อัษฎางค์ รวยอาจิณ รองอธิบดีและโฆษกกรมควบคุมโรค อธิบายถึงโรคพยาธิตัวตืด ว่า พบได้ทั่วโลก คนติดพยาธินี้จากการรับประทานเนื้อหมูที่ปรุงไม่สุกหรือสุกๆดิบๆ ที่มีถุงซีสต์ ซึ่งมีตัวอ่อนพยาธิอยู่ข้างใน คนทั่วไปเรียก “เม็ดสาคู” เมื่อเข้าสู่ร่างกายซีสต์จะเจริญเติบโต เป็นตัวเต็มวัยเกาะอยู่ที่ผนังลำไส้เล็กของคนสามารถอยู่ได้นานหลายปี

โดยตัวเต็มวัยมีลำตัวแบนคล้ายริบบิ้น มีสีขาว ยาว 2 ถึง 3 เมตร หรือมากกว่า พยาธิดำเนินชีวิตครบวงจรในคน สามารถโตเต็มวัย จนสืบพันธุ์ และไข่ปนออกมาทางอุจจาระ บางครั้งอาจมีปล้องพยาธิ หลุดปนออกมากับอุจจาระได้ หากไม่ถ่ายอุจจาระลงส้วม จะทำให้ ไข่พยาธิออกมาปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อม กลายเป็นวงจรแพร่กระจายพยาธิต่อไปอีก

สำหรับอาการ ผู้ที่มีพยาธิตืดหมูในลำไส้ จะหิวบ่อยแต่ผอมลง น้ำหนักลด นอกจากนั้นอาจจะมีอาการปวดท้อง ท้องอืด คลื่นไส้ อาเจียน หรืออุจจาระบ่อย เนื่องจากเกิดจากการระคายเคืองต่อลำไส้

แต่ถ้าหากคนนั้นอาเจียนขย้อนปล้องแก่ของพยาธินี้ จากลำไส้ขึ้นไปที่กระเพาะ พยาธิตัวอ่อนจะฟักจากไข่แล้ว ไชทะลุกระเพาะหรือลำไส้เข้าสู่กระแสเลือด หรือน้ำเหลืองไปยังกล้ามเนื้อ หรืออวัยวะต่างๆ เช่นเนื้อเยื่อใต้ผิวหนัง กล้ามเนื้อ สมอง ไขสันหลัง ตา หัวใจ ตับ ปอด และในช่องท้องแล้วฝังตัวและมีถุงน้ำหุ้ม จะมีอาการและอาการแสดงต่างๆขึ้นกับตำแหน่งถุงซีสต์

ถ้าอยู่ใต้ผิวหนังก็จะมีก้อนใต้ผิวหนัง ถ้าอยู่ที่ตาก็จะปวดตา ตาพร่ามัว สายตาผิดปกติหรือตาบอด ถ้าถุงซีสต์อยู่ในสมองผู้ป่วยอาจจะมีอาการปวดศีรษะเนื่องจาก ถุงซีสต์ไปอุดทางเดินน้ำไขสันหลัง ทำให้ความดันในสมองสูง อาจจะทำให้เกิดอาการชักได้

ส่วน “หมู หรือวัว”  ติดเชื้อ โดยกินอาหารที่ปนเปื้อนอุจจาระมนุษย์ ซึ่งได้รับไข่พยาธิ และไข่โตเป็นซีสต์ในกล้ามเนื้อหมู บางคนเรียกเม็ดสาคู หรือวัว มักเกิดขึ้นในกรณี ที่เลี้ยงระบบเปิดปล่อยให้หมู หรือวัวเดินไปมาบริเวณสุขาภิบาลสิ่งแวดล้อมไม่ดี ไข่พยาธิตืดหมูและตืดวัวสามารถแพร่กระจายอยู่ในสิ่งแวดล้อมได้ ตราบใดที่คนยังมีพยาธิตัวเต็มวัยอยู่ในลำไส้ ยังไม่ถ่ายอุจจาระลงส้วม และไข่พยาธิตัวตืดยังคงมีชีวิตอยู่ในสิ่งแวดล้อมได้นานเป็นเดือน

นพ.อัษฎางค์ ย้ำว่า ขอให้ประชาชนสังเกตตัวเอง หากสงสัยว่ามีพยาธิในร่างกาย หรือมีปัญหาเรื่องระบบขับถ่าย น้ำหนักตัวลดผิดปกติ ถ้าไม่แน่ใจสามารถไปพบแพทย์ ให้ทำการตรวจวินิจฉัยและให้การรักษา

โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคพยาธิตืดหมู ทั้งนี้เป็นการป้องกันการเกิดโรคพยาธิตัวตืด ไม่ให้แพร่ไปสู่กับบุคคลอื่น เนื่องจากไข่พยาธิตืดหมูพร้อมที่จะติดต่อแพร่โรคได้ทันที และสามารถก่อให้เกิดโรคอย่างรุนแรงในคนได้

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันระบบสุขาภิบาล และระบบสุขภาพของไทยดีขึ้นมาก การขับถ่ายในส้วมที่ถูกหลักสุขาภิบาลไม่ถ่ายนอกส้วม หรือถ่ายลงสู่สิ่งแวดล้อม จะช่วยให้ปัญหาการแพร่กระจายโรคพยาธิลดลง หากมีข้อสงสัยสามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422

Avatar photo