CEO INSIGHT

สะท้อนอุตฯ ‘หนังไทย’ ผ่านมุมมองบิ๊กบอสเมเจอร์ฯ ‘วิชา พูลวรลักษณ์’

ปักธงสนับสนุนอุตสาหกรรมหนังไทย ให้พัฒนาศักยภาพและสร้างคอนเทนต์ในระดับภูมิภาคเพื่อส่งออก ถือเป็นหนึ่งในวิชั่นหลักของ วิชา พูลวรลักษณ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ในโอกาสที่เมเจอร์ฯ ครบรอบ 25 ปี

นั่นเพราะที่ผ่านมา เมเจอร์ฯ ได้เข้าสู่บทบาทของผู้สร้างภาพยนตร์มาแล้ว 3-5 ปีที่ผ่านมา ภายใต้การร่วมทุนกับพันธมิตรทั้งในประเทศและต่างประเทศ ประกอบกับแผนธุรกิจในรอบ 5 ปีของเมเจอร์ อีกวิชั่นสำคัญคือ การปักหมุดสยายปีกโรงภาพยนตร์ในเครือให้ครบทั้ง 77 จังหวัดทั่วไทย ถือเป็นโอกาสของหนังไทยเช่นกัน

เมเจอร์

วิชา กล่าวว่า ที่ผ่านมา หนังไทยมีทั้งเรื่องที่ลงทุนน้อย และลงทุนสูง ทำให้คุณภาพไม่คงที่ เกิดทัศนคติแง่ลบ จนทำให้คนไทย โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ รังเกียจหนังไทย มองว่าไม่คุ้มค่าเงิน ถือเป็นหนึ่งใน pain point หรือปัญหาสำคัญที่หนังไทยประสบอยู่ และอีกประเด็นคือ หนังไทยวันนี้ยังขาดระบบโครงสร้างที่จะมาตอบโจทย์ให้หนังมีคุณภาพ โดยเฉพาะบทหยังที่ขาดความเข้มข้นดึงดูดคนดู

จาก pain point ทั้งสองเรื่องดังกล่าว จึงต้องเร่งแก้ไข ด้วยการสร้างหนังที่มีคุณภาพ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในคนดู และต้องให้ความสำคัญกับการคัดสรรบทภาพยนตร์ที่มีสตอรี่ดึงดูด น่าติดตาม วันนี้ต้องสร้างทีมเก่งๆ คิดบทได้ เห็นได้จากหนังเกาหลี ที่ปัจจัยความสำเร็จอยู่ที่บทหนัง ซึ่งกว่าที่จะออกมาเป็นบทหนังต้องใช้เวลาถึง 6 เดือน ขณะที่ใช้เวลาสร้างหนังเพียง 3 เดือน

วิชา มองว่า ในปี 2563 จะเห็นชัดเจนว่า หนังไทยจะมีเข้าฉายทุกสัปดาห์ และจะเห็นหนังไทยที่มีคุณภาพและมีการลงทุนจริงจัง  หากทำได้ ประเทศไทยถือว่ามีศักยภาพมากพอที่จะเป็น ฮอลลีวูด (Thailand+Hollywood) ได้ เพราะหากเปรียบเทียบกับประเทศอื่นในภูมิภาคอาเซียนด้วยกัน ถือว่าหนังไทยมีคุณภาพดีกว่า และสามารถสร้างหนังไทยที่ใครๆ ก็ดูได้ โดยไม่จำกัดเฉพาะคนในประเทศไทยเท่านั้น

“สิ่งที่เราอยากเห็นอุตฯหนังไทยคือ ฮอลลีวูด คือสหรัฐ  บอลลีวูด คือ อินเดีย ผมคิดว่าไทยแลนด์น่าจะเป็นฮับได้เช่นกัน เราสามารถเรียกตัวเองว่าเป็น ทอลลีวูด คือเป็น ไทยแลนด์บวก ฮอลลีวูด ถือเป็นวิชั่นของเราที่จะสร้างอุตสาหกรรมหนัง สนับสนุนอุตสาหกรรมหนังเพื่อให้สามารถส่งออกได้”

IMG 8298

ทั้งนี้ การส่งออกหนังไทยไปตีตลาดในระดับภูมิภาค หรือไปจนถึงระดับโลกนั้น วิชา มองว่า ไม่ใช่สิ่งที่เป็นไปไม่ได้ เพราะปัจจุบัน คอนเทนต์ เป็นสิ่งที่ต้องการ ทั้งเพื่อฉายในโรงหนัง หรือการนำไปเผยแพร่บนแพลตฟอร์มดิจิทัล โดยในส่วนของโรงหนังนั้น เมเจอร์ฯ พร้อมที่จะเป็นสะพานสนับสนุนหนังไทยทุกค่าย ทุกเรื่องที่ต้องการส่งออก ทั้งการฉายในโรงภาพยนตร์เครือเมเจอร์ฯ ที่ไปขยายตลาดรอแล้วในประเทศกัมพูชา สปป.ลาว อินเดีย รวมถึงเตรียมขยายตลาดในพม่าเพิ่มเติม

ที่สำคัญคือ ในประเทศกลุ่มอาเซียน โดยเฉพาะประเทศกลุ่มซีแอลเอ็มวี มีความต้องการหนังไทยเยอะมาก เนื่องจากได้รับการยอมรับจากผู้ชม เห็นได้จากประเทศกัมพูชา ที่ก่อนหน้านี้มีหนังไทยเข้าฉายปีละ 4-5 เรื่อง แต่ปัจจุบันเพิ่มเป็นปีละไม่ต่ำกว่า 20 เรื่อง และส่วนใหญ่ทำเงินได้

นอกจากประเทศในอาเซียน และซีแอลเอ็มวีแล้ว อีกประเทศยุทธศาสตร์ที่ต้องเข้าไปทำตลาดคือ ประเทศจีน เพราะเป็นตลาดใหญ่ที่มีโอกาสมหาศาล ด้วยจำนวนโรงหนังทั่วประเทศที่มีกว่า 70,000 โรง  มากกว่าโรงหนังในสหรัฐบวกยุโรป ที่สำคัญคือ คนจีนชอบดูหนังเพื่อคลายเครียด แต่ที่ผ่านมามีข้อจำกัดในการนำหนังจากต่างประเทศเข้าไปฉายในจีน เนื่องจากมีโควตาปีละ 35 เรื่องเท่านั้น

ในจุดนี้ เมเจอร์ฯ แก้ปัญหาด้วยการดึงจีนเข้ามาร่วมลงทุนสร้างภาพยนตร์ในไทย ทำให้หนังไทยเป็นหนังจีน โดยทางจีนเป็นคนเขียนบท และผลิตในไทยทั้งหมดเพื่อส่งออกไปจีน  ทำให้ไม่ติดปัญหาโควตา โดยจะเริ่มนำเข้าไปฉายในต้นปีหน้า และวางแผนผลิตหนังร่วมกับจีนปีละไม่ต่ำกว่า 2 เรื่อง

vsquare

“เราบอกจีนว่าเรามีทรัพยากร มาลงทุนกับเราได้ หนังจีนแพงมาก เพราะขายจีนก็คุ้มแล้ว เพราะตลาดใหญ่มีฮ่องกง ไต้หวัน ผมเชื่อว่าดาราไทยในอนาคตมีโอกาสทำเงินได้มากขึ้นเรื่อยๆ เพราะโซเชียลมีเดีย ออนไลน์ทำให้ข้อมูลทั่วถึงทุกที่ ดาราไทยวันนี้อาจไปดังในจีนก็ได้ ดังนั้นสิ่งสำคัญคือ เมื่อมีโอกาสต้องจับโอกาสให้ได้ ด้วยการสร้างหนังที่มีคุณภาพ ส่งออกไปตีตลาดได้”

จากวิชั่นดังกล่าว ทำให้บิสโมเดล ของเมเจอร์ฯ เปลี่ยนไป ภายใต้เป้าหมายที่จะส่งเสริมหนังไทย ให้หนังไทยมีคุณภาพ และโกอินเตอร์ให้ได้ ทำให้การทำธุรกิจในวันนี้ เป็นการเปิดกว้างรับพันธมิตรเพื่อเข้ามาร่วมใช้ซินเนอร์จี้ที่แต่ละคนมี  เพื่อสร้างความสำเร็จร่วมกัน ตัวอย่างเช่น เมื่อมีเรื่อง มีบทแล้ว จะเปิดกว้างชวนพันธมิตรเข้ามาดูว่าสนใจร่วมธุรกิจหรือไม่  การซินเนอร์จี้ในสิ่งที่แต่ละคนมี จะทำให้เกิดประโยชน์กับทุกฝ่าย ซึ่งโมเดลนี้จะเห็นมากขึ้นๆ เรื่อยๆ

การปักเป้าหมายพัฒนาหนังไทยของเมเจอร์ฯ ยังสอดคล้องกับแผนของเมเจอร์ฯ ที่จะเร่งเครื่องขยายโรงหนังให้ครบทุกจังหวัดใน 5 ปีจากนี้ เพราะคนต่างจังหวัดส่วนใหญ่จะนิยมดูหนังไทยมากกว่าหนังฮอลลีวูด การเพิ่มจำนวนโรงหนังในทุกจังหวัด จึงเป็นการเพิ่มโอกาสหนังไทยให้ทำเงินได้มากขึ้นในประเทศไทยอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม การขยายสาขาโรงหนังในต่างจังหวัด โดยเฉพาะจังหวัดรองที่เมเจอร์ฯ ยังไม่มีโรงหนังเข้าไปให้บริการ ด้วยจำนวนประชากรที่น้อยกว่าจังหวัดใหญ่ ทำให้เมเจอร์ฯ ต้องปรับโมเดลธุรกิจเช่นกัน จากปกติที่ทำโรงหนังขนาด 5-7 โรง จะปรับเหลือ 1-3 โรง เพื่อให้พอดูกับจำนวนคนดูในพื้นที่  จะส่งผลให้เงินลงทุนต่อสาขาลดลงไปประมาณ 50% โดยในปี 2563 ตั้งเป้าขยาย 30 โรง ใช้เงินลงทุนไม่เกิน 200 ล้านบาท จากเดิมที่ต้องใช้เงินถึงกว่า 400 ล้านบาท

รูปคุณวิชาไฟล์ใหญ่2

“เมื่อมีโรงหนังในต่างจังหวัด ก็เพิ่มโอกาสของหนังไทยที่จะไปฉายในต่างจังหวัดมากขึ้น จากเดิมปีละ 40 เรื่อง ก็มีศักยภาพที่จะเพิ่มเป็นปีละ 100 เรื่องได้ไม่ยาก โดยปีหน้าคาดว่าจะมีหนังไทยเข้าฉายไม่ต่ำกว่า 52 เรื่อง หรือสัปดาห์ละเรื่อง เพิ่มสัดส่วนจาก 24% เป็น 25% จากหนังที่เข้าฉายทั้งหมด เฉพาะจากค่ายเมเจอร์ฯ ก็ประมาณ 15 เรื่องแล้ว และคาดว่าในอีก 5 ปี จะสามารถเพิ่มส่วนแบ่งเป็น 50% ได้”

ส่วนธุรกิจสตรีมมิ่งออนไลน์ ที่เคยหวั่นเกรงว่าจะเข้ามาดิสรัปธุรกิจโรงภาพยนตร์นั้น ถึงวันนี้ วิชามั่นใจแล้วว่า ไม่สามารถมาดิสรัปโรงภาพยนตร์ได้ เพราะแม้ว่าคนดูจะเป็นกลุ่มเดียวกัน แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือ ผู้ประกอบการสตรีมมิ่งออนไลนฺ์ กลับมาเป็นลูกค้าซื้อหนังของเมเจอร์ฯ ไปฉายทางสตรีมมิ่ง เพราะสิ่งที่สตรีมมิ่งขาดคือ คอนเทนต์ และความเร็วในการฉาย ดังนั้น ลูกค้าที่ต้องการชมภาพยนตร์ใหม่ จึงต้องมาชมที่โรงเท่านั้น นี่จึงเป็นสิ่งที่ทำให้โรงหนังได้เปรียบ และแทนที่จะเกิดวิกฤติ กลับเป็นการสร้างโอกาสแทน โดยเฉพาะในปัจจุบันที่สตรีมมิ่งมีการแข่งขันรุนแรง ทำให้คอนเทนต์ดีๆ ยิ่งเป็นที่ต้องการมากขึ้น

วิชา มองว่าอุตสาหกรรมหนังไทยนับจากนี้ จะถือว่ามีโอกาสอีกมหาศาล ทั้งจากตลาดต่างจังหวัด ตลาดต่างประเทศ หรือแม้กระทั่งบนดิจิทัลแพลตฟอร์ม แต่สิ่งสำคัญที่จะนำไปสู่โอกาสคือ การปรับตัวของหนังไทย ที่ต้องมีคุณภาพ และสอดคล้องกับความต้องการของตลาด หรือเรียกได้ว่า ผลิตเรื่องเดียวดูได้ทุกประเทศ เพื่อคว้าโอกาสจากโรงหนังที่มีกว่า 2 แสนโรงทั่วโลกให้ได้

Avatar photo