Waste Management

ปฏิวัติงานฟุตบอลจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์ ชู ‘Waste This Way’ จัดการขยะเหลือศูนย์

GC จับมือจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์ ปฏิวัติงานบอลประเพณี 8 ก.พ.63 ชูแคมเปญ “Waste This Way” จุดกระแสนิสิตนักศึกษา ลงมือช่วยลดปัญหาขยะ หวังผลขยายสู่สังคมวงกว้าง พร้อมเป็นต้นแบบทุกกิจกรรมจัดการขยะเหลือ “ศูนย์” 

S 14147678“Waste This Way #รักษ์โลกให้ถูกทาง”  เป็นแคมเปญผลักดัน การจัดการขยะในงานฟุตบอลประเพณี จุฬาฯ – ธรรมศาสตร์ ครั้งที่ 74 ในวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2563 ซึ่ง บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC ร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ส่งเสริมการใช้ทรัพยากรแบบหมุนเวียนในชีวิตประจำวัน ตามแนวคิด GC Circular Living และมุ่งดำเนินแนวทาง “Solution for Everyone” หรือสร้างโซลูชั่นรองรับความต้องการของทุกคน สนับสนุนให้ผู้คน มีส่วนร่วมในการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมของโลกใบนี้

โดยคาดหมายว่า การสื่อสารผ่านนิสิตนักศึกษาของทั้งสองมหาวิทยาลัย ที่จะเข้ามารับชมการแข่งขันฟุตบอลกว่า 40,000 คน รวมถึงผู้เข้าร่วมงาน กองเชียร์ และสต๊าฟ ที่คาดว่าจะมีไม่ต่ำกว่า 20,000 คน ตระหนักถึงการมีส่วนร่วมลดปัญหาขยะ

S 14147680

ดร.คงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร GC กล่าวในงานเปิดโครงการ “Waste This Way” เมื่อวันที่ 19 ธันวาคมที่ผ่านมา ว่า บริษัทมุ่งเน้นการเติบโตอย่างยั่งยืน โดยนำแนวคิด Circular Living หรือเศรษฐกิจหมุนเวียน มาประยุกต์ใช้ในการดำเนินงาน ทั้งภายใน และภายนอกองค์กรอย่างต่อเนื่อง ผลักดันให้เกิดการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งความพยายามนี้ ไม่สามารถสำเร็จได้ด้วยการกระทำขององค์กรใดองค์กรหนึ่ง

ครั้งนี้ GC ได้ร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพราะท้้งสองสถาบันต่างต้องการร่วมแก้ปัญหาขยะของประเทศอย่างจริงจัง จึงเกิดเป็นความร่วมมือในการดำเนินโครงการ “Waste This Way” ขึ้น เพื่อสร้างการตระหนักรู้ให้กับนิสิตนักศึกษา และสังคม ทั้งจุฬาฯ และธรรมศาสตร์ต่างเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำนิสิตนักศึกษาจะเป็นผู้นำทางความคิดในอนาคต ช่วยนำไปขยายผลต่อได้อย่างดี

IMG 20191219 151209

สำหรับการจัดการขยะในงานฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ – ธรรมศาสตร์ ครั้งที่ 74 จะมีการดำเนินงานใน 2 เรื่อง ประกอบด้วย การสร้างระบบ Eco System และผลิตภัณฑ์ เช่น อาหารกลางวัน และของว่าง ของกองเชียร์ที่มาร่วมขึ้นสแตนด์แปรอักษร จะบรรจุในกล่องเคลือบพลาสติกชีวภาพ ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สามารถสลายตัวได้ทางชีวภาพ และได้รับถุงผ้า Upcycling ที่ทำจากพลาสติกใช้แล้ว

IMG 20191219 151201

รวมไปถึงการสนับสนุนวัสดุทดแทน เช่น กระดาษ และผ้า ที่ผ่านกระบวนการรีไซเคิล และแปรรูปใช้สำหรับขบวนพาเหรด และจัดถังแยกขยะพลาสติก ที่เข้าใจง่าย และมองเห็นได้ชัดเจนในงาน เพื่อให้ผู้ชมบนแสตนด์ ได้มีส่วนร่วมในการแยกขยะพลาสติก ทั้งนี้ GC จะรวบรวมขยะพลาสติก เพื่อนำไปผลิตสินค้า Upcycling เช่น รองเท้ากีฬา นำไปบริจาคให้กับสถานศึกษาใกล้เคียงของทั้งสองมหาวิทยาลัยด้วย

” GC ในฐานะผู้นำนวัตกรรมเคมีภัณฑ์ ได้สร้างโซลูชั่น เพื่อรองรับความต้องการของทุกคน พร้อมกับสนับสนุนให้ทุกคนสามารถมีส่วนร่วมในการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมของโลกใบนี้ ทั้งการลดการสร้างขยะ บริหารจัดการขยะอย่างเป็นระบบ และพัฒนาเม็ดพลาสติกชีวภาพ GC Compostable ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สามารถสลายตัวได้ทางชีวภาพ การแปรรูปอัพไซคลิงพลาสติกใช้แล้วเป็นสินค้าแฟชั่น เช่น เสื้อผ้าและกระเป๋า รวมถึงเตรียมการก่อสร้างโรงงานรีไซเคิล เพื่อรีไซเคิลพลาสติกใช้แล้วให้เป็นเม็ดพลาสติกรีไซเคิลคุณภาพสูงระดับ Food-grade และ Packaging-grade ที่ใช้ในกลุ่มอุตสาหกรรมปลายน้ำ ได้แก่ อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์บรรจุภัณฑ์สำหรับเครื่องดื่ม อาหาร เครื่องสำอาง น้ำยา และเคมีภัณฑ์ทำความสะอาด “

ดร.คงกระพัน ย้ำว่า ทุกกิจกรรมที่ทำในงานฟุตบอลประเพณี ต้องวัดผลได้ โดยหลังจบงาน จะมีการคำนวณ CO2 เทียบเท่า ที่สามารถลดได้จากงานอย่างชัดเจนอีกครั้ง เพื่อนำไปสื่อสารต่อไป

อย่างไรก็ตาม เชื่อมั่นว่า ด้วยความมุ่งมั่นในการดำเนินแคมเปญ “Waste This Way” และความร่วมมือร่วมใจของนิสิตนักศึกษาจากทั้งสองมหาวิทยาลัย จะเป็นจุดเริ่มต้นในการขยายผลไปยังสังคมในวงกว้าง ยกระดับความรู้ไปสู่การปฏิบัติจริง ทำให้ทุกคนเข้ามาช่วยกันดูแลทรัพยากรอย่างยั่งยืน และพัฒนาสิ่งแวดล้อมให้ดียิ่งขึ้น

IMG 20191219 164413 ตัด

ผศ.ดร.ชัยพร ภู่ประเสริฐ รองอธิการบดี กำกับดูแลด้านพัฒนานิสิต และนิสิตเก่าสัมพันธ์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า จุฬาฯ มีเป้าหมายที่จะเป็นมหาวิทยาลัยสีเขียวระดับโลก เพื่อการรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน โดยหลายปีที่ผ่านมาได้จัดทำโครงการ Zero Waste อย่างต่อเนื่อง

และในโอกาสที่จุฬาฯ จะเป็นเจ้าภาพจัดงาน แข่งขันฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์ ครั้งที่ 74 จึงตั้งใจ ที่จะใช้งานฟุตบอลประเพณี เป็นพื้นที่ให้นิสิตนักศึกษาได้เข้ามามีส่วนร่วมในการออกแบบกิจกรรม ที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม และได้ลองดำเนินการจัดการขยะด้วยตนเอง โดยเชื่อมั่นในศักยภาพของนิสิตนักศึกษา จากทั้งสองสถาบัน ในการสร้างสรรค์แนวทางใหม่ๆ เพื่อแก้ปัญหาขยะ  เมื่อผสานกับความรู้ และประสบการณ์ของ GC จะสามารถต่อยอดขยายผลออกไปในวงกว้าง

ทางด้านมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดีฝ่ายความยั่งยืนและบริหาร ศูนย์รังสิต ได้กล่าวว่า เราทราบกันดีว่างานฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์ เป็นอีกงานที่ก่อให้เกิดขยะจำนวนมาก ขณะเดียวกันก็เป็นงานที่คนจำนวนมากเฝ้าดูเช่นเดียวกัน

ดังนั้นโครงการ Waste This Way จะช่วยกระตุ้นให้ประชาชน โดยเฉพาะนิสิตนักศึกษา เห็นถึงความสำคัญของปัญหานี้ และขยายผลสู่การลงมือปฏิบัติ โดยขอเชิญชวนให้ผู้มาร่วมงานพกแก้วมาเองด้วย  เพื่อมีส่วนร่วมในการลดการใช้ทรัพยากร จากความพยายามของหลายภาคส่วน คาดหมายว่า หลังการจัดงานจะไม่มีขยะเหลือทิ้งในพื้นที่ และภาพที่สนามบอลสะอาด เมื่อปรากฎออกไป จะช่วยกระตุ้นให้คนในสังคม หันมาช่วยแก้ปัญหาขยะ ลดโลกร้อนอย่างจริงจัง  และลดใช้พลาสติกครั้งเดียวทิ้ง   ทำให้มาตรการลดให้ถุงพลาสติกในวันที่ 1 มกราคม 2563 เกิดผลสำเร็จ

“จากการดำเนินงานที่ผ่านมาของธรรมศาสตร์ในการลดขยะ  ปรากฎว่านักศึกษาให้ความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเป็นอย่างดี ในงานฟุตบอลประเพณีครั้งนี้ ธรรมศาสตร์ ก็มุ่งจะเผยแพร่แนวทางนี้ออกไปสู่สังคม โดยต้องการแสดงให้ทุกคนเห็นว่าการรักษ์โลกนั้นไม่ใช่เรื่องยาก หากในปีนี้ ทั้งสองมหาวิทยาลัย สามารถเริ่มลงมือ และเห็นผล จะมีการทำต่อเนื่องในงานฟุตบอลประเพณีของ 2 สถาบันในทุกๆปี และเป็นต้นแบบให้การจัดงานทุกกิจกรรมทำแบบเดียวกัน”

S 68223056 ตัด

ส่วนนิสิตนักศึกษาของสองสถาบัน ต่างประกาศความตั้งใจ ที่จะทำให้งานนี้ สร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นในสังคม

นายศิลา รัตนวลีวงศ์ ประธานคณะกรรมการดำเนินงานระดับนิสิต ฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ – ธรรมศาสตร์ ครั้งที่ 74 จุฬาฯ กล่าวว่า นิสิตจุฬาฯ หลายคน เคยมีส่วนร่วมในการจัดการขยะภายในมหาวิทยาลัยอยู่บ้างผ่านโครงการ Chula Zero Waste

อย่างไรก็ตาม การจัดงานฟุตบอลประเพณีในครั้งนี้ ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะการสอดแทรกแนวคิดเรื่องสิ่งแวดล้อม เข้าไปต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายภาคส่วน เพื่อปรับเปลี่ยนการดำเนินงานทั้งหมด ให้มีทิศทางตรงกัน แต่คณะผู้จัดงานจากทั้งสองมหาวิทยาลัย ต่างก็ตระหนักถึงความรุนแรงของปัญหาขยะ และรู้ว่าทุกคนต้องช่วยกันแก้ไขก่อนที่จะสายเกินไป เราซึ่งเป็นผู้จัดงานในปีนี้ จึงตั้งใจที่จะร่วมกันแสดงการเปลี่ยนแปลง ให้สังคมได้เห็นผ่านงานฟุตบอลประเพณีในครั้งนี้ ถึงการจัดการขยะอย่างมีประสิทธิภาพ

ด้านนางสาวประภาพร สมวงษ์ รองประธานคณะกรรมการดำเนินงานระดับนิสิต ฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ – ธรรมศาสตร์ ครั้งที่ 74 จุฬาฯ เสริมว่า ในปีนี้ คณะผู้จัดงานใช้คอนเซ็ปต์ “Make a CHANGE เปลี่ยน ปรับ ขยับสังคม” หรือ การทำให้คนในสังคมตระหนัก ถึงปัญหาที่เกิดขึ้น และเริ่มลงมือแก้ไข ในด้านปัญหาสิ่งแวดล้อม โดยได้นำแนวคิด “ลด เปลี่ยน แยก” มาใช้ตั้งแต่การออกแบบกิจกรรม

  • ลดขยะ Single-use ที่ไม่จำเป็นในการทำกิจกรรม ผ่านการลดใช้ หรือใช้ซ้ำ
  • เปลี่ยน วัสดุมาเลือกใช้วัสดุทางเลือก เช่น ใช้วัสดุที่สามารถย่อยสลายได้ง่าย วัสดุจากธรรมชาติ หรือวัสดุที่นำกลับมาใช้ซ้ำได้
  • แยกขยะ หมายถึง การแยกขยะอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อนำไปจัดการต่ออย่างเหมาะสม

S 68223083

ขณะที่นางสาวเพ็ญพิชชา สถิรปัญญา ประธานชุมนุมเชียร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ บอกว่า นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ให้ความสำคัญในด้านสิ่งแวดล้อม และร่วมมือกับมหาวิทยาลัยดำเนินการจัดการขยะอย่างต่อเนื่อง จึงยินดีที่สองมหาวิทยาลัยจะร่วมมือกันผลักดันให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในการจัดการขยะ โดยทางผู้จัดงาน เห็นว่างานฟุตบอลประเพณีในครั้งนี้ จะเป็นโอกาสดีที่สองมหาวิทยาลัย จะพร้อมใจกันแสดงพลังให้สังคมได้เห็นว่า ทุกคนสามารถเริ่มต้น ใส่ใจสิ่งแวดล้อม และสร้างการเปลี่ยนแปลงไปพร้อม ๆ กันได้

นางสาวนิษฐิดา โพธิ์ทอง ประธานคณะกรรมการจัดงานฟุตบอลประเพณี ส่วนองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เสริมว่า ที่ผ่านมา หลายคนอาจยังไม่แน่ใจว่า การใส่ใจสิ่งแวดล้อมในชีวิตประจำวัน หรือในการจัดกิจกรรมจริงๆนั้นเป็นอย่างไร ในปีนี้ คณะผู้จัดงานจากทั้งสองมหาวิทยาลัย จึงได้บูรณาการเรื่องที่ทุกคนคุ้นเคยอย่างการแยกขยะเข้ากับวิธีต่างๆ เพื่อนำทรัพยากรกลับมาใช้ประโยชน์ เช่น การ Upcycle ขวดพลาสติกประเภท PET ให้กลายเป็นรองเท้ากีฬาสำหรับน้อง ๆ นักเรียนที่ขาดแคลน หรือการส่งกระบองลมไปรีไซเคิลเป็นพลาสติกใหม่

“เราหวังว่าการได้เรียนรู้จากงานฟุตบอลประเพณีในครั้งนี้ สังคมจะตระหนักถึงความสำคัญ ของการจัดการขยะให้เหมาะสม และนำมาปรับใช้ในชีวิตประจำวันมากขึ้น “

เพื่อให้เกิดมาตรฐานเป็นต้นแบบให้กับกิจกรรมขนาดใหญ่อื่นๆ การดำเนินการในงานฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ – ธรรมศาสตร์ ครั้งที่ 74 นี้ จะมีการเก็บข้อมูลขยะอย่างจริงจัง โดยเฉพาะขยะที่จัดการได้ เพื่อแปลงสู่ข้อมูลการลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าการปลูกต้นไม้ และประกาศผลให้สาธารณะรับทราบต่อไป

Avatar photo