General

รัฐแจง ‘วิกฤติภาษามลายู’ ยันไม่ขัดแย้งศาสนาวัฒนธรรม

วันนี้ (1 ธ.ค.) น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ชี้แจงต่อข้อกังวลวิกฤติภาษามลายูในจังหวัดชายแดนใต้ ของตัวแทนภาคประชาสังคม ณ เวทีสหประชาชาติ(ยูเอ็น) เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายนที่ผ่านมาว่า รัฐบาลได้ดำเนินการส่งเสริมให้เยาวชนในพื้นที่ เข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ และส่งเสริมอัตลักษณ์วัฒนธรรมและภาษาท้องถิ่นเป็นเวลาหลายปีแล้ว โดยให้การสนับสนุนงบประมาณโรงเรียนตาดีกา สถาบันศึกษาปอเนาะ และโรงเรียนเอกชนสอนศาสนา ซึ่งทั้งสามสถาบันนี้เป็นแหล่งให้ความรู้ทางด้านศาสนาและภาษาแก่ เยาวชนมุสลิมในพื้นที่ โดยเฉพาะโรงเรียนตาดีกาที่ตั้งอยู่ในชุมชน ซึ่งเด็กระดับประถมจะไปเรียนในวันเสาร์-อาทิตย์

000 Hkg10110333

ในส่วนของสถาบันศึกษาปอเนาะ การเรียนการสอนสำหรับเด็กมัธยมเป็นไปอย่างสอดคล้องกับวิถีชาวบ้าน ให้ความรู้ทั้งทางศาสนาและภาษามลายู เสริมด้วยวิชาสามัญเพื่อทักษะในการประกอบอาชีพเท่าทันสถานการณ์

ปัจจุบันกระทรวงศึกษาธิการ ยังได้จัดทำหลักสูตรกลางอิสลามศึกษา สำหรับผู้สนใจในระดับชั้นประถม มัธยมต้น และปลาย ทั้งในแบบภาษาไทย และมลายู ซึ่งกระทรวงไม่ได้เข้าแทรกแซง แต่เป็นการจัดทำหลักสูตรร่วมกัน ระหว่างศึกษานิเทศก์ที่มีความเชี่ยวชาญ โต๊ะครู และสมาคมโรงเรียนสอนศาสนาอิสลาม

สำหรับเรื่องการไม่ใช้ภาษามลายูเป็นชื่อสถานที่นั้น น.ส.รัชดา ชี้แจงว่าชื่อหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ รวมถึงสถานที่ท่องเที่ยว หากมีชื่อเรียกภาษามลายูอยู่ก่อนแล้ว ชื่อนั้นก็ยังใช้อยู่ทุกวันนี้ เช่น บ้านตะบิงติงงี บ้านคาแวะ ตำบลกาบัง ตำบลสะเอะ อำเภอเจาะไอร้อง อำเภอระแงะ หาดตะโล๊ะสะมีแล และหาดตะโละกาโปร์

ดังนั้น ขอให้ประชาชนและนานาชาติมั่นใจต่อนโยบายของรัฐบาล ที่เคารพในเสรีภาพในการนับถือศาสนาของคนทุกกลุ่ม ส่งเสริมอัตลักษณ์ และวัฒนธรรมอันหลากหลาย รวมถึงการพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน เพราะนั่นคือหัวใจของสันติภาพอย่างแท้จริง

นอกจากนี้ ยังขอให้พิจารณาข้อมูลต่างๆที่เผยแพร่ด้วยความหนักแน่น อย่าตกเป็นเครื่องมือการสร้างความเกลียดชัง เพราะกระแสจากภายนอกจะกระทบวิถีชีวิตคนในพื้นที่และอาจขยายวงไปสู่ประเด็นอื่น วันนี้คนไทยพุทธและไทยมุสลิมไม่ได้มีความขัดแย้งต่อกัน และประเทศไทยไม่มีความขัดแย้งทางศาสนาหรือวัฒนธรรมแต่อย่างใด

Avatar photo