Economics

‘ขสมก.’ พร้อมขาดทุนลากยาว ช่วยลดค่าโดยสารคนกรุงเหลือ 30 บาทตลอดวัน

ขสมก.-สหภาพฯ” หย่าศึก! จับมือหนุนแผนฟื้นฟูฉบับใหม่ ลุยลดค่าโดยสารเหลือ 30 บาทตลอดวันช่วยคนกรุง คาดทำองค์กรขาดทุนต่ออย่างต่ำ 5 ปี เล็งขอเงินอุดหนุนรัฐบาล 1 หมื่นล้าน

AAC6D78C 7DCA 40B5 A702 64A681E69D40

นายสุระชัย เอี่ยมวชิรสกุล ผู้อำนวยการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) เปิดเผยระหว่างการแถลงข่าวเรื่อง “การปรับปรุงแผนฟื้นฟูกิจการ ขสมก.” พร้อมกับสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ ขสมก. (สร.ขสมก.) วันนี้ (16 ธ.ค.) ว่า เหตุการณ์การประชุมเชิงปฏิบัติการ (Workshop) เรื่องการปรับปรุงแผนฟื้นฟูกิจการ ขสมก. ล่มเมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2562 ที่ผ่านมา เกิดจากการสื่อสารที่น้อยเกินไป ซึ่งตนขอน้อมรับความผิดไว้คนเดียว แต่หลังจากเหตุการณ์ดังกล่าว ผู้บริหาร ขสมก. และสหภาพฯ ก็ได้ร่วมหารือกันหลายครั้ง จนเกิดความเข้าใจและสามารถบรรลุข้อตกลงร่วมกัน จึงเกิดเป็นงานแถลงข่าวร่วมกันในวันนี้

โดยขอยืนยันว่า การปรับปรุงแผนฟื้นฟูในครั้งนี้ จะส่งผลดีต่อองค์กรและผู้ใช้บริการ รวมทั้งสอดคล้องกับนโยบายลดภาระค่าครองชีพประชาชนของนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เพราะ ขสมก. จะใช้อัตราค่าโดยสาร 30 บาทตลอดวัน ไม่จำกัดเที่ยว

99092

เปลี่ยนแปลง 2 ข้อ

นายสุระชัยชี้แจงต่อว่า การปรับปรุงแผนฟื้นฟูในครั้งนี้ไม่ใช่การทบทวนแผนฟื้นฟูทั้งฉบับ แต่เป็นการปรับปรุงจากแผนฟื้นฟูที่ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2562 เพียง 2 ข้อ จากทั้งหมด 7 ข้อ

ข้อแรกคือ เปลี่ยนแปลงวิธีการจัดหารถโดยสาร (รถเมล์) ใหม่ 3,000 คัน เป็นวิธีการเช่ารถจากเอกชนทั้งหมด เนื่องจากการเช่ารถมีต้นทุนดอกเบี้ยถูกกว่าการซื้อ และทำให้ ขสมก. สามารถบริหารฟลีทรถได้ยืดหยุ่นมากขึ้น สอดคล้องกับการเดินทางในกรุงเทพฯ ซึ่งจะเปลี่ยนเป็นระบบรางมากขึ้น แต่ยืนยันว่า ขสมก. ยังเป็นผู้บริหารการเดินรถเหมือนเดิม

ข้อที่ 2 คือ ปรับปรุงเส้นทางเดินรถในกรุงเทพฯ และปริมณฑลจาก 269 เส้นทาง ให้เหลือเพียง 110 เส้นทาง เพื่อลดปัญหาเส้นทางเดินรถทับซ้อน การจราจรติดขัด และปัญหามลพิษ ส่งผลให้รถเมล์แต่ละสายหมุนเวียนรถดีขึ้นและประชาชนรอรถเพียง 5-10 นาทีต่อเที่ยวเท่านั้น

รถเมล์ 1

สำหรับอีก 5 ข้อที่เหลือยังคงเหมือนเดิม ไม่เปลี่ยนแปลงจากแผนฟื้นฟูฉบับเดิม เช่น การเปิดโครงการสมัครใจจาก (Early Retirement) จะดำเนินการเฉพาะพนักงานในสำนักงานและพนักงานเก็บค่าโดยสารแบบสมัครใจเท่านั้น ด้านพนักงานขับรถจะไม่มีการเปิดโครงการ Early Retirement เนื่องจากปัจจุบัน ขสมก. มีพนักงานขับรถไม่เพียงพอ และต้องจัดจ้างพนักงานภายนอก (Out source) เพิ่มเติม

นอกจากนี้ ขสมก. จะขอให้รัฐบาลช่วยรับภาระหนี้สะสม 1.2 แสนล้านบาทเหมือนเดิม เพราะ ขสมก. ไม่มีความสามารถในการจ่ายหนี้สินด้วยตัวเอง โดยปัจจุบันต้นทุนการดำเนินงานของ ขสมก. เฉลี่ยอยู่ที่ 50 บาทต่อกิโลเมตร แต่หากภาครัฐช่วยรับภาระหนี้สิน 1.2 แสนล้านบาท ก็จะทำให้ต้นทุนดอกเบี้ยหายไป 11 บาทต่อกิโลเมตร เหลือ 39 บาทต่อกิโลเมตร  และหาก ขสมก. จัดหารถด้วยวิธีการเช่าก็จะทำให้ต้นทุนลดลงไปได้อีก

fig 25 06 2019 09 54 10

EBITDA เป็นบวกช้ากว่าแผนเดิม

นายสุระชัยกล่าวถึงผลประกอบการว่า ตามแผนฟื้นฟูฉบับเดิม ขสมก. จะมีกำไรก่อนหักดอกเบี้ย ภาษี และค่าเสื่อม (EBITDA) เป็นบวกภายในปี 5 หรือในปี 2566 แต่ในแผนฟื้นฟูฉบับใหม่ EBITDA จะเป็นบวกในปีที่ 6-10 เนื่องจากแผนฟื้นฟูฉบับใหม่จะทำให้ ขสมก. มีรายได้จากค่าโดยสารลดลง แต่ต้นทุนยังอยู่ระดับเดิมในช่วงแรก เพราะต้องรอช่วงเปลี่ยนผ่าน 10 ปีให้พนักงานทยอยเกษียณอายุก่อน จึงมีต้นทุนด้านพนักงานลดลง

ในช่วง 5 ปีแรก ขสมก. จึงวางแผนจะขอเงินอุดหนุนบริการสาธารณะ (PSO) จากรัฐบาลเป็นวงเงิน 2 พันล้านบาทต่อปี หรือรวมแล้ว 1 หมื่นล้านบาท หลังจากนั้นถ้า ขสมก. อยู่ได้ ก็อาจจะไม่ต้อขอ PSO จากรัฐบาลอีก

สำหรับขั้นตอนหลังจากนี้ ขสมก. จะต้องหารือเรื่องแผนฟื้นฟูกับพนักงานและหน่วยงานต่างๆ ก่อนเสนอแผนฟื้นฟูฉบับปรับปรุงให้คณะกรรมการบริหาร (บอร์ด) ขสมก. พิจารณาได้เร็วที่สุดในเดือนมกราคม 2563 จากนั้นจะต้องเสนอเรื่องให้กระทรวงคมนาคม สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาตามลำดับ จึงดำเนินการจัดหารถเมล์ใหม่ได้ ซึ่งอย่างน้อยก็ต้องใช้เวลา 1 ปี 6 เดือน

fig 25 06 2019 09 54 33

สร้างความมั่นใจพนักงาน 1.3 หมื่นคน

นายประยูร ช่วยแก้ว รองผู้อำนวยการฝ่ายการเดินรถองค์กร องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ เปิดเผยว่า รัฐบาลสั่งให้ทบทวนแผนฟื้นฟูใหม่ เพราะไม่มีแผนใดสมบูรณ์แบบทั้ง 100% โดยแผนฟื้นฟูฉบับเดิมอาจจะทำให้ ขสมก. รอด แต่ประชาชนไม่ได้ประโยชน์เท่าที่ควร เพราะ ขสมก. ต้องปรับขึ้นค่าโดยสาร

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม จึงมองว่า การปรับปรุงแผนฟื้นฟูฉบับใหม่ด้วยการลดค่าโดยสารลงเหลือ 30 บาทตลอดทั้งวัน จะส่งผลให้ประชาชาชนมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยลดลงจาก 40-50 บาทต่อวัน ขณะเดียวกันถ้า ขสมก. ยังคงจัดซื้อรถเมล์ต่อไป ก็จะต้องรับภาระดอกเบี้ยเงินกู้สูงกว่ากว่าวิธีการเช่ารถ

โดยหลังจากนี้ ขสมก. จะนำแผนฟื้นฟูฉบับใหม่ไปหารือกับกลุ่มย่อยกับพนักงาน 13,000 คนอีกครั้ง เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับพนักงาน ซึ่งผู้อำนวยการ ขสมก. และประธานสหภาพฯ จะเข้าร่วมด้วย จากนั้นจึงขอความเห็นชอบแผนฟื้นฟูฉบับปรับปรุงตามขั้นตอนต่อไป

99094

สหภาพฯ” กลับตัวหนุนแผนฟื้นฟู

นายบุญมา ป๋งมา ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (สร.ขสมก.) เปิดเผยว่า หลังจากผู้บริหาร ขสมก. และสหภาพฯ ได้หารือเรื่องแผนฟื้นฟูร่วมกันแล้ว ผลการเจรจาก็ได้ข้อยุติเป็นที่เรียบร้อย เช่น ขสมก. จะจัดหารถเมล์ใหม่จำนวน 3,000 คัน โดยการเช่าและองค์การจะไม่ทำสัญญาจ้างเอกชนมาวิ่งบริหารหรือเดินรถแทน

ด้านการกำหนดเส้นทางเดินรถประมาณ 137 เส้นทาง ก็จะให้สหภาพฯ เข้าไปมีส่วนร่วมเป็นคณะทำงานหรือคณะกรรมไม่น้อยกว่า 3 คน ส่วนการเก็บค่าโดยสาร 30 บาทตลอดทั้งวัน ไม่จำกัดเที่ยวนั้น สหภาพฯ เห็นด้วย แต่รัฐต้องให้การอุดหนุนเงินส่วนต่างที่ขาดหายไปในรูป PSO

“ค่าโดยสาร 30 บาท ผมเห็นด้วย เพราะประชาชนได้ประโยชน์ ซึ่งเศรษฐกิจแบบนี้ จะช่วยลดภาระประชาชนได้มาก แต่ก็ต้องคุยกับรัฐบาลด้วยว่าจะให้เงินอุดหนุนรายปีเป็นอย่างไร เพราะไม่อยากให้กลายเป็นหนี้สินสะสม” นายบุญมากล่าว

Avatar photo