The Bangkok Insight

‘ยุติธรรม’ ย้ำระบบใหม่ ตรวจสอบประวัติก่อนลดโทษ พร้อมติดตามนักโทษคดีร้ายแรงพ้นคุก

“ยุติธรรม” เร่งปรับระบบลดโทษ กำชับตรวจสอบประวัติก่อนพิจารณา พร้อมเร่งออกกฎหมายติดตามนักโทษคดีร้ายแรง พ้นคุก 

จากคดี “สมคิด พุ่มพวง” นักฆ่าต่อเนื่อง ได้รับการปล่อยตัว และใช้ชีวิตตามปกติ อยู่ใกล้ๆหลายคน สุดท้ายกลับมาก่อคดีฆ่าคนตายซ้ำเป็นรายที่ 6 ทำให้สังคมเกิดคำถามกับระบบการลงโทษจองจำ ว่าเหมาะสมแล้วหรือยัง? ขณะเดียวกันสถานการณ์ใน “เรือนจำ” ของไทยที่ “นักโทษล้นคุก” ก็มาตีคู่กัน

โดยปัจจุบันไทยมีนักโทษในเรือนจำมากที่สุดเป็นอันดับ 6 ของโลก สถิติผู้ต้องขัง ณ วันที่ 18 ธันวาคม 2562 ทั้งหมด รวม 368,444 คน เป็น ชาย 321,221 คน หญิง 47,223 คน นักโทษเด็ดขาด 308,526 คน เป็นชาย 268,526 หญิง 40,000 คน อยู่ระหว่างอุทธณ์ และฎีกา 28,268  คน อื่นๆอีก 31,655  คน มีนักโทษจำคุกตลอดชีวิต 2,942 คน โดยอันดับคดีที่ทำให้มีผู้ต้องขังมากที่สุด 3 อันดับแรก คือ  ยาเสพติด 291,411 คน เกี่ยวกับทรัพย์ 41,311 คน และเกี่ยวกับชีวิตและร่างกาย 27,637 คน ตามลำดับ

360048

นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยฺุติธรรม กล่าวในเรื่องนี้ว่า ถ้าเป็นแบบเดิมกติกา ทุกคนจะได้รับการพิจาราลดโทษ และเพิ่มโทษตามกฎหมายที่มีอยู่เหมือนกัน แต่ตอนนี้มาคิดว่าหากไม่คัดกรองบุคคลที่มีปัญหาสังคม เช่น พฤติกรรมอย่าง”สมคิด” ฆ่าขมขื่น หรือฆ่าต่อเนื่อง การปล่อยปละละเลยเหมือนเดิม หรือใช้กติกาเดิม ปัญหาแบบ “สมคิด” จะเกิดขึ้นได้อีก

กระทรวงยุติธรรม จึงตั้งวงพูดุคย และเร่งดำเนินการ โดยหลักการจะมีการคัดกรองนักโทษใหม่ โจทย์ คือ คนที่มีปัญหามากเป็นพิเศษ การลงโทษสูงสุด จะไปสู่การประหารชีวิตได้หรือไม่ สังคมยอมรับหรือไม่ และสากลเป็นอย่างไร ทั้งนี้หลายประเทศก็ปฏิบัติไม่เหมือนกันด้วย เช่น อังกฤษ ไม่มีการประหารมา 55 ปี ขณะที่สหรัฐ ก็ไม่ได้มีการประหาร แต่ล่าสุดก็ประหารนักโทษไป 5 คน  ดังนั้น เราต้องมาดูสถานการณ์ของเราเอง

อย่างไรก็ตามสิ่งที่ต้องทำให้เกิดขึ้น คือ การจัดกลุ่มนักโทษใหม่ แยกเป็นกลุ่มที่ต้องจับตา โดยมีมาตรการเร่งด่วนมารองรับ คือ เมื่อจัดกลุ่มได้แล้ว ต้องไปดูว่า คนที่อยู่ในห้องขัง มีใครบ้าง และจำนวนเท่าไหร่ ซึ่งจากการดูคร่าวๆ นักโทษคดีร้ายแรงมีไม่ถึง 100 คน  ขณะเดียวกันก็ต้องดูกลุ่มรองๆลงมาด้วย ไม่เอาใจใส่ไม่ได้ เมื่อจัดกลุ่มได้แล้ว เมื่อเวลาพระราชทานโทษ นักโทษแต่ละกลุ่ม ก็จะได้รับการดูแลที่แตกต่างออกไป ไม่ใช่ทุกคนเหมือนกัน

“สำหรับการประหารชีวิต ก็ต้องดู บางคนไปฆ่ากันตายโดยจำเป็น บางคนฆ่าต่อเนื่อง 5-6 ศพภายใน 1-2 อาทิตย์ หรือฆ่าต่อเนื่อง บางกรณีข่มขืนเด็ก เด็กเสียชีวิต ก็ต้องมาคิดว่าประหารชีวิตได้หรือไม่อย่างไร ” 

ขณะเดียวกันนักโทษมีสิทธิ์อุทธรณ์ผ่านพัสดี ผู้คุม จากนั้นจากเรือนจำ ซึ่งจะส่งเรื่องมาที่อธิบดีกรมราชทัณฑ์  ปลัดกระทรวงยุติธรรม และมาที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เราก็ต้องดำเนินเรื่องเหล่านี้ไปตามกฎหมาย ซึ่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 248 มาตรา 249 มาตรา 260  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม มีอำนาจเสนอแนะ ว่าควรอภัยโทษ ลดโทษ หรือลงโทษตลอดชีวิตได้หรือไม่

นายสมศักดิ์ กล่าวต่อว่า เราดูแล้วมีประมาณ 6 กรณีที่ไม่น้อยกว่าสมคิดเลย ขณะนี้กำลังคัดกรองข้อมูล ซึ่งเดิมไม่ได้ทำ ไม่ใช่วัวหายล้อมคอก แต่เราต้องทำแล้ว 

เขา ยกกรณีของสหรัฐ ในสมัยประธานาธิบดีคลินตัน มีเด็กหญิงอายุ 7 ขวบ ชื่อ เมแกน ถูกฆาตกรข่มขื่นเสียชีวิต ซึ่งสหรัฐก็ไม่ได้มีการลงโทษประหาร แต่รัฐบาลก็สั่งประหารนักโทษคนนั้น และสร้างกฎหมาย Megan ‘s Law ขึ้น

สาระสำคัญ คือ มีทั้งประหารชีวิต จำคุกตลอดชีวิต  หากจำเป็นต้องปล่อยกลุ่มโรคจิตออกไป คนนั้นไปไหนต้องบอกกล่าวคนพื้นที่ ให้รู้ว่าไปอยู่ใกล้โรงเรียน สถานศึกษาหรือไม่ ถ้าคนรู้ว่านักโทษคนนั้นไปตรงไหน เมแกนก็ไม่ต้องเสียชีวิต กลับมาดูกรณีสมคิด หาก “รัศมี” ผู้เสียชีวิตล่าสุดที่ถูกนายสมคิดฆ่า หากรู้  ก็ไม่เสียชีวต เขาเสียชีวิต เพราะไม่มีใครรู้

หลักการของเรา จึงต้องให้สังคมรู้ว่าออกมาแล้ว อยู่บริเวณนี้ ก็ถือว่ากฎหมายที่เรากำลังเตรียมการออกใหม่นั้น สอดคล้องกับ  Megan ‘s Law  ขณะเดียวกันก็กำลังคิดว่า ต้องมีอุปกรณ์ติดตามตัวด้วย เป็นเครื่องพันธนาการ แม้อยู่นอกห้องขัง

อย่างไรก็๋ตามก่อนสร้างกฎหมายใหม่ที่ต้องใช้เวลา รอยต่อนี้จะทำอย่างไร จึงมีมาตรการระยะเร่งด่วน โดยตั้งทีมงานมาประมวลกฎหมายอาญามาตรา 39 เรื่องความปลอดภัยของผู้คน หลักการ คือ ให้กรมราชทัณฑ์คัดกรองโดยทีมแพทย์เพื่อให้รู้ว่าต้องเฝ้าระวังหรือไม่  และทำเรื่องไปสู่อัยการ ศาล ให้กักกันพิเศษ 

สำหรับการแก้ปัญหาสถานการณ์ “นักโทษล้นคุก” นายสมศักดิ์ ระบุว่า เราศึกษาไว้ทั้งหมด ตัวเลขของนักโทษในเรือนจำตอนนี้มี  367,000 คน ขณะที่พื้นที่เรือนจำรับได้ 200,000 คน เกินไป 170,000 คน แต่ปล่อยออกมาก็ไม่ได้ อย่างไรก็ตามต้องย้ำว่าคนที่อยู่ในเรือนจำ ก็ไม่ได้แย่ไปทั้งหมด บางคนพร้อมปรับตัว

หน่วยงานราชการ ก็พยายามทำให้เขาปรับปรุงตัว ด้วยการฝึกอาชีพเกษตร อุตสาหกรรม ปศุสัตว์ หรือโรงงานต่างๆ และขอให้นักโทษได้รับการช่วยเหลือ จากบริษัทห้างร้านรับทำงานด้วย พร้อมกับให้แรงจูงใจด้วยมาตรการลดหย่อนภาษี คู่ขนานกับการทำให้สังคมยอมรับ ให้เขากลับเข้าสู่สังคมได้  ทั้งนี้แนวทางดังกล่าว เราพยายามทำมาตลอดหลายปี แต่เมื่อมาเจอกรณี “สมคิด” ก็ต้องมาปรับใหม่

ในกรณียาเสพติด ก็เป็นอีกกลุ่มที่ต้องหามาตรการ เพราะนักโทษยาเสพติด พ้นโทษไปแล้ว 100 คน มักจะวนเวียนอยู่ในวงจรเดิม และกลับมารับโทษในเรือนจำอีกราว 15 คน ปีต่อไปก็ทยอยกลับมาอีก ไปตลอดรอดฝั่ง 50-60 คนเท่านั้น

แต่มาดูเรือนนอนตอนนี้  0.7 ตรม.ต่อคน ทั่วไป 1.2 ตรม.ต่อคน เล็กกว่ามาตรฐานสากล ที่กำหนด 2.25 ตรม.ต่อคน เทียบโรงศพ 1 ตรม. ดังนั้นนักโทษในเรือนนอน ก็เลยต้องนอนทับกัน ขยับไม่ได้  ย้ำว่าผู้ต้องขัง ก็ไม่ใช้เกเรเลวทรามไปทั้งหมด  กลุ่มแรงๆไม่ถึง 100 คน

นายสมศักดิ์ ทิ้งท้ายเรื่อง การลดโทษ ว่าปัจจุบันจะมีกระบวนการ ปรับชั้นนักโทษ ที่จำคุกมาแล้วตั้งแต่ 6 เดือนขึ้นไป โดยนักโทษจำคุกตลอดชีวิต จำคุกมาแล้วไม่น้อยกว่า 10 ปี จะลดโทษตามชั้นของนักโทษ 6 เดือน ปรับเป็นนักโทษชั้นดี  ได้ลดโทษ 1 เดือนได้ 3 วัน  ,จำคุกต่ออีก 6 เดือนปรับเป็นนักโทษดีมาก ได้ลดโทษ 4 วัน  ,จำคุกอีก 6 เดือนเป็นนักโทษชั้นเยี่ยม ลดโทษ 5 วัน โดยไม่ได้ดูประวัติใครเป็นอย่างไร เช่นเดียวกับไม่ได้ดูว่าสมคิดเป็นอย่างไร ข้อผิดพลาด คือ ไม่ได้คิดอะไรใหม่ ปล่อยให้นักโทษ ที่น่าสะพรึงกลัว โหดเหี้ยม ใช้มาตรฐานเดียวกัน กับนักโทษทั่วไป นี่คือสิ่งที่เราต้องปรับมาตรการและกฎหมาย

Avatar photo