COLUMNISTS

เลิกดราม่าการเมือง ‘ปม 3 สารพิษ’ หันมาแก้ปัญหาดีกว่า!

Avatar photo
4996

เคยเขียนเตือนไปแล้วว่าการกำหนดนโยบายเกี่ยวกับการแบนสามสารพิษทั้ง พาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต ไม่ว่าจะกำหนดทิศทางอย่างไร ต้องมีการกางข้อมูลผลดี ผลเสียให้ประชาชนเห็นภาพที่ชัดเจน รวมถึง ถ้าจะแบนก็ต้องมีการเตรียมความพร้อมให้เกษตรกร เช่น อาจเริ่มด้วยการจำกัดปริมาณ หรือกำหนดระยะเวลาปรับตัว – ยกเลิก และมาตรการควบคุม – บทลงโทษที่มีการฝ่าฝืน

ทั้งยังควรมีสารอะไรมาใช้ทดแทน ที่ดีกว่าพาราควอต โดยคำนึงถึงภาระต้นทุนของเกษตรกรด้วย และถ้าแบนไกลโฟเซต จะทำอย่างไรกับการนำเข้ากากถั่วเหลืองและข้าวสาลี จากประเทศที่ยังใช้ไกลโฟเซตอยู่ ถ้าเลิกนำเข้าจะกระทบกับอุตสาหกรรมอาหารสัตว์อย่างไร มีมาตรการอะไรที่จะมารองรับ

แบน3สารพิษ

แต่สุดท้ายไม่มีการให้ข้อมูลที่ชัดเจน ปล่อยให้กระแสพาไปจากการเล่นใหญ่ของรัฐมนตรีพรรคภูมิใจไทย กดดันถึงขั้นขู่จะยกขบวนออกจากครม.ทั้งกะบิ กระทั่งเกิดมติให้แบน 3 สารพิษเมื่อวันที่ 22 ตุลาคมที่ผ่านมา โดยให้มีผลตั้งแต่ 1 ธันวาคมเป็นต้นไป

แต่สุดท้ายมตินี้ก็เดินหน้าต่อไม่ได้ เมื่อคณะกรรมการวัตถุอันตรายพลิกมติเดิม ขยายเวลาการแบนพาราควอต และ คลอร์ไพริฟอส ออกไป 6 เดือน ส่วนไกลโฟเซต ยกเลิกการแบนเปลี่ยนเป็นจำกัดการใช้แทน ด้วยเหตุผลที่ว่ายังไร้มาตรการรองรับจึงต้องใช้เวลาในช่วงเปลี่ยนผ่าน ซึ่งทุกเหตุผลที่นำมาอ้าง ล้วนแต่เป็นสิ่งที่ผู้เขียนได้เคยเตือนล่วงหน้าแล้วทั้งสิ้น

คำถามคือทั้งหน่วยงานราชการ และรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องไม่รับรู้เรื่องเหล่านี้เลยหรืออย่างไร

อนุทิน206623
อนุทิน ชาญวีรกูล

ในแง่ของการเมืองมีรัฐมนตรี 4 คนที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ จากภูมิใจไทย 2 คนคือ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และนางมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตร และสหกรณ์ จากประชาธิปัตย์ 1 คน คือ นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตร และสหกรณ์  และจากพลังประชารัฐ 1 คน คือนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งตอนนี้ 2 คนหลังกำลังตกเป็นผู้ร้ายว่า เป็นผู้ขัดขวางการแบน 3 สารพิษ เมินสุขภาพของคนไทยเพื่อผลกำไรของนายทุน

S 28917772
มนัญญา ไทยเศรษฐ์

สิ่งที่สังคมไทยต้องร่วมกันคิด เพื่อแหวกวงล้อมจากดราม่าสาดโคลนทางการเมืองที่กำลังเกิดขึ้นภายในพรรคร่วมรัฐบาล คือ

ในแง่การเมือง พรรคภูมิใจไทยประกาศถ้าแบน 3 สารพิษไม่ได้ 7 รัฐมนตรีของพรรคจะออกจากรัฐบาล แต่ตอนนี้เปลี่ยนเป็นขอคืนกรมวิชาการเกษตรฯ เพราะไม่สามารถควบคุมข้าราชการได้ แลกกับการขอกรมชลประทานไปดูแล

คำถามคือ ความรับผิดชอบทางการเมืองอยู่ที่ไหน เพราะหน้าที่ของรัฐมนตรีคือการแก้ปัญหาไม่ใช่หนีปัญหา ยิ่งยอมรับว่าคุมข้าราชการไม่ได้ จะให้ประชาชนไว้วางใจเป็นเสนาบดีต่อไปได้อย่างไร เมื่อนโยบายไม่ตรงกันแบบสุดขั้วจะร่วมงานแบบราบรื่นต่อไปได้จริงหรือ

เฉลิมชัย ศรีอ่อน 1 crop
เฉลิมชัย ศรีอ่อน

การโยนความผิดทั้งหมดไปที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นธรรมหรือไม่ เพราะต่างฝ่ายต่างก็มีเหตุผล เนื่องจากต้องยอมรับความจริงว่า มติแบน 3 สารพิษก่อนหน้านี้ เกิดจากแรงกดดันที่มีการสร้างกระแสอย่างต่อเนื่อง จนไม่มีใครกล้าสวน

ความผิดพลาดของทั้ง 2 รัฐมนตรี  คือ ขาดความกล้าหาญในการกางข้อมูลอีกด้านหนึ่งให้ประชาชนได้เปรียบเทียบถึงผลดีผลเสียด้วยเหตุผล ปล่อยให้ทุกอย่างไหลเลื่อนไปตามแรงอารมณ์ แล้วมาหักดิบในภายหลัง

1a43878cedbb9f91fa0f61234a5a6c08d32e596bd3fabf6877413a67c76cd961
สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ

นอกจากไม่ช่วยให้ปัญหาทุกอย่างคลี่คลายลงแล้ว ยังทำท่าว่าจะบานปลายมากขึ้นด้วย เนื่องจากมติหลังสุดที่ให้ขยายเวลา 2 สารพิษออกไป 6 เดือน และยกเลิกการแบนไกลโฟเซต เปลี่ยนมาเป็นจำกัดการใช้นั้น กำลังถูกทักท้วงว่าเป็นมติที่ไม่ชอบ เนื่องจากไม่ได้มีการลงคะแนนอย่างเป็นทางการ แต่สร้างสภาพภาวะจำยอมให้ผู้เข้าร่วมประชุมต้องยอมทำตาม

สิ่งที่เกิดขึ้นจึงเป็นเพียงการยื้อเวลาออกไป รอการปะทุรอบใหม่ ไม่ได้มีผลดีใด ๆ ต่อการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนแม้แต่น้อย

ความผิดพลาดในเชิงนโยบายที่เกิดขึ้น จะโทษรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องเพียงอย่างเดียวคงไม่ได้ เพราะเป็นปัญหาใหญ่ที่เกี่ยวข้องกับหลายกระทรวง ผู้นำรัฐบาลควรเป็นผู้กำหนดนโยบายยุติข้อพิพาท ควบคุมทุกองคาพยพให้เดินหน้าไปตามแนวทางที่รัฐบาลกำหนด เพราะถ้าปล่อยให้ราชการเป็นฝ่ายนำ เราก็ไม่จำเป็นต้องมีนักการเมืองเข้าไปบริหารประเทศ

สิ่งที่ต้องเร่งแสดงให้สังคมเกิดความมั่นใจเป็นอันดับแรกคือ ฝ่ายการเมือง โดยเฉพาะผู้นำรัฐบาลต้องมีนโยบายที่ชัดเจน และพร้อมรับผิดชอบต่อการกำหนดนโยบายของตัวเองด้วย รวมทั้งต้องแสดงภาวะผู้นำ สอดประสานการทำงานของรัฐมนตรีต่างพรรค ให้เดินหน้าไปในทิศทางเดียวกันให้ได้ ไม่ใช่ปล่อยเกิดสภาพเสมือนได้สัมปทานไปแล้วแตะต้องไม่ได้ ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อประเทศชาติ และยังตอกย้ำถึงความไร้ประสิทธิภาพของคนเป็นผู้นำด้วยเช่นเดียวกัน

000 1598RE

เราควรพลิกวิกฤติคลุกฝุ่นการเมืองจากปัญหานี้ มาเป็นโอกาสในการก้าวสู่เกษตรปลอดภัย เพื่อเป็นทางเลือกให้ทั้งเกษตรกรและประชาชนผู้บริโภคหรือไม่

ที่ผ่านมาเราพูดถึงเกษตรอินทรีย์กันมาก แต่ทำได้ยากในทางปฏิบัติเพราะต้นทุนสูง ทำให้ราคาที่ส่งผ่านมายังผู้บริโภคสูงตามไปด้วย จนทำให้ประชาชนคนธรรมดายากจะเข้าถึง เกษตรอินทรีย์จึงกลายเป็นทางเลือกของคนกลุ่มหนึ่งที่มีกำลังซื้อเท่านั้น

ทางเลือกที่น่าจะเป็นทางออกที่ดีในขณะนี้ คือ การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี หรือเกษตรปลอดภัย (GAP : Good Agricultural Practice) เพราะเป็นการเกษตรที่สามารถใช้สารเคมีได้ตามความจำเป็น และถูกต้องตามคำแนะนำ ผลผลิตอาจพบสารตกค้างได้ แต่ไม่เกินค่ามาตรฐานความปลอดภัยสำหรับผู้บริโภค ซึ่งเป็นการเกษตรที่ทำกันมากในทวีปยุโรป และได้รับการยอมรับทั่วโลก

ยกตัวอย่างเช่น หากจะปลูกข้าว ถ้าเป็น GAP สามารถใช้ปุ๋ยเคมีควบคู่ได้ ในปริมาณที่ปลอดภัย ทั้งกับเกษตรกรและผู้บริโภค ต่างจากเกษตรอินทรีย์ที่ไม่ให้ใช้สารเคมี โดยเด็ดขาด และต้องไม่พบสารตกค้างใดๆ ทั้งสิ้น

images 1 5

แนวทางเกษตรปลอดภัยจึงน่าจะเหมาะสมต่อเกษตรกรในระยะเปลี่ยนผ่าน มากกว่าก้าวกระโดดไปสู่เกษตรอินทรีย์เต็มรูปแบบที่มีต้นทุนสูง มีขั้นตอนและการจัดการยุ่งยากกว่า

อย่ามองว่าปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นวิกฤติเพียงอย่างเดียว แต่ควรคว้าให้เป็นโอกาส ในการพลิกโฉมการเกษตรไทยจากสารเคมี สู่ GAP ก่อนจะเข้าสู่เกษตรอินทรีย์ต่อไป จะทำแบบนี้ได้ผู้นำต้องมีความกล้าหาญในการกำหนดนโยบายจึงจะประสบความสำเร็จ