COLUMNISTS

อยากตัดวงจร ‘รัฐประหาร’ ต้องทำ ‘สภา’ ให้เป็นที่ทรงเกียรติอย่างแท้จริง

Avatar photo
1463

ตลอดหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา เชื่อว่าหลายท่านคงหงุดหงิด กับการเคลื่อนไหวในสภาผู้แทนราษฎร ที่ต้องยอมรับว่า มีหลายกรณีที่ชวนให้รู้สึกคับข้องใจจริงๆ

78583554 3367048540031883 6562506159075360768 n
ภาพ : เฟซบุ๊กเพจ Sirote Klampaiboon (ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์)

ในฐานะที่เป็นหนึ่งในคณะทำงานของประธานสภาผู้แทนราษฎร ท่านชวน หลีกภัย บอกได้คำเดียวว่ารู้สึกเสียดายโอกาสของนักการเมือง ในการกอบกู้ฟื้นฟูศรัทธาจากประชาชน ซึ่งเป็นเหตุผลสำคัญ ที่ทำให้ท่านชวนตัดสินใจยอมรับตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎร โดยท่านตั้งปณิธานอย่างแน่วแน่ว่า จะทำให้สภาผู้แทนราษฎรเป็นที่ทรงเกียรติอย่างแท้จริง เป็นที่พึ่งที่หวังให้กับประชาชน ซึ่งโดยส่วนตัวแล้ว เห็นว่ามีแต่แนวทางนี้เท่านั้น ที่จะรักษาประชาธิปไตยได้อย่างยั่งยืน ไม่ถูกตัดตอนด้วยการรัฐประหารเหมือนที่ผ่านมา

แต่ในขณะนี้ต้องบอกว่า สิ่งที่เกิดขึ้นในสภาผู้แทนราษฎร ไม่เอื้ออำนวยต่อการฟื้นคืนศรัทธาจากประชาชน ตรงกันข้ามการเดินเกมของทั้งฝ่ายค้านและรัฐบาล กำลังดึงสภาให้ตกต่ำลง โดยขอยก 3 ประเด็นให้เห็นภาพชัดเจนดังนี้

1. ปัญหาการทำหน้าที่ของกรรมาธิการ ป.ป.ช. ที่มีพล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส เป็นประธาน ที่มีเจตนาใช้กรรมาธิการเป็นเครื่องมือทางการเมืองเล่นงาน นายกรัฐมนตรีและพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ด้วยการเชิญมาชี้แจงแบบไม่สมเหตุสมผล

ขณะที่พรรคพลังประชารัฐแก้เกมแบบไม่สร้างสรรค์ด้วยการส่ง 3 ส.ส.ตัวจี๊ด อย่างนายสิระ เจนจาคะ นางสาวปารีณา ไกรคุปต์ และนายไพบูลย์ นิติตะวัน เข้าไปงัดข้อกับพล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เพื่อปกป้องพล.อ.ประยุทธ์ และพล.อ.ประวิตร ทำให้เกิดภาพความขัดแย้งอย่างต่อเนื่อง จนการทำงานของกรรมาธิการชุดนี้สะดุด ไม่ได้ทำหน้าที่ตรวจสอบการทุจริตคอร์รัปชันอย่างที่ควรจะเป็น

นอกจากจะเป็นเรื่องที่น่าเสียดายอย่างยิ่งแล้ว ยังฉุดภาพของสภาผู้แทนราษฎรให้ตกต่ำลง จนประชาชนเกิดความเบื่อหน่ายต่อนักการเมืองอีกด้วย

2. ปัญหาจากญัตติตั้งกรรมาธิการวิสามัญศึกษาผลกระทบการใช้อำนาจตามมาตรา 44 ที่ฝ่ายรัฐบาลแพ้โหวตในครั้งแรก และแก้เกมด้วยการเสนอให้มีการนับคะแนนใหม่

ท่านชวนไม่สามารถมีดุลพินิจเป็นอย่างอื่นได้นอกจากเดินหน้าตามข้อบังคับการประชุมที่ 85 จนกลายเป็นปัญหาที่ฝ่ายค้านวอล์คเอาท์ทำให้องค์ประชุมไม่ครบจนสภาล่ม 2 ครั้งติดกัน แม้ว่าในวันพุธที่ผ่านมารัฐบาล จะฝ่าด่านนับองค์ประชุมสำเร็จ จนได้รับชัยชนะไม่ต้องตั้งกรรมาธิการอย่างที่ต้องการแล้ว แต่สิ่งที่เกิดขึ้นก็ทำให้ประชาชนเบื่อหน่าย นักการเมืองเพิ่มขึ้น

มีคำถามอย่างมากว่า ทำไมรัฐบาลจึงกลัวการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ ศึกษาผลกระทบการใช้อำนาจตามมาตรา 44 มากนัก เพราะความจริงแล้ว ไม่ได้มีอะไรมากไปกว่าการทำหน้าที่ของฝ่ายนิติบัญญัติ คือการพิจารณาเรื่องเกี่ยวกับกฎหมาย ตรวจสอบ ศึกษา เพื่อให้มีการปรับปรุงแก้ไขสอดคล้องกับสภาพปัจจุบัน อันเป็นเหตุผลหลักที่ทำให้พรรคประชาธิปัตย์อนุมัติให้นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย ส.ส. ตรัง เสนอญัตติเข้าสภาด้วย จึงไม่่แปลกที่ 4 ส.ส.ของพรรคประชาธิปัตย์จะยืนหยัดโหวตเห็นด้วยกับการตั้งกรรมาธิการชุดนี้

ปัญหาที่เกิดขึ้น ความจริงควรคลี่คลายได้ดีกว่านี้ ด้วยวิธีการที่เคารพซึ่งกันและกัน เข้าใจการทำหน้าที่ของสภาว่าไม่ใช่​เป็นของรัฐบาล  แต่เป็นของประชาชนเพื่อถ่วงดุลอำนาจ ในฐานะ 3 เสาหลักประชาธิปไตย

หากแกนนำรัฐบาลเข้าใจในสิ่งนี้ ก็จะไม่เดินซ้ำรอย นายทักษิณ และนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่ใช้สภาปกป้องผลประโยชน์ตัวเองจนนำไปสู่ความขัดแย้งรุนแรงในสังคม และความเสื่อมถอยของนักการเมือง

การที่มีส.ส. ฝ่ายค้านร่วมเป็นองค์ประชุมรวมถึงโหวตให้กับรัฐบาลคนที่ทำหน้าที่ประสานงานอาจคิดว่า เป็นผลงานชิ้นโบว์แดง แต่ในสายตาประชาชนอาจกลายเป็นผลงานชิ้นโบว์ดำ ที่ทำให้คนมองว่า การเมืองคือเรื่องผลประโยชน์ ที่ไม่ได้อิงอยู่กับประชาชนอย่างแท้จริง

สภาพการณ์ที่เกิดขึ้น ไม่เพียงท้าทายนักการเมืองทั้งสภาเท่านั้น แต่ยังเป็นบทสะท้อนให้แกนนำรัฐบาลอย่างพรรคพลังประชารัฐ ต้องมีศาสตร์ และศิลป์ ในการประคองรัฐนาวาให้อยู่รอด บนพื้นฐานความเข้าใจการทำงานสภาว่า มีหน้าที่ตรวจสอบไม่ใช่ปกป้องใครคนใดคนหนึ่งแบบไม่ลืมหูลืมตา รวมถึงต้องเข้าใจด้วยว่าอุดมการณ์ของพรรคการเมือง ไม่อาจเปลี่ยนแปลงได้ง่ายๆ เพียงแค่การอ้างคำว่าต้องรักษามารยาททางการเมือง ถ้าทำได้ก็จะไม่มีใครต้องกลืนเลือด และยังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานร่วมกันเพื่อประชาชน​ ในยุคที่กำลังต้องเผชิญหน้ากับวิกฤติเศรษฐกิจ​ได้อย่างมั่นคงแข็งแรงมากขึ้น

ส่วนกรณีที่ฝ่ายค้านมองว่า ข้อบังคับการประชุมสภาที่ 85 น่าจะขัดรัฐธรรมนูญเพราะไม่ใช่การนับคะแนนใหม่ แต่กลายเป็นการลงคะแนนใหม่ ก็ถือเป็นปัญหาของข้อบังคับการประชุม มีประเด็นที่เกิดข้อสงสัยสามารถส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยได้

แต่ต้องแยกแยะออกจากการปฏิบัติหน้าที่ของประธานสภา ไม่ใช่มากล่าวหาว่าประธานสภาปฏิบัติหน้าที่ไม่เป็นกลาง โดยขอย้ำอีกครั้งว่าท่านชวนไม่สามารถใช้ดุลพินิจเป็นอย่างอื่นได้นอกจากทำตามข้อบังคับการประชุมสภาเท่านั้น

ที่สำคัญคือถ้าอยากแก้ไขปัญหาจริงๆ ควรเสนอให้มีการแก้ไขข้อบังคับ การประชุมสภาที่ 85 ทำให้เกิดความชัดเจนว่ากรณีแบบไหน จึงจะนับคะแนนได้และวิธีการนับคะแนนต้องทำอย่างไรเพื่อไม่ให้กลายเป็นการลงคะแนนใหม่  ซึ่งทั้งสภาต้องร่วมมือกันแก้ไข โดยไม่แบ่งฝักแบ่งฝ่าย เพราะเป็นข้อบังคับที่ใช้กับส.ส.ทุกคน

3. การตั้งกรรมาธิการวิสามัญศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีแนวโน้มว่าพรรคพลังประชารัฐ จะผลักดันให้ นายไพบูลย์ นิติตะวัน ซึ่งมีความชัดเจนว่าไม่ต้องการแก้รัฐธรรมนูญ นั่งหัวโต๊ะเป็นประธานกรรมาธิการชุดนี้ ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นจริง การทำงานของกรรมาธิการชุดนี้จะไม่ราบรื่น เกิดความขัดแย้ง ระหว่างฝ่ายค้านกับ ฝ่ายพลังประชารัฐ จนทำให้สังคมเกิดความเบื่อหน่าย ส่งผลให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญเดินต่อไม่ได้ ทั้งๆ ที่เห็นภาพชัดเจนอยู่แล้วว่า รัฐธรรมนูญ 60 แม้จะมีข้อดี แต่มีหลายเรื่องที่ต้องแก้ไข

สุดท้ายประเทศชาติเสียโอกาส ในการที่จะหาฉันทามติเพื่อแก้ไขกติกาสูงสุดของบ้านเมืองให้เป็นกติกาที่เป็นธรรม ไม่ใช่กติกาเพื่อประโยชน์ให้กับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง

สิ่งเหล่านี้จะเป็นปัจจัยสะสม ทำให้ ความขัดแย้งในบ้านเมืองมีเพิ่มมากขึ้น ยังไม่รวมความเคลื่อนไหวของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ที่เริ่มเดินเกมปลุกประชาชนนอกสภา ขณะที่ฝ่ายผู้มีอำนาจ ก็ไม่ได้พยายามดึงฟืนออกจากกองไฟ แต่กำลังราดน้ำมันเข้าสู่กองไฟด้วยการปลุกความเกลียดชังของคนในชาติ โดยกล่าวหาอีกฝ่ายว่าเป็นพวกชังชาติซึ่งเป็นเรื่องที่อันตรายอย่างยิ่ง

สิ่งที่อยากจะเตือนทุกฝ่ายในขณะนี้คือ หากไม่ต้องการให้วังวนรัฐประหารกลับมาอีก ไม่จำเป็นต้องเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ห้ามวงจรการรัฐประหาร เพราะสุดท้ายเมื่อเกิดการรัฐประหารรัฐธรรมนูญก็ถูกฉีกไป พร้อมกับการนิรโทษกรรมคนทำรัฐประหารอยู่ดี

ภูมิคุ้มกันที่ดีที่สุด ที่จะช่วยไม่ให้เกิดการรัฐประหารจึงอยู่ที่นักการเมืองต้องไม่สร้างเงื่อนไข เปิดช่องให้ทหารเข้ามาเถลิงอำนาจ ช่วยกันทำสภาให้เป็นที่ทรงเกียรติอย่างแท้จริงเถิด ถ้าไม่อยากให้เกิดเหตุที่ทำให้ประชาธิปไตยไปต่อไม่ได้