Economics

ประมูล ‘ICD ลาดกระบัง’ วุ่นไม่จบ พลิกกฎหมายร่วมทุน 3 ฉบับหาทางออก

“คมนาคม-อัยการ” ตั้งข้อสังเกต “โครงการ ICD ลาดกระบัง” ลัดขั้นตอนเสนอ ครม. สั่ง “การรถไฟฯ” พลิกข้อกฎหมาย PPP 3 ฉบับ เร่งหาวิธีแก้ปัญหา

4MOT 2562 06 04รวค.แถลงข่าว ครม. by Prapaichit 51

จากรณีที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2562 ให้กระทรวงคมนาคมนำผลการคัดเลือก ผลการเจรจา และร่างสัญญาร่วมทุน (PPP) โครงการสรรหาเอกชนเพื่อร่วมทุนเป็นผู้ประกอบการสถานีบรรจุและแยกสินค้ากล่อง (ICD) ลาดกระบัง วงเงิน 4 หมื่นล้านบาท ไปพิจารณาจัดทำรายงานการศึกษาและวิเคราะห์โครงการให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการ PPP นั้น

นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า กระทรวงคมนาคม อัยการ และหน่วยงานต่างๆ ได้ประชุมร่วมกันแล้วมีข้อสังเกตว่า การขออนุมัติโครงการดังกล่าวอาจกระทำโดยผิดขั้นตอน

เนื่องจากการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ในฐานะเจ้าของโครงการ ได้ปรับปรุงผลการศึกษา PPP ใหม่ แต่เมื่อได้ข้อสรุปแล้ว การรถไฟฯ ไม่ได้เสนอผลการศึกษา PPP ให้ ครม. เห็นชอบ แต่กลับนำการศึกษาดังกล่าวไปเปิดประมูลหาผู้ประกอบการทันที จากนั้นจึงเสนอผลการศึกษาและผลการประมูลให้ ครม. เห็นชอบพร้อมกันเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคมที่ผ่านมา ซึ่งเท่ากับเป็นการลัดขั้นตอนการนำเสนอโครงการเข้า ครม.

กระทรวงคมนาคมจึงขอให้ฝ่ายทรัพย์สินและฝ่ายอาณาบาลของการรถไฟฯ ไปพิจารณาข้อกฎหมายในประเด็นนี้อย่างรอบคอบ พร้อมให้การรถไฟฯ เสนอว่าควรมีทางออกในเรื่องนี้อย่างไร เช่น อาจเสนอผลการศึกษาให้ ครม. เห็นชอบก่อน จากนั้นจึงเสนอผลการประมูลให้ ครม. พิจารณาในครั้งถัดไป หรืออาจจะยกเลิกผลการประมูลครั้งนี้ไปเลย เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังตอบไม่ได้ว่าการตัดสินใจในเรื่องนี้จะจบลงเมื่อใด เพราะขึ้นอยู่กับข้อมูลและการนำเสนอของการรถไฟฯ ด้วย

170511120310 china obor london yiwu train exlarge 169

รายงานข่าวจากการรถไฟแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ปัญหานี้เกิดจากการตีความข้อกฎหมาย PPP 3 ฉบับแตกต่างกัน เพราะโครงการนี้เริ่มต้นจากกฎหมาย PPP ปี 2535 ต่อมาได้ทบทวนผลการศึกษาและเปิดประมูลภายใต้กฎหมาย PPP ปี 2556 จากนั้นได้เสนอผลการศึกษาและผลการประมูลให้ ครม. พิจารณาพร้อมกันภายใต้กฎหมาย PPP ปี 2562 โดยคณะกรรมการคัดเลือกฯ ในขณะนั้นยืนยันว่า การรถไฟฯ ไม่ต้องเสนอผลการทบทวนรายงาน PPP ให้ ครม. พิจารณาอีกครั้ง ก่อนการเปิดประมูลตามขั้นตอน

อย่างไรก็ตาม การรถไฟฯ ยังไม่สามารถระบุว่า ปัญหานี้จะจบลงเมื่อใด เพราะอยู่ระหว่างหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และที่ผ่านมาหน่วยงานต่างๆ ก็ยังมีความคิดเห็นไม่ตรงกัน

ในระหว่างนี้ การรถไฟฯ ก็ต้องให้ผู้รับสัมปทาน 6 รายเดิม บริหารจัดการโครงการ ICD ลาดกระบังไปก่อนจนกว่าจะได้ผู้รับสัมปทานคนใหม่ เนื่องจากบริการนี้เป็นบริการสาธารณะ จึงไม่สามารถหยุดให้บริการได้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การประมูลสรรหาเอกชนเป็นผู้ประกอบการ ICD ลาดกระบังในครั้งนี้ มีผู้ชนะการประมูล คือ กิจการร่วมค้า เอ แอล จี (ประเทศไทย) ซึ่งประกอบด้วย บริษัท อีสเทิร์นซี แหลมฉบังเทอร์มินัล จำกัด, บริษัท เอเวอร์กรีนคอนเทนเนอร์ เทอร์มินัล (ประเทศไทย) จำกัด, บริษัท โอเชี่ยนเน็ตเวิร์ค เอ็กซ์เพรส (ประเทศไทย) จำกัด และบริษัท ไทย อินเตอร์เนชั่นแนล โลจิสติกส์ จำกัด

Avatar photo