World News

ซื้อมา 200 ล้านดอลล์ขายแค่ 30 เซนต์! ยักษ์ผลิตตู้เย็นจีนขายทิ้งธุรกิจฟินเทค หนีขาดทุน

ผู้ผลิตตู้เย็นชั้นนำของจีน “กวางตุ้ง โฮมา แอปพลิแอนซ์” ขายทิ้งหน่วยงานสินเชื่อออนไลน์ระหว่างบุคคล (P2P lending) ในราคาเพียงแค่ 2 หยวน หรือประมาณ 30 เซนต์  หลังจากทุ่มเงิน 200 ล้านดอลลาร์เพื่อซื้อกิจการนี้มาเมื่อ 2 ปีที่แล้ว กลายเป็นบริษัทรายล่าสุดที่หนีออกจากอุตสาหกรรมฟินเทคท้องถิ่น ที่ครั้งหนึ่งเคยเฟื่องฟูอย่างมาก

homa11

โฮมา ขายกิจการ “ฮูหรงจิน” ธุรกิจ P2P lending ที่มีฐานการดำเนินงานอยู่ในกรุงปักกิ่ง ให้กับนายจ้าว กั๋วะตง ซีอีโอของบริษัทไปเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (16 ธ.ค.) โดยให้เหตุผลหลักถึงเรื่อง “กฎระเบียบด้านการเงิน และเศรษฐกิจมหภาคท้องถิ่น”

ในเอกสารที่ส่งถึงผู้ถือหุ้นนั้น โฮมาระบุว่า เป้าหมายการขายกิจการดังกล่าว อยู่ที่การจำกัดความเสี่ยงในการดำเนินงานของบริษัท และปรับปรุงรายได้ให้ดีขึ้น

โฮมาเข้าซื้อกิจการฮูหรงจิน ในความพยายามที่จะสร้างความหลากหลายในการสร้างรายได้ และเจาะเข้าสู่ตลาดฟินเทคของจีน ที่เติบโตอย่างรวดเร็ว โดยการตัดสินใจขายกิจการให้กับนายจ้าวครั้งนี้ ก็เพื่อให้ธุรกิจของฮูหรงจิน ที่อยู่ในภาวะขาดทุน หลุดพ้นไปจากบัญชีบริษัท ซึ่งกำลังมียอดขาดทุนเพิ่มสูงขึ้น

ทั้งนี้ อุตสาหกรรม P2P lending เพิ่งรู้จักกันอย่างแพร่หลายในจีนในช่วงไม่ถึงสิบปีที่ผ่านมา และขยายตัวอย่างรวดเร็ว มีมูลค่าการทำธุรกรรมสูงถึง 908,000 ล้านดอลลาร์เมื่อปี 2560

แต่การที่อุตสาหกรรมนี้เกิดปัญหาขึ้นจำนวนมาก รวมถึงการฉ้อโกงที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง อย่างกรณีคนมากกว่า 20 คน เปิดธุรกิจ P2P lending ปลอมขึ้นมา และหลอกเงินไปได้มากกว่า 7,600 ล้านดอลลาร์นั้น ส่งผลกระทบให้เกิดความไม่สงบในสังคมขึ้นมา จนดึงดูดความสนใจของรัฐบาลปักกิ่ง และทำให้เจ้าหน้าที่ควบคุมกฎระเบียบภาครัฐเข้ามาตรวจสอบธุรกิจนี้lending อย่างละเอียดมากขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา

ในการปฏิบัติตนให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลกลางนั้น เจ้าหน้าที่ในมณฑลหูเป่ย์ หนึ่งในศูนย์กลางการเงินออนไลน์ขนาดใหญ่สุดของประเทศ มีคำสั่งปิดธุรกิจ P2P lending ในมณฑลทั้งหมด โดยล็อตแรกปิดไปแล้ว 93 ราย ซึ่งมณฑลอื่นๆ ของจีน ไล่ตั้งแต่ชานตง ทางตอนเหนือของประเทศ ไปจนถึงเสฉวนทางตอนใต้ ต่างก็มีคำสั่งทำนองเดียวกันนี้

นอกจากที่จะบีบให้แพลตฟอร์ม P2P lending หลายพันรายต้องออกไปจากธุรกิจแล้ว เจ้าหน้าที่คุมกฎระเบียบจีนยังมุ่งเป้าไปยังบริษัทฟินเทค ที่มีชื่อเสียงโด่งดังสุดของประเทศจำนวนหนึ่ง

ตัวอย่างเช่น ลูแฟ็กซ์ ที่มีผิงอัน อินชัวแรนซ์ สนับสนุนอยู่ เปิดเผยเมื่อไม่นานมานี้ว่า ได้ลดขนาดธุรกิจ P2P lending ซึ่งเป็นธุรกิจหลักของบริษัทลงมา จากแนวโน้มเศรษฐกิจที่มืดหม่น

เช่นเดียวกับ เตี้ยนหรง ผู้ให้บริการ P2P lending รายใหญ่อีกรายหนึ่งของจีน ที่มีนักลงทุนรวมถึง สแตนดาร์ด ชาร์เตอร์ด และโอริกซ์ กลุ่มบริษัทให้บริการการเงินญี่ปุ่น ก็เพิ่งประกาศเลิกจ้างไป 2,000 คน

 

Avatar photo