Wellness

เสี่ยง NCDs ! เฝ้าระวังไขมันทรานส์ในอาหาร-ผลิตภัณฑ์ 4 กลุ่ม

กรมวิทยาศาสตร์ฯ เผยผลตรวจอาหาร-ผลิตภัณฑ์อาหาร 4 กลุ่ม อาจมีไขมันทรานส์ เป็นส่วนประกอบ พร้อมเฝ้าระวังต่อเนื่อง ย้ำผู้บริโภคลดไขมัน เพื่อสุขภาพที่ดี 

IMG 15285

นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า สำนักคุณภาพ และความปลอดภัยอาหาร ได้ศึกษาปริมาณไขมันทรานส์ในอาหาร และผลิตภัณฑ์อาหาร ที่มีวางจำหน่าย ในประเทศไทย ปีงบประมาณ 2562 เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคตามนโยบาย และยุทธศาสตร์กระทรวงสาธารณสุข ในการส่งเสริมให้คนไทยมีสุขภาพดีอย่างยั่งยืน

โดยใช้ตัวอย่างอาหาร และผลิตภัณฑ์อาหาร ที่อาจมีการใช้น้ำมัน ที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจน หรือไขมันทรานส์ เป็นส่วนประกอบ จาก 4 กลุ่มอาหาร และผลิตภัณฑ์ ได้แก่

1) ไขมัน และผลิตภัณฑ์ (เนยเทียม เนยขาว และผลิตภัณฑ์)

2) เบเกอรี่ (เวเฟอร์ คุกกี้ พายพัฟ และโดนัท)

3) ขนมปังขาว และขนมปังโฮลวีต

4) ขนมขบเคี้ยว (มันฝรั่งทอดกรอบ)

  • กลุ่มไขมัน และผลิตภัณฑ์ มีปริมาณไขมันทรานส์เฉลี่ย 0.07 กรัมต่อ 1 หน่วยบริโภค ทั้งนี้ 1 หน่วยบริโภคอ้างอิง ประมาณ 1 ช้อนโต๊ะ หรือประมาณ 13.5 กรัม
  • กลุ่มเบเกอรี่ มีปริมาณไขมันทรานส์เฉลี่ย 0.05 กรัมต่อ 1 หน่วยบริโภค โดย 1 หน่วยบริโภคอ้างอิง เวเฟอร์และคุกกี้ ประมาณ 30 กรัม และ 1 หน่วยบริโภคอ้างอิง พายพัฟ และ โดนัท ประมาณ 55 กรัม
  • กลุ่มขนมปังขาว และขนมปังโฮลวีต มีปริมาณไขมันทรานส์เฉลี่ย 0.03 กรัมต่อ 1 หน่วยบริโภค โดย 1 หน่วยบริโภคอ้างอิง ประมาณ 50 กรัม 
  • กลุ่มขนมขบเคี้ยว มีปริมาณไขมันทรานส์เฉลี่ย 0.03 กรัมต่อ 1 หน่วยบริโภค โดย 1 หน่วยบริโภคอ้างอิง ประมาณ 30 กรัม

ผลการตรวจพบว่า ปริมาณไขมันทรานส์เฉลี่ยใน 4 กลุ่มอาหาร และผลิตภัณฑ์ อยู่ในช่วง 0.03 – 0.07 กรัมต่อ 1 หน่วยบริโภค ซึ่งถือว่าต่ำกว่าคำแนะนำ ขององค์การอาหาร และเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ที่กำหนดไว้มาก คือ ไม่เกิน 0.5 กรัมต่อ 1 หน่วยบริโภค

43668

ทั้งนี้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้กำหนดมาตรการควบคุม และกำกับดูแลไขมันทรานส์ ในผลิตภัณฑ์อาหาร โดยออกเป็น “ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เลขที่ 388 พ.ศ. 2561 เรื่อง กำหนดอาหาร ที่ห้ามผลิต นำเข้า หรือจำหน่าย”  ซึ่งมีผลบังคับใช้มาตั้งแต่วันที่ 9 มกราคม 2562 เป็นต้นไป

โดยกำหนดให้น้ำมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วน และอาหารที่มีน้ำมัน ซึ่งผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วน เป็นส่วนประกอบ เป็นอาหารที่ห้ามผลิต นำเข้า หรือจำหน่าย รวมถึงผลิต เพื่อการส่งออกด้วย ทั้งนี้ไม่ได้ห้ามการตรวจพบไขมันทรานส์ในผลิตภัณฑ์อาหาร เนื่องจากอาจมีการใช้วัตถุดิบ ที่มีไขมันทรานส์ตามธรรมชาติ เป็นส่วนประกอบ

43972

นพ.โอภาส กล่าวต่ออีกว่า ไขมันเป็นสารอาหารที่ให้พลังงานแก่ร่างกาย แต่การบริโภคไขมัน โดยเฉพาะไขมันอิ่มตัว และไขมันทรานส์ในปริมาณมาก อาจเป็นปัจจัยเสี่ยง ที่ทำให้เกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) เช่น โรคหัวใจ และหลอดเลือด ดังนั้นเพื่อสุขภาพที่ดี จึงควรบริโภคไขมันในปริมาณน้อย ตามความเหมาะสมของกลุ่มวัย

อีกทั้งก่อนซื้อผลิตภัณฑ์อาหาร ผู้บริโภคควรอ่านฉลาก เพื่อจะได้ทราบส่วนผสมของวัตถุดิบ ที่ใช้ผลิต และทราบปริมาณไขมัน ที่มีอยู่ในผลิตภัณฑ์นั้นๆ อย่างไรก็ตามผู้บริโภค ไม่ต้องตื่นตระหนกในเรื่องดังกล่าว ทั้งนี้กรมวิทยาศาสตร์ฯจะเฝ้าระวังปริมาณไขมันทรานส์ในอาหาร และผลิตภัณฑ์อาหารอย่างต่อเนื่องต่อไป เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภค

Avatar photo