World News

‘ความรุนแรงออนไลน์-ฆ่าตัวตาย’ สะท้อนด้านมืดโลก ‘เคป็อป’

การตัดสินใจปลิดชีพตัวเองของ “ศิลปินเคป็อป” ที่เกิดขึ้นติดกัน ทำให้ทุกสายตามุ่งความสนใจไปยังเรื่องการพูดจาโจมตีบุคคลอย่างรุนแรง และการกลั่นแกล้งทางออนไลน์ที่เกิดขึ้นกับกลุ่มดารานักแสดงอายุน้อยในเกาหลีใต้ และประเด็นที่ว่าทำไมเรื่องเหล่านี้ส่วนใหญ่เกิดขึ้นโดยที่ไม่มีใครได้รับการลงโทษ

000 1MK0LT

ที่ผ่านมา ตำรวจเกาหลีใต้มองความรุนแรงบนโลกไซเบอร์ ว่าเป็นการก่ออาชญากรรมร้ายแรง และได้มีการเคลื่อนไหวในเชิงรุกให้ความรู้กับสาธารณชน ถึงวิธีที่จะไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของการโจมตีออนไลน์ หรือกลายเป็นผู้กระทำความผิดเสียเอง

ตำรวจระบุว่า มีการตั้งข้อหาผู้กระทำความผิดออนไลน์เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยปีที่แล้วมีคดีความที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้เกือบ 150,000 คดี แต่การเคลื่อนไหวของตำรวจก็เป็นเพียงแค่ส่วนเล็กๆ ต่อเรื่องราวที่เกิดขึ้น ซึ่งเกาหลีใต้ยังไม่มีการจัดระบบให้ความช่วยเหลือที่ดีต่อผู้ที่ตกเป็นเหยื่อ ในประเทศที่ครั้งหนึ่งเคยได้ชื่อว่าเป็น หนึ่งในประเทศที่ประชากรเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้มากสุดของโลก

“เรื่องนี้เป็นยิ่งกว่าการทำร้ายร่างกาย เพราะถ้าถูกทำร้ายเหยื่อก็สามารถไปหาแพทย์ได้ แต่ความรุนแรงในโลกไซเบอร์นั้น ไม่มีทางที่จะรักษาให้หายได้” เจือน มิน ซู นักสืบด้านอาชญากรรมไซเบอร์ สำนักงานตำรวจกรุงโซล กล่าว

เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายนที่ผ่านมา “คู ฮารา” นักร้องเคป็อป อดีตสมาชิกวงซารา ถูกพบเสียชีวิตในบ้านพักของเธอ และตำรวจพบข้อความที่เธอเขียนด้วยลายมือตัวเอง แสดงถึงความสิ้นหวังต่อชีวิตของเธอ โดยเธอตกเป็นเป้าของการโจมตีทางออนไลน์ เกี่ยวกับความสัมพันธ์ของเธอกับชายหนุ่มรายต่างๆ และเธอเคยออกมาพูดเกี่ยวกับการต่อต้านการกลั่นแกล้งทางออนไลน์ด้วย

ในเดือนพฤษภาคม คู ฮารา เคยถูกพบหมดสติที่บ้านพักของเธอ และถูกนำตัวส่งโรงพยาบาล ซึ่งหลังจากเหตุการณ์นี้ผ่านไป 1 เดือน เธอได้ออกมาเปิดเผยว่า กำลังป่วยด้วยโรคซึมเศร้า พร้อมให้สัญญาที่จะต่อสู้กับการแสดงความเห็นที่ประสงค์ร้ายต่างๆ บนโลกออนไลน์

คู ฮารา เป็นเพื่อนสนิทกับ “ซอลลี่” นักร้องสาวชื่อดังแห่งวงการเคป็อปอีกรายหนึ่ง ที่พบเสียชีวิตเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา และเป็นอีกคนหนึ่งที่ออกมาต่อต้านการกลั่นแกล้งทางออนไลน์

collage

แม้วงการเพลงป็อปเกาหลีใต้ จะได้รับความนิยมไปทั่วเอเชีย แต่ภายใต้ชื่อเสียง และเงินทองที่หลั่งไหลเข้ามานั้น วงการนี้ก็ยังมีด้านมืดที่แอบแฝงอยู่ ช่วงต้นปีนี้ นักร้องชายหลายรายในวงการเคป็อป และหนึ่งในโปรดิวเซอร์รายใหญ่สุดของอุตสาหกรรม ถูกตำรวจเรียกตัวเข้าสอบปากคำ ในคดีที่เกี่ยวข้องกับการค้าประเวณี และลักลอบเล่นการพนัน

ควอน ยอง ชาน อดีตนักแสดงตลก ที่ผันตัวเองมาเป็นที่ปรึกษา และเคยตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงบนโลกไซเบอร์ กล่าวว่า เมื่อถูกโจมตี ดารานักแสดงรายต่างๆ แทบจะไม่ได้รับความช่วยเหลือใดๆ เลย และแทบจะกลายเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ ที่จะหลีกเลี่ยงข่าวลือ และการโดนโจมตีรายบุคคล

“เมื่อผู้ไม่ประสงค์ดีแสดงความเห็นในทางร้ายๆ เรื่องราวก็จะเริ่มต้นเหมือนกับโดนหมัดแย็บเบาๆ ก่อนที่ขนาดของการทำร้ายทางออนไลน์จะขยายวงมากขึ้นจนเหมือนโดนหมัดฮุคเข้าเต็มๆ”

ควอน บอกด้วยว่า ข่าวลือ และการโจมตีรายบุคคลนั้น ต่างบุกรุกเข้าไปในชีวิตส่วนตัวของเหล่านักแสดงทั้งนั้น ซึ่งในกรณีของซอลลี่ และคู ฮารา นั้น ทั้ง 2 คนต่างเคยเป็นสมาชิกในวงเกิร์ลกรุ๊ป ก่อนที่จะแยกตัวออกมามีผลงานเป็นของตัวเอง ซึ่งทำให้พวกเธอมีความอ่อนไหวมากขึ้น

“หลังจากที่ศิลปินต้องเริ่มทำงานคนเดียว พวกเขาต้องรับมือกับความรู้สึกหดหู่ และการโดนโจมตีแต่เพียงลำพัง”

ทางด้านปาร์ก ซุน ซุก สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเกาหลีใต้ อดีตโฆษกประจำตัวประธานาธิบดี ผู้ที่เคยเป็นบุคคลแรกที่กล่าวถึงปัญหาการโจมตึทางออนไลน์ เมื่อปี 2541

ต้องการที่จะให้ใครก็ตาม สามารถแจ้งไปยังผู้ให้บริการเว็บไซต์ เพื่อขอให้ลบความเห็นที่เป็นการโจมตีว่าร้าย หรือแสดงความเห็นผิดๆ ได้

“นักร้องนักแสดงอายุน้อยเหล่านี้ ต้องเผชิญกับความรุนแรงทางออนไลน์ โดยไม่สามารถป้องกันตัวเองได้ ถึงเวลาแล้วที่กฎหมาย และสังคมจะต้องช่วยกันปกป้องพวกเขา”

Avatar photo