Branding

5 เทรนด์ ‘อีคอมเมิร์ซ 2020’ ตอบโจทย์ลูกค้ายุค ‘รอไม่ได้’

ไพร์ซซ่า เผย 5 เทรนด์อีคอมเมิร์ซมาแรง ปี 2020 ไทยนำลิ่วโซเซียลคอมเมิร์ซระดับโลก แนะอัพเดทเครื่องมือใหม่ๆ มาปรับใช้สร้างโอกาสธุรกิจ ปิดการขายผ่านมือถือบนแพลตฟอร์มที่เชื่อมต่อครบวงจร ด้านแบรนด์แห่เปิดร้านค้าบนมาร์เก็ตเพลส หวังเก็บข้อมูลลูกค้า ขณะที่เดลิเวอรี่เร่งขยายออกนอกกลุ่มอาหาร ตอบสนองลูกค้ายุค “รอไม่ได้”

นายธนาวัฒน์ มาลาบุปฝา ซีอีโอและผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท ไพร์ซซ่า จำกัด และนายกสมาคมผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ไทย เปิดเผยในงานสัมมนาเทรนธุรกิจอีคอมเมิร์ซ “ไพร์ซซ่า อีคอมเมิร์ซ ซัมมิท 2020” ถึงเทรนด์มาแรงของธุรกิจอีคอมเมิร์ซในปี 2563 ว่า จะประกอบด้วย 5 เทรนด์หลัก ได้แก่

Ecom cover 01

1.E-Commerce is global จากปกติที่อีคอมเมิร์ซ เป็นการค้าที่ไร้พรมแดนอยู่แล้ว แต่ในปี 2563 จะไม่ใช่แค่การค้าข้ามภูมิภาค แต่จะเป็นการค้าข้ามประเทศ เห็นได้สินค้าในมาร์เก็ตเพลส 3 รายใหญ่อย่าง ลาซาด้า, ช้อปปี้ และ เจดี ดอทคอม ที่มีจำนวนรวม 74 ล้านชิ้นในปี 2561 และเพิ่มเป็น 174 ล้านชิ้นในปี 2562 หรือเพิ่มสูงขึ้นถึง 2.4 เท่า ซึ่งในจำนวนนี้ เป็นสินค้าจากจีนถึง 77% จากผู้ค้าเพียง 8.1 หมื่นราย ขณะที่อีก 23% เป็นสินค้าจากผู้ผลิตในประเทศที่มีมากถึงกว่า 1 ล้านราย

ตัวเลขดังกล่าว สะท้อนได้ว่า ผู้ค้าจากต่างประเทศส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการรายใหญ่โดดมาทำธุรกิจเองขายสินค้าเป็นหมื่นหรือแสนชิ้น ซึ่งปีนี้เชื่อว่าจะเพิ่มมาเป็นนับล้านชิ้น แต่ขณะที่อัตราการซื้อของคนไทยพบว่า 86% เป็นการซื้อจากผู้ซื้อในประเทศ และ 14% สั่งซื้อจากผู้ขายต่างประเทศ แสดงให้เห็นว่า ความต่างอยู่ที่ขนาดของออเดอร์สั่งซื้อ โดยการสั่งซื้อผู้ขายในต่างประเทศ จะเป็นสินค้าชิ้นเล็ก ราคาไม่สูงแต่สั่งบ่อยและหลายชิ้นต่อครั้ง เห็นได้จากตัวเลขการสั่งซื้อเฉลี่ยต่อครั้ง เป็นการซื้อจากผู้ขายในไทยอยู่ที่ประมาณ 738 บาทต่อครั้ง ขณะที่ซื้อจากต่างประเทศเฉลี่ย 350 บาทต่อคำสั่งซื้อต่อครั้ง

Ecom P01 01

การที่สินค้าจากต่างประเทศเข้ามาจำหน่ายในไทยมากขึ้น เนื่องจากปัจจุบันการจัดส่งรวดเร็วขึ้น เช่นการจัดส่งสินค้าจากจีนเดิมใช้เวลา 12 วันปัจจุบันเหลือเพียง 6 วัน เนื่องจากจีนสามารถลดเวลาการแพคสินค้าที่จีนจากเดิม 9 วันเหลือเพียง 2 วัน, มาร์เก็ตเพลส มีการแข่งขันรุนแรง ทำให้ต้องพยายามหาสินค้าจากต่างประเทศเข้ามาจำหน่ายเพื่อเพิ่มความหลากหลายดึงใจลูกค้า ประกอบกับรัฐบาลให้การสนับสนุน เช่นการเปิดฟรีเทรดโซนสินค้าอีคอมเมิร์ซในอีอีซี เป็นต้น

ดังนั้น การปรับตัวของผู้ประกอบการเพื่อแข่งขันกับผู้ขายจากต่างประเทศคือ ต้องสร้างหรือหาสินค้าที่มีเอกลักษณ์และแตกต่าง มีคุณภาพ, เพิ่มมูลค่าเช่น การบริการที่ประทับใจลูกค้า ตั้งแต่การสั่งซื้อ การรับประกันคุณภาพ การให้บริการเก็บเงินปลายทาง และการขยายช่องทางขายให้ครอบคลุมทุกช่องทางที่ลูกค้าใช้

Ecom P02 01

2. Direct to Consumer (DTC) การขายตรงไปสู่ผู้บริโภค จะเห็นได้ว่าในปี 2562 มีแบรนด์สินค้าบนมาร์เก็ตเพลสประมาณ 4.4 หมื่นแบรนด์บนมาร์เก็ตเพลสทุกแบรนด์ในเมืองไทย ในจำนวนนี้เป็นสินค้าแบรนด์เนมที่เปิดออฟฟิศเชียลช้อป 1,700 ร้านค้า หรือประมาณ 4% ซึ่งปีหน้าเชื่อว่าจะเห็นภาพชัดเจนที่บรรดาแบรนด์แห่มาเปิดร้านค้าบนมาร์เก็ตเพลสมากขึ้นไม่ต่ำกว่า 3 เท่าตัว เนื่องจากสิ่งที่แบรนด์จะได้คือ การมีฐานข้อมูลลูกค้าในมือเพื่อนำมาต่อยอดทำการตลาดได้

3.Thailand World’s Leader in Social Commerce ประเทศไทยจะเป็นผู้นำตลาดโซเชียลคอมเมิร์ซ โดยผลวิจัยจากบีซีจี ที่เฟซบุ๊กจ้างทำวิจัย พบว่า คนไทย 40% เคยช้อปปิ้งผ่านโซเชียลคอมเมิร์ซ, 61% เป็นการซื้อสินค้าผ่านเฟซบุ๊ก ที่เหลือ 39% ซื้อผ่านช่องทางโซเชียลมีเดียอื่นๆ โดยเฉพาะ ไลน์

Ecom P03 01

ทั้งนี้เทรนด์ในปี 2563 บรรดาโซเชียล คอมเมิร์ซ แพลตฟอร์มต่างๆ อาทิ เฟซบุ๊ก ไลน์ อินสตาแกรม จะสามารถปิดการขายได้ในแอปเดียว โดยไม่ต้องเสียเวลาออกไปแอปธนาคารเพื่อชำระสินค้าอีกต่อไป เห็นได้จากปีหน้า เฟซบุ๊ก จะเปิดตัวเฟซบุ๊กเพลย์, อินสตาแกรมจะพัฒนาแอปให้ปิดการขายได้เลย และไลน์ เปิดตัว ไลน์โอเอ พลัส อีคอมเมิร์ซ ที่ให้ผู้ขายพูดคุยกับลูกค้าและปิดการขายได้เช่นกัน

“โซเชียลมีเดีย จะไม่ใช่แค่การสร้างเอนเกจเมนต์ กับลูกค้าอีกต่อไป แต่จะเป็นการขายช่องทางใหม่ที่เข้ามามีผลต่อลูกค้าจากการใช้งานสูงสุดในชีวิตประจำวัน ดังนั้น แบรนด์ต้องเลือกการใช้โซชียลมีเดียให้เหมาะสมกับแบรนด์เพื่อนำมาซึ่งยอดขายและฐานข้อมูลลูกค้า”นายธนาวัฒน์กล่าว

Ecom P04 01

4. Ride Hailing การจัดส่งถึงที่ หรือเดลิเวอรี่ ซึ่งเทรนด์สำคัญในปี 2561นี้ อยู่ที่การจัดส่งสินค้ากลุ่มอาหาร เห็นได้ว่า เซอร์วิส ออน ดีมานด์ เข้ามาเพื่อตอบโจทย์ลูกค้าในยุคที่ต้องการความรวดเร็ว สะดวกสบาย ไม่ชอบรอ แต่ในปีหน้า การขยายธุรกิจเดลิเวอรี่ จะขยายไปสู่สินค้ากลุ่มอื่นๆ นอกเหนือจากฟู้ด ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มของใช้ สินค้าอุปโภคบริโภค เครื่องใช้ไฟฟ้า ฯลฯ โดยเห็นเทรนด์จากต่างประเทศ เช่น อินโดนีเซีย ทั้ง โทโกพีเดีย และช้อปปี้ เริ่มบริการสั่งซื้อและจัดส่งสินค้าได้ทันทีแล้ว

“ปีนี้อยากทานต้องได้ทานเลย ส่วนปีหน้าอยากได้ของต้องได้เลย”

 

5. Omni channel ออมนิ ชาแนล หรือการผสมผสานช่องทางการขายระหว่างออนไลน์และออฟไลน์ อย่างไร้รอยต่อ เพื่อให้แบรนด์ สินค้า และบริการ เข้าไปอยู่ในทุกที่ทุกเวลาที่ลูกค้าต้องการ โดยปัจจุบัน จะเห็นได้ว่า ในสหรัฐ จากช่องทางจำหน่ายสินค้าทั้งหมด พบว่า เป็นการซื้อผ่านช่องทางออฟไลน์ 46%, ซื้อผ่านออมนิชาแนล หรือทั้งสองช่องทางทั้งออฟไลน์ และออนไลน์ 40.9% และ ซื้อผ่านออนไลน์ 13.1%

1574845571023 e1574845635198

ขณะที่ในประเทศไทย อ้างอิงจากกลุ่มเซ็นทรัล รีเทล พบว่า ลูกค้าซื้อสินค้าผ่านช่องทางออฟไลน์สูงถึง 96% ออมนิ ชาแนล 2.6% และออนไลน์ยังน้อยมากหรือเพียง 1.4% แต่เชื่อว่าแนวโน้มในอนาคตช่องทางออนไลน์และออมนิ ชาแนลเพิ่มสูงขึ้น และที่น่าสนใจคือ ยอดสั่งซื้อต่อบิลในช่องทางปกติอยู่ที่ประมาณ 1.2 หมื่นบาท แต่เมื่อขายผ่านช่องทางออนไลน์เพิ่มขึ้นพบว่า ยอดสั่งซื้อเพิ่มสูงขึ้นเป็น 3.6 หมื่นบาท

“สิ่งที่จะเกิดขึ้นใน 2-3 ปีในธุรกิจค้าปลีกของไทยคือ ธุรกิจค้าปลีกออนไลน์ จะเข้าซื้อกิจการค้าปลีกที่เป็นออฟไลน์” นายธนาวัฒน์กล่าวปิดท้าย

Avatar photo