Economics

ส.อ.ท.ซัด ‘ขึ้นค่าแรง’ ซ้ำเติมปัญหา กระทบ ‘เอสเอ็มอี-ส่งออก’

ส.อ.ท. ชี้ ขึ้นค่าแรงขึ้นต่ำ 5-6 บาท สูงไป แถมไม่ถูกเวลา แนะควรปรับขึ้นแค่ 3-3.50 บาท หวั่นกระทบเอสเอ็มอีต้นทุนพุ่ง ลดขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ส่งออก

นายสุชาติ จันทรานาคราช รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สายแรงงาน เปิดเผยว่า การอนุมัติปรับขึ้นค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำ 5-6 บาทต่อวันของคณะกรรมการค่าจ้างกลาง สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยเห็นว่า เมื่อพิจารณาจากปัจจัยทางเศรษฐกิจของประเทศแล้ว ถือว่าแพงกว่ากรอบ 1.50 ถึง 2 บาท เพราะหากพิจารณาตามกรอบแล้ว ควรปรับเพิ่มค่าแรง 3 บาทถึง 3 บาท 50 สตางค์ต่อวันเท่านั้น

โรงงาน

ทั้งนี้ เนื่องจากหากพิจารณาสภาพเศรษฐกิจปัจจุบัน ที่เผชิญปัจจัยลบรอบด้าน ทั้งจากเศรษฐกิจโลกซบเซาลง โรงงานทะยอยปิดตัวลง หลายโรงงานเลือกที่จะชะลอการจ้างงาน ขณะที่หลายโรงงานให้พนักงาน พักงานชั่วคราวโดยจ่ายค่าจ้างให้ร้อยละ 75 ของเงินเดือน ทั้งหมดนี้เป็นสัญญาณบอกว่า เศรษฐกิจปัจจุบันมีปัญหา คำสั่งซื้อไม่มี และเห็นว่าในอนาคตข้างหน้าอาจจะไม่มีคำสั่งซื้อเข้ามา ผู้ประกอบการจึงรอติดตามว่าสถานการณ์จะปรับตัวดีขึ้นหรือไม่

ดังนั้น การปรับขึ้นค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำในวันนี้ จึงถือว่าการขึ้นในจังหวะที่ไม่ดี เพราะเป็นการซ้ำเติมปัญหาที่มีอยู่ในปัจจุบัน แม้ว่าการขึ้นค่าจ้างนั้นจะอยู่ในกรอบที่วางหลักเกณฑ์ไว้ โดยมองว่าจะเกิดผลเสียต่ออุตสาหกรรมโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในต่างจังหวัด ที่จะได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อม ขณะที่ไม่มีผลกระทบกับผู้ประกอบการรายใหญ่

แรงงาน 1

สำหรับผลกระทบทางตรงที่เอสเอ็มอีต้องเผชิญคือ การขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 5-6 บาท ทำให้ไม่สามารถประกอบธุรกิจต่อไปได้จากต้นทุนที่เพิ่มขึ้น ส่วนผลกระทบทางอ้อมคือ ผู้ประกอบการที่กำลังชั่งใจว่า จะทำธุรกิจต่อไปหรือเลิกทำธุรกิจ การปรับขึ้นค่าแรงครั้งนี้เป็นการตอกย้ำว่า ไม่อยากทำธุรกิจต่อไปแล้ว และส่วนคือโรงงานขนาดกลางที่รับออเดอร์จากโรงงานขนาดใหญ่ และจะส่งต่องานให้กับโรงงานขนาดเล็ก หากไม่มีคำสั่งซื้อเข้ามาก็จะมีปัญหา

นอกจากนี้ การขึ้นค่าแรงในช่วงเงินบาทแข็งค่า ซึ่งส่งผลให้ต้นทุนและราคาสินค้าส่งออกจากไทยสูงขึ้นอยู่แล้ว ยิ่งปรับขึ้นค่าแรงก็ยิ่งทำให้เพิ่มต้นทุนการผลิต และลดขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ส่งออก เช่น ค่าจ้างขั้นต่ำปัจจุบันอยู่ที่วันละ 325 บาท หากเงินบาทแข็งค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 8 ต้นทุนค่าแรงที่ใช้คำนวณในการตั้งราคาขายสินค้าส่งออกก็จะต้องตั้งแพงขึ้นอีก ค่าแรงจะแพงขึ้นอีก 25 บาท จะทำให้เท่ากับต้องจ่ายค่าแรงในอัตรา 350 บาทต่อวัน

Avatar photo