COLUMNISTS

นำเข้า ‘มะพร้าวกรอบ AFTA’ ไร้ผลกระทบราคาในประเทศ เรื่องที่พาณิชย์ต้องเร่งชี้แจง

Avatar photo
1522

เฟซบุ๊กเพจ “ดร. พิมพ์รพี พันธ์ุวิชาติกุล – Pimrapee Phanwichatikul, Ph.D” โพสต์ข้อความแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องที่กระทรวงพาณิชย์ เห็นชอบให้นำเข้ามพะพร้าวลูกได้ โดยระบุว่า

เกษตรกรสอบถามเข้ามามาก แสดงความเป็นห่วง กรณี คณะกรรมการพืชน้ำมันและน้ำมันพืช ที่มี นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธาน มีมติเมื่อวันที่ 11 ธันวาคมที่ผ่านมา เห็นชอบให้ผู้ประกอบการโรงงานแปรรูปมะพร้าวจำนวน 15 ราย นำเข้ามะพร้าวผลภายใต้กรอบความตกลง AFTA ปี 2562 สำหรับเดือน พฤศิจกายน – ธันวาคม 2562 ในปริมาณไม่เกิน 32,543 ตัน

โดยเกษตรกรมีความเป็นห่วงว่า การอนุญาตให้นำเข้าดังกล่าวจะกระทบกับราคามะพร้าวภายในประเทศ ที่ปรับตัวสูงขึ้นที่ผลใหญ่ 22-23 บาท ผลกลางอยู่ที่ 11-14 บาท จะกลับไปตกต่ำอยู่ที่ผลละ 4-5 บาท เหมือนช่วงที่ผ่านมา

ขอนำข้อมูลจริงมากางจะได้เห็นภาพชัดเจน ถึงเหตุผลที่มีการอนุมัติให้นำเข้ามะพร้าวในจำนวนดังกล่าว เนื่องจากผลผลิตภายในประเทศขาดแคลน

ก่อนหน้านี้มีการขอนำเข้าสูงถึง 1.3 แสนตัน แต่อนุมัติให้แค่ 3.2 หมื่นตันตามความจำเป็น โดยสิ่งที่กระทรวงพาณิชย์คำนึงถึงเป็นอันดับแรกคือ การนำเข้าต้องไม่กระทบกับราคาในประเทศ มีมาตรการที่เข้มงวดในการนำเข้า ห้ามมั่วนิ่มเอามะพร้าวนำเข้าเข้าสู่ระบบโดยเด็ดขาด อาทิ ห้ามนำมะพร้าวนำเข้าไปจ้างกะเทาะนอกโรงงาน ห้ามนำไปจำหน่าย จ่าย โอนภายในประเทศ ต้องรายงานบัญชีสมดุลแปรสภาพมะพร้าวผลเป็นเนื้อมะพร้าวขาว และนำเข้าได้เพียงสองด่านเท่านั้น คือ ด่านศุลกากรท่าเรือกรุงเทพฯ และด่านศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง

มาดูรายละเอียดที่ นายกีรติ รัชโน อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ ชี้แจงเพิ่มเสริมความรู้กันอีกหน่อย ท่านชี้แจงไว้ 6 ข้อ ดังนี้

1.การนำเข้าเป็นภาคบังคับตามกฎ AFTA หรือข้อตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียนที่ทำมานานแล้ว แต่กระทรวงพาณิชย์และกระทรวงเกษตรในยุคปัจจุบันพยายามกำหนดเงื่อนไขการนำเข้าให้ยากขึ้น

ตามข้อผูกพัน AFTA ต้องให้นำเข้าเสรีไม่จำกัดปริมาณ แต่ตั้งแต่ปี 2562 เป็นต้นไป การนำเข้าต้องได้รับการอนุมัติปริมาณจากคณะอนุกรรมการบริหารจัดการสินค้ามะพร้าว ภายใต้คณะกรรมการพืชน้ำมันและน้ำมันพืช ซึ่งปี 2562 คณะอนุกรรมการฯ อนุมัติเพียง 32,543 ตัน และให้นำเข้าพฤศจิกายน-ธันวาคม 2562 เท่านั้น

2.เมื่อก่อนอนุญาตให้นำเข้า 2 ช่วงคือเดือนมกราคม-พฤษภาคม และ ช่วงพฤศจิกายน-ธันวาคม แต่ปี 2562 คณะอนุกรรมการฯ อนุญาตเพียงช่วงเดียว คือ พฤศจิกายน-ธันวาคม เท่านั้น

มะพร้าว11 e1576980256652

3.ในอดีตให้นำเข้าได้ทุกท่าเรือ แต่ปัจจุบัน อนุญาตให้นำเข้าแค่ท่าเรือกรุงเทพ กับแหลมฉบัง 2 ท่า เท่านั้น

4.เมื่อก่อนนำเข้าแล้วเคลื่อนย้ายได้ตามอำเภอใจ ตามสบาย แต่ปัจจุบันการเคลื่อนย้ายต้องขออนุญาตกรมการค้าภายใน

5.เมื่อก่อนอนุญาตให้นำเข้าตามแผนความต้องการนำเข้า แต่ปัจจุบัน หากนำเข้า 1 ส่วน จะขอความร่วมมือให้ซื้อมะพร้าวจากชาวสวน 3 เท่า เพราะฉะนั้นถ้าจะนำเข้า 32,000 ตัน ต้องไปซื้อมะพร้าวจากชาวสวนประมาณ 100,000 ตันเสียก่อน จึงจะนำเข้าได้

6.เมื่อก่อนมะพร้าวที่นำเข้าภายใต้กรอบ AFTA จะนำไปกะเทาะที่ไหนก็ได้ แต่ปัจจุบันจะต้องกะเทาะที่โรงงานอย่างเดียวเท่านั้น

สรฺป คือ มาตรการนำเข้ามะพร้าวภายใต้กรอบ AFTA ตั้งแต่ปี 2562 เป็นไป มีมาตรการที่เข้มงวดกว่าที่ผ่านมาจึงทำให้ ในปี 2562 ตั้งแต่เดือนมกราคมถึงพฤศจิกายน ยังไม่มีผู้ใดนำเข้ามะพร้าวภายใต้กรอบ AFTA แม้แต่ลูกเดียว เพราะการกำหนดเงื่อนไขที่ทำให้การนำเข้ายากขึ้น

มาตรการเหล่านี้เป็นหลักประกันที่กระทรวงพาณิชย์กำหนดเป็นมาตรการป้องกันเพื่อดูแลไม่ให้มะพร้าวนำเข้ากระทบกับราคาภายในประเทศ

แต่น่าเสียดายที่ นายสายัณห์ ยุติธรรม ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคพลังประชารัฐ ซึ่งเป็นพรรคแกนนำจัดตั้งรัฐบาล กลับผสมโรงพยายามทำเรื่องนี้ให้เป็นประเด็นการเมืองหาเสียงให้ตัวเองด้วยการให้ข้อมูลที่ไม่ครบถ้วนเพื่อทำลายพรรคประชาธิปัตย์

นายสายัณห์ แถลงข่าวยืนยันว่า ปริมาณมะพร้าวของไทยไม่ได้ขาดตลาดมากมาย หากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์จะนำเข้ามะพร้าว 3.2 หมื่นตัน จะส่งผลกระทบกับราคามะพร้าวในเมืองไทยแน่นอน ซึ่งการนำเข้านั้นเพียงเพื่อผลประโยชน์ของโรงงานผลิตมะพร้าวสำเร็จรูป จึงอยากให้รัฐบาลโดยเฉพาะนายกรัฐมนตรีได้ทบทวนมาตรการการนำเข้ามะพร้าว ทำไมต้อง 3.2 หมื่นตัน ทั้งที่ขาดตลาดแค่ 5 พันตัน เมื่อเปิดให้นำเข้าทั่วประเทศโดยไร้มาตรการในการตรวจสอบ เข้ามาได้ทุกประตูต่างคนก็ต่างนำเข้า และถ้าหากราคามะพร้าวไทยตกต่ำลงมาเหลือ 10 บาทต่อกิโลกรัม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์จะรับผิดชอบด้วยการลาออกหรือไม่ พร้อมปิดท้ายว่าจะออกมาต่อสู้ทั้งในและนอกสภา

ท่าทีเช่นนี้เป็นการตั้งป้อมวางพรรคประชาธิปัตย์ว่าเป็นคู่แข่งทางการเมืองที่ต้องขับเคี่ยวกัน

ทั้ง ๆ ที่พรรคพลังประชารัฐ และประชาธิปัตย์อยู่เรือเหล็กลำเดียวกัน และแกนนำพรรคพลังประชารัฐ รวมถึงนายกรัฐมนตรี ย้ำนักหนาว่าต้องทำงานไปในทิศทางเดียวกัน ถึงขนาดตำหนิ 6 ส.ส.ประชาธิปัตย์ ที่ลงมติให้ตั้งกรรมาธิการวิสามัญศึกษาผลกระทบการใช้อำนาจตามมาตรา 44 ซึ่งเป็นการยืนหยัดตามอุดมการณ์พรรคและสนับสนุนในญัตติที่ส.ส.ของพรรคเสนอว่า ทำให้รัฐบาลไม่มีความเป็นเอกภาพ

แต่กรณีนำเข้ามะพร้าวซึ่งมีเหตุผลจากการขาดแคลนภายในประเทศ หากส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคพลังประชารัฐ เห็นว่าจำนวนนำเข้ามากเกินกว่าที่ขาดแคลนจริง ก็ควรส่งผ่านข้อมูลให้ผู้ใหญ่ในพรรคสื่อสารในที่ประชุมคณะกรรมการพืชน้ำมันและน้ำมันพืช

เพราะองค์ประกอบของคณะกรรมการชุดนี้ นอกจากจะมีนายจุรินทร์ เป็นประธาน และมี นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตร และสหกรณ์ ร่วมเป็นกรรมการแล้ว ยังมี 4 รัฐมนตรีของพลังประชารัฐ คือ นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และ นายสุวิทย์ เมษิณทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ร่วมเป็นกรรมการด้วย

ถ้ามั่นใจว่าข้อมูลของตัวเองถูกต้อง และคิดช่วยเหลือดูแลเกษตรกรจริง ต้องส่งผ่านข้อมูลที่มีให้รัฐมนตรีของพรรคตัวเอง ไปใช้ประกอบการพิจารณา ก่อนที่จะมีมติในเรื่องดังกล่าว ไม่ใช่ตั้งโต๊ะแถลงข่าวกล่าวหาให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เป็นผู้ร้าย และวางเดิมพันให้ลาออกจากตำแหน่ง โดยไม่พูดถึงเลยว่าคณะกรรมการชุดนี้มีสี่รัฐมนตรีของพลังประชารัฐรวมอยู่ด้วย ซึ่งไม่ใช่วิสัยของกัลยาณมิตรพึงจะกระทำ

อีกทั้งการให้ข้อมูลของนายสายัณห์ก็ไม่ตรงกับข้อเท็จจริง กรณีกล่าวาหาว่าจะให้นำเข้าได้ทุกประตู ทั้งที่กำหนดชัดเจนให้นำเข้าได้แค่สองด่าน และมีมาตรการเข้มงวดไม่ให้มั่วนิ่มนำมะพร้าวนำเข้าเข้าสู่ระบบตลาดภายในประเทศ ดังที่กล่าวไปแล้วในข้างต้น

เรื่องนำเข้ามะพร้าวจึงเป็นกรณีที่กระทรวงพาณิชย์ต้องเร่งชี้แจงทำความเข้าใจ ก่อนจะมีการบิดเบือนข้อมูลยายผลจนกลายเป็นดราม่าการเมืองมาทิ่มแทงพรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะคุมกระทรวงพาณิชย์

ขณะที่พรรคพลังประชารัฐ ที่ถนัดเคาะหัวพรรคร่วมรัฐบาล ก็ควรหันไปตบปากลูกพรรคตัวเองเสียบ้างว่า อย่าพูดจากล่าวหาพล่อย ๆ จนคนอื่นได้รับความเสียหาย

ส่วนประชาชนอยากให้เสพข่าวสาร ติดตามข้อมูลโดยใช้วิจารณญาณบนพื้นฐานข้อมูลและเหตุผล อย่าหลงไปกับการปลุกเร้าให้เกิดความเข้าใจผิดของนักเลือกตั้งบางคนที่เห็นแก่ประโยชน์การเมืองเฉพาะหน้าของตัวเอง