The Bangkok Insight

ในหลวง ร.9 ‘กษัตริย์นักพัฒนา’ พระผู้ทรงงานเพื่อการเกษตร

พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร หรือพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เป็นพระมหากษัตริย์ไทย รัชกาลที่ 9 แห่งราชวงศ์จักรี ครองราชย์ตั้งแต่วันที่ 9 มิถุนายน 2489 นับเป็นพระมหากษัตริย์ไทยที่ครองราชสมบัติยาวนานที่สุดในประเทศไทย

10.27

ตลอดรัชสมัยของพระองค์  พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการเสด็จฯ เยี่ยมราษฎรในท้องถิ่นต่าง ๆ ทุกภูมิภาคของประเทศ  โดยเฉพาะในแทบที่ชนบททุรกันดาร เพื่อทรงเยี่ยมเยียน ซักถามเรื่องความเป็นอยู่และสารทุกข์สุกดิบของประชาชน

นอกจากนี้พระองค์จะทรงศึกษาค้นคว้าข้อมูลต่าง ๆ ด้วยพระองค์เองด้วยแผนที่หรือเอกสารต่าง ๆ ทำให้ทรงรับทราบปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน หลังจากนั้นพระองค์ก็จะทรงคิดค้นแนวทางพระราชดำริเพื่อพัฒนาและแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ในแต่ละพื้นที่

พระองค์จะทรงพัฒนาชนบทในรูปโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ มีจุดประสงค์ คือ การพัฒนาบทเพื่อให้ราษฎรในชนบทได้มีความเป็นอยู่ตลอดจนสามารถประกอบอาชีพ เลี้ยงครอบครัวให้ดีขึ้น

5 December 01 1

แนวพระราชดำริที่สำคัญในเรื่องการพัฒนาชนบท คือมีพระราชประสงค์ช่วยให้ชาวชนบทสามารถช่วยเหลือพึ่งตนเองได้ โดยการสร้างพื้นฐานหลักที่จำเป็นต่อการผลิตให้แก่ราษฎรเหล่านั้น ทรงส่งเสริมให้ชาวชนบทมีความรู้ในการประกอบอาชีพตามแต่ละท้องถิ่น ทั้งยังทรงหาทางนำเอาวิทยาการสมัยใหม่มาประยุกต์กับภูมิปัญญาชาวบ้าน

พระองค์ทรงให้ความสำคัญเป็นอย่างมากกับงานด้านชลประทาน โดยทรงคิดค้นโครงการตามพระราชดำริของพระองค์ มีทั้งการแก้ปัญหาภัยแล้ง ปัญหาอุทกภัย รวมไปถึงการบำบัดน้ำเสีย  ทรงวิจัย และริเริ่มโครงการฝนหลวง เพื่อช่วยบรรเทาภัยแล้งสำหรับพื้นที่นอกเขตชลประทาน

เมื่อครั้งที่กรุงเทพมหานคร และปริมณฑลประสบปัญหาน้ำท่วมใหญ่ในปี 2538 พระองค์ทรงมีพระราชดำริเรื่องแก้มลิง ควบคุมการระบายน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำท่าจีน ลำคลองต่าง ๆ ลงสู่อ่าวไทย  ทรงประดิษฐ์เครื่องกลเติมอากาศ  กังหันชัยพัฒนา ในการปรับปรุงคุณภาพน้ำโดยการเพิ่มออกซิเจน เป็นสิ่งประดิษฐ์หนึ่งของพระองค์ที่ได้รับสิทธิบัตรจาก กรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์

images 1 1

ในด้านการเกษตร จะทรงเน้นการค้นคว้า ทดลอง และวิจัยหาพันธุ์พืชใหม่ ๆ ตลอดจนการศึกษาแมลงศัตรูพืช และพันธุ์สัตว์ต่าง ๆ ที่เหมาะสมกับสภาพท้องถิ่นนั้น ๆ เช่น หม่อนไหม และยางพารา ซึ่งแต่ละโครงการจะเน้นให้สามารถนำไปปฏิบัติได้จริง

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ยังทรงพยายามไม่ให้เกษตรกรยึดติดกับพืชผลทางการเกษตรเพียงอย่างเดียว แต่เกษตรกรควรมีรายได้จากกิจกรรมอื่นด้วย เพื่อจะได้พึ่งตนเองได้ในระดับหนึ่ง  ทรงคิดค้นการแก้ปัญหาทรัพยากรทางการเกษตรหลายอย่างที่สำคัญ เช่น การแกล้งดิน เพื่อแก้ปัญหาดินเปรี้ยว หรือดินเป็นกรด จนกระทั่งดินมีสภาพดีพอที่จะใช้ในการเพาะปลูกได้ การปลูกหญ้าแฝกเพื่ออนุรักษ์ดินและน้ำ

พระองค์ทรงส่งเสริมการเลี้ยงปลานิล ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศ โดยกรมความร่วมมือระหว่างประเทศได้ขยายโครงการเพาะเลี้ยงและเผยแพร่พันธุ์ปลานิล เพื่อความยั่งยืนด้านอาหารให้แก่ประเทศโมซัมบิก ทรงจัดตั้งโครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา เพื่อวิจัยพันธุ์ข้าว พันธุ์พืชและปศุสัตว์ รวมถึงการการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร การผลิตเอทานอล แก๊สโซฮอล์และไบโอดีเซล

images 2

โครงการพระราชดำริด้านการเกษตรอื่นๆ  รวมถึง โครงการคลินิกเกษตรเคลื่อนที่สร้างแหล่งเรียนรู้ทางด้านการเกษตร ส่งเสริมความรู้ทางด้านเทคโนโลยีด้านการเกษตร ที่จะช่วยเพิ่มผลผลิตและสร้างแรงจูงใจกระตุ้นเศรษฐกิจการผลิตด้านการเกษตร โครงการพัฒนาแหล่งน้ำ เพื่อการเพาะปลูก และระบบชลประทานเพื่อการเกษตร โครงการธนาคารโคกระบือ เพื่อให้เกษตรกรยากจนมีโคกระบือเป็นของตนเอง โครงการไร่นาสวนผสม เพื่อให้เกษตรกรใช้ที่ดินเกิดประโยชน์สูงสุด

ทั้งนี้ ตลอดรัชสมัยของพระองค์  มีโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ  เพื่อแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ภายในประเทศ ทั้งแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า และแก้ไขปัญหาระยะยาว ทั้งหมด 4,741 โครงการด้วยกัน โดยมีสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เป็นหน่วยงานราชการที่คอยประสานงานโครงการเหล่านี้

ข้อมูล : วิกิพีเดีย

Avatar photo