Economics

มาแล้ว!! ครม.ไฟเขียว ‘SSF’ กองทุนเพื่อการออมใหม่แทน ‘LTF’

“ครม.” ไฟเขียว “SSF” กองทุนเพื่อการออมระยะยาวรูปแบบใหม่ แทน “LTF” ชี้ลงทุน 10 ปี ลดหย่อนภาษีไม่เกิน 200,000 บาทพร้อมปรับเกณฑ์ RMF ให้ลดหย่อนภาษีเพิ่มเป็น 30%

นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบมาตรการส่งเสริมการออมระยะยาว ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ ประกอบด้วย การให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีสำหรับการซื้อกองทุนรวมเพื่อการออม (Super Savings Fund) หรือ SSF และการปรับปรุงหลักเกณฑ์การให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีสำหรับการซื้อกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนมีการออมระยะยาวมากขึ้น ซึ่งการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีจะมุ่งเน้นให้กลุ่มผู้มีรายได้ปานกลางถึงน้อยและผู้ที่เริ่มต้นวัยทำงานได้รับประโยชน์อย่างเต็มที่ เพื่อจูงใจให้ประชาชนกลุ่มดังกล่าวเริ่มต้นการออมระยะยาวโดยเร็ว

79433539 1236267859911861 5991818293789327360 o

สำหรับให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีสำหรับการซื้อกองทุน SSF ซึ่งเป็นกองทุนเพื่อการออมระยะยาวที่จัดตั้งขึ้นใหม่ โดยกำหนดให้บุคคลธรรมดาสามารถหักลดหย่อนภาษีเงินได้สำหรับเงินที่จ่ายเป็นค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุน SSF ไม่เกิน 30% ของเงินได้พึงประเมิน แต่ไม่เกิน 200,000 บาท เมื่อรวมกับกองทุนการออมเพื่อการเกษียณอายุอื่น ๆ (กองทุน RMF กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ กองทุนสงเคราะห์ตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน กองทุนการออมแห่งชาติ หรือเบี้ยประกันภัยสำหรับการประกันชีวิตแบบบำนาญ) แล้วต้องไม่เกิน 500,000 บาทในแต่ละปีภาษี

ทั้งนี้ กองทุน SSF ลงทุนในหลักทรัพย์ได้ทุกประเภท ไม่กำหนดจำนวนขั้นต่ำในการซื้อหน่วยลงทุนและไม่กำหนดเงื่อนไขในการซื้อต่อเนื่อง ผู้ซื้อกองทุน SSF สามารถขายคืนหน่วยลงทุนได้เมื่อถือมาแล้วไม่น้อยกว่า 10 ปีนับจากวันที่ซื้อ เงินได้จากการขายคืนหน่วยลงทุน SSF จะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา หากปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนด ทั้งนี้ สามารถหักลดหย่อนค่าซื้อหน่วยลงทุนใน SSF ได้ 5 ปี (2563 – 2567) โดยกระทรวงการคลังจะประเมินผลของมาตรการเพื่อพิจารณาแนวทางที่เหมาะสมต่อไป

78417161 1236262193245761 5119442188941393920 o

พร้อมกันนี้ ได้ปรับปรุงหลักเกณฑ์การให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีสำหรับการซื้อกองทุน “RMF” โดยปรับสัดส่วนการหักลดหย่อนภาษีสำหรับเงินที่จ่ายเป็นค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุน RMF จากเดิมไม่เกิน 15% ของเงินได้พึงประเมิน เป็นไม่เกิน 30% ของเงินได้พึงประเมิน โดยยังคงกำหนดวงเงินหักลดหย่อนได้สูงสุดไม่เกิน 500,000 บาท เมื่อรวมกับกองทุนการออมเพื่อการเกษียณอายุอื่น ๆ (กองทุน SSF กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ กองทุนสงเคราะห์ตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน กองทุนการออมแห่งชาติ หรือเบี้ยประกันภัยสำหรับการประกันชีวิตแบบบำนาญ) เพื่อเป็นการส่งเสริมให้ประชาชนออมได้มากขึ้น

ขณะเดียวกัน ได้ยกเลิกการกำหนดจำนวนขั้นต่ำในการซื้อกองทุน RMF (เดิมกำหนดให้ซื้อไม่น้อยกว่า 3% ของเงินได้พึงประเมิน หรือไม่น้อยกว่า 5,000 บาทต่อปี แล้วแต่จำนวนใดจะต่ำกว่า) เพื่อให้ผู้ที่มีรายได้ปานกลางถึงน้อยสามารถซื้อกองทุน RMF ได้ โดยยังคงกำหนดให้ต้องซื้อต่อเนื่องทุกปี และไม่ระงับการซื้อเกิน 1 ปีติดต่อกันเช่นเดิม

นายอุตตม กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับการลงทุนในกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) ซึ่งจะสิ้นสุดการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีปี 2562 นั้น นักลงทุนจะยังคงสามารถซื้อหน่วยลงทุนในกองทุน LTF ได้ และแม้ว่าจะไม่ได้รับการลดหย่อนภาษีสำหรับเงินที่ซื้อหน่วยลงทุนตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 เป็นต้นไป แต่กระทรวงการคลังได้เสนอแก้ไขกฎหมายเพื่อให้ผู้ที่ถือหน่วยลงทุนได้รับการยกเว้นภาษีสำหรับกำไรจากการขายคืนหน่วยลงทุนของกองทุน LTF เช่นเดียวกับกองทุนรวมอื่นๆ

Avatar photo