Economics

เตรียมสรุปผลการศึกษา ‘สนามบินนครปฐม’ คาดเปิดให้บริการได้เร็วสุดปี 69

เตรียมสรุปผลการศึกษา “สนามบินนครปฐม” 2.5 หมื่นล้าน คาดชงเข้า “คมนาคม” กลางปีหน้า เปิดประมูลปี 65 เปิดให้บริการได้เร็วสุดปี 69 ประชาชนกระทบถูกเวนคืนที่ดิน 300 แปลง

2MOT 2562 12 17 สัมมนาฯโครงการท่าอากาศยานนครปฐม 19

นายถาวร เสนเนียม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยหลังเป็นประธานในงานสัมมนาทดสอบความสนใจของภาคเอกชน (Market Sounding) ในโครงการสนามบินนครปฐม วันนี้ (17 ธ.ค.) ว่า กรมท่าอากาศยาน (ทย.) อยู่ระหว่างศึกษาความเหมาะสมของโครงการพัฒนาสนามบินแห่งใหม่ในจังหวัดนครปฐม เนื่องจากสนามบินดอนเมืองและสนามบินสุวรรณภูมิไม่สามารถรองรับความต้องการการเดินทางอากาศที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วได้ โดยเฉพาะเที่ยวบินเชิงธุรกิจและเที่ยวบินส่วนตัว (Private Jet) จำนวน 2,000 เที่ยวบินต่อปี ซึ่งนำเม็ดเงินและการลงทุนเข้าสู่ประเทศมากกว่านักท่องเที่ยวทั่วไป

สำหรับงาน Market Sounding ในวันนี้ ถือเป็นส่วนหนึ่งของโครงการศึกษาความเหมาะสมในการพัฒนาสนามบินนครปฐม เพื่อศึกษาความต้องการใช้สนามบิน และเปรียบเทียบพื้นที่ทางเลือกที่มีศักยภาพในการสร้างสนามบิน โดยพิจารณาปัจจัยหลายด้าน เช่น เศรษฐกิจ วิศวกรรม และสิ่งแวดล้อม เพื่อคัดเลือกพื้นที่ที่เหมาะสม รวมทั้งสำรวจ ออกแบบ และจัดทำแบบก่อสร้าง

4MOT 2562 12 17 สัมมนาฯโครงการท่าอากาศยานนครปฐม 41

ปักหมุด “บางเลน-นครชัยศรี”

การศึกษาได้สำรวจพื้นที่ที่มีความเหมะสมในการก่อสร้างสนามบินทั้งหมด 10 แห่ง และคัดเลือกเหลือ 2 อำเภอ ได้แก่ ตำบลบางระกำและตำบลลำพญา ในอำเภอบางเลน รวมถึงตำบลบางแก้วฟ้า, ตำบลบางพระ และตำบลวัดละมุด ในอำเภอนครชัยศรี โดยพื้นที่ดังกล่าวอยู่ห่างจากโครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) บางใหญ่-กาญจนบุรี ประมาณ 5.3 กิโลเมตร และใช้ระยะเวลาในการเดินทางจากกรุงเทพฯ ประมาณ 1 ชั่วโมง 10 นาที

การออกแบบกำหนดให้โครงการมีพื้นที่ขนาด 3,500 ไร่ ทางวิ่ง (Runway) กว้าง 45 เมตร ยาว 2,500 เมตร อาคารที่พักผู้โดยสาร 3 แห่ง พื้นที่ประมาณ 115,740 ตารางเมตร รองรับผู้โดยสารได้ 5,100 คนต่อชั่วโมง อาคารและลานจอดรถ จอดรถได้ประมาณ 5,200 คัน โดยผู้ใช้บริการหลักจะเป็นเที่ยวบินเชิงธุรกิจและเที่ยวบินส่วนตัว แต่ก็จะพัฒนาให้รองรับสายการบินเชิงพาณิชย์ทั่วไปด้วย เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด

เครื่องบิน สนามบิน

รัฐเอกชนร่วมลงทุน

นายถาวรกล่าวต่อว่า การลงทุนควรใช้รูปแบบรัฐเอกชนร่วมลงทุน (PPP) เนื่องจากการนำงบประมาณแผ่นดินไปพัฒนาสนามบินที่รองรับเที่ยวบินเชิงธุรกิจ คงไม่เป็นธรรมกับประชาชนทั่วไป ขณะเดียวกันถ้าเอกชนสนใจเข้าร่วมการลงทุน ก็ควรเปิดกว้าง เพราะปัจจุบันก็มีหลายโครงการที่ใช้รูปแบบ PPP

สำหรับการศึกษา PPP ในโครงการนี้มีทั้งหมด 3 รูปแบบ ได้แก่

  • รัฐบาลลงทุนค่าที่ดิน เอกชนลงทุนการก่อสร้างทั้งหมด โดยเอกชนจัดสรรรายได้ให้ภาครัฐ 5% จะมีระยะเวลาคืนทุน 18.67 ปี ผลตอบแทนทางการเงิน (FIRR) 71%
  • รัฐบาลลงทุนที่ดินและงานระบบโครงสร้างพื้นฐาน (ยกเว้นลานจอดเครื่องบิน) เอกชนลงทุนอาคารที่พักผู้โดยสาร อาคารปฏิบัติการภาคพื้นดิน ลานจอดเครื่องบินทั้งหมด โดยเอกชนจัดสรรรายได้ให้ภาครัฐ 50% จะมีระยะเวลาคืนทุน 20.25 ปี FIRR 11.35%
  • รับบาลลงทุนที่ดิน งานระบบโครงสร้างพื้นฐาน งานอาคารที่พักผู้โดยสารเชิงพาณิชย์ ลานจอดเครื่องบินพาณิชย์ ด้านเอกชนลงทุนอาคารผู้โดยสารสำหรับเครื่องบินเชิงธุรกิจหรือเครื่องบินส่วนตัว อาคารปฏิบัติการภาคพื้นดิน ลานจอดเครื่องบินธุรกิจ โดยเอกชนจัดสรรรายได้ให้ภาครัฐ 52% จะมีระยะเวลาคืนทุน 20.17 ปี FIRR 47%
สนามบินนครปฐม 1
ภาพจำลองสนามบินนครปฐม

ชงผลการศึกษาเข้า “คมนาคม” กลางปี 63

อย่างไรก็ตาม ประชาชนในพื้นที่บางส่วนได้ร้องเรียนและแสดงความไม่เห็นด้วยกับโครงการก่อสร้างสนามบินนครปฐม ทาง ทย. จึงให้ที่ปรึกษาลงพื้นที่รับฟังความคิดเห็นของประชาชนและจัดทำมาตรการต่างๆ เพิ่มเติม เพื่อนำเสนอให้สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) พิจารณาต่อไป

“ประชาชนที่มีผลกระทบก็มาร้องต่อผม ว่าท่านไม่ต้องการ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นการพัฒนาทุกอย่างต้องทำความเข้าใจ และถ้าจะพัฒนาจริงๆ ต้องเยียวยา อย่าให้พี่น้องไม่พอใจ แต่ผลกระทบทางจิตใจก็เป็นเรื่องใหญ่เหมือนกัน การพัฒนาทุกที่ต้องมีผลกระทบ เราต้องเข้าใจและต้องเยียวยาให้เขาสบายใจในระดับหนึ่งด้วย” นายถาวรกล่าว

หลังจากลงพื้นที่รับฟังความคิดเห็นประชาชนเพิ่มเติมแล้ว เบื้องต้น ทย. คาดว่าจะสรุปผลการศึกษาได้ในเดือนกุมภาพันธ์ 2563 และเสนอให้กระทรวงคมนาคมพิจารณาได้ก่อนกลางปี 2563 ถ้าหากไม่มีปัญหาใดๆ ก็คาดว่าจะใช้เวลาก่อสร้าง 3 ปี และเปิดให้บริการได้เร็วที่สุดในปี 2569

MOT 2562 12 17 สัมมนาฯโครงการท่าอากาศยานนครปฐม 11

การบินโตต่อเนื่อง

นายจรุณ มีสมบูรณ์ รองอธิบดีกรมท่าอากาศยาน เปิดเผยว่า ทย. ดำเนินการศึกษาโครงการพัฒนาสนามบินนครปฐม เนื่องจากปัจจุบันสนามบินดอนเมืองและสนามบินสุวรรณภูมิมีที่จอดเครื่องบินไม่เพียงพอ และการจราจรทางอากาศเกิดความแออัด แม้ว่าจะมีโครงการขยายขีดความสามารถของสนามบินดอนเมือง สนามบินสุวรรณภูมิ และสนามบินอู่ตะเภาแล้วก็ยังไม่เพียงพอและไม่ทันกับการเดินทางทางอากาศที่เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง

จากสถิติพบว่าในปี 2552 ผู้โดยสารสายการบินเชิงพาณิชย์ของประเทศไทยมีจำนวน 53 ล้านคน เพิ่มเป็น 158 ล้านคนในปี 2561 ส่วนแนวโน้มเที่ยวบินเชิงธุรกิจก็เช่นเดียวกัน ในปี 2552 มีจำนวน 2,555 เที่ยวบิน และเพิ่มจำนวนเป็น 3,581 เที่ยวบินในปี 2559 โดยจะเห็นได้ว่าแนวโน้มการบินเชิงพาณิชย์และการบินเชิงธุรกิจของประเทศไทยมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง

fig 16 06 2019 08 31 56

เวนคืนที่ดิน 300 แปลง 200 ครัวเรือน

นายจรุณกล่าวต่อว่า ผลการศึกษากำหนดให้สนามบินแห่งใหม่ตั้งอยู่ด้านทิศตะวันตกของกรุงเทพฯ ในพื้นที่คาบเกี่ยวระหว่างอำเภอบางเลนและอำเภอนครชัยศรี ห่างจากอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ในกรุงเทพฯ ประมาณ 50 กิโลเมตร

โครงการนี้จะใช้วงเงินลงทุน 2.5 หมื่นล้านบาท มีผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ (EIRR) อยู่ที่ 17% และต้องใช้พื้นที่ก่อสร้างทั้งหมด 3,500 ไร่ จึงต้องเวนคืนที่ดินทั้งหมด 300 แปลง 200 ครัวเรือน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ทางการเกษตร คาดการณ์ว่าเมื่อสนามบินเปิดให้บริการถึงปี 2589 จะมีผู้โดยสารเชิงพาณิชย์ 30 ล้านคนต่อปี และเที่ยวบินเชิงธุรกิจ 11,770 เที่ยวบินต่อปี

ทั้งนี้ ทย. จะสรุปผลการศึกษาความเหมาะสมโครงการก่อสร้างสนามบินนครปฐมได้ในเดือนกุมภาพันธ์ 2563 จากนั้นจะเสนอเรื่องให้หน่วยงานต่างๆ เห็นชอบตามขั้นตอน คู่ขนานกับการเสนอรายงานวิเคราะห์ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม (EIA) โดยคาดว่าจะเปิดประมูลได้เร็วที่สุดในปี 2565 เริ่มก่อสร้างปี 2566 และเปิดให้บริการปี 2569

Avatar photo