The Bangkok Insight

เรียกร้อง’กกพ.’ กำกับซัพพลายเออร์แผงโซลาร์ ป้องของไร้คุณภาพเกลื่อน

นักวิชาการเรียกร้อง “กกพ.” เพิ่มกฎกำกับซัพพลายเออร์แผงโซลาร์เซลล์ การันตีผู้ใช้ระยะยาว หวั่นของไร้คุณภาพเกลื่อน เป็นขยะก่อนกำหนด 

ประเทศไทยกำลังมีแผงโซลาร์เซลล์ติดตั้งเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เกินกว่าที่รัฐจะเก็บข้อมูลได้ทัน “อีกไม่นานขยะโซลาร์เซลล์น่าจะล้นประเทศ” เป็นความวิตกกังวลของหลายๆคน สถานการณ์จะเป็นอย่างนั้นในอนาคตหรือไม่ และต้องทำอย่างไร มีคำตอบจากนักวิชาการอิสระ

IMG 20191122 113656

นายศุภกิจ นันทะวรการ นักวิชาการอิสระด้านพลังงาน บอกว่า จากการที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานคนปัจจุบัน มีนโยบายเรื่อง “พลังงานชุมชน” และมีโซลาร์เซลล์เป็นส่วนหนึ่งของแผนนั้นด้วย จะผลักดันให้มีการติดตั้งโซลาร์เซลล์กระจายตัวอย่างรวดเร็วในชุมชนต่างๆ จากปัจจุบันที่มีการติดตั้งกันมากอยู่แล้ว

เป็นเพราะราคาแผงโซลาร์เซลล์มีราคาถูกลง และประสิทธิภาพที่สูงขึ้น ล่าสุดราคาแผงลดเหลือ 5,000 บาท ขณะที่การผลิตไฟฟ้าสูงขึ้น มาอยู่ที่ 400 วัตต์ต่อแผง

สิ่งที่รัฐจะต้องเร่งทำ ก็คือการออกประกาศนโยบายโซลาร์เซลล์ในภาพรวมให้ชัด เพื่อให้ทุกคนเข้ามาอยู่ในระบบ เพราะปัจจุบันมีข้อติดขัดทางเทคนิคหลายเรื่อง ที่ทำให้ผู้ติดตั้งโซลารเ์ซลล์ เพื่อผลิตไฟฟ้าใช้เองจำนวนมากไม่แจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สุดท้ายรัฐก็ขาดข้อมูล มีผลต่อการพยากรณ์การผลิตและการใช้ไฟฟ้าของระบบโดยรวม

“ผู้ติดตั้งโซลาร์เซลล์จำนวนมาก ต้องการผลิตไฟฟ้าใช้เอง ไม่ต้องการขายไฟฟ้าเข้าระบบ แต่ช่วงที่ไม่ได้ใช้ไฟฟ้า จะมีไฟฟ้าที่วิ่งย้อนกลับสายส่ง ผู้ติดตั้งจะเลือกที่จะติดตั้งอุปกรณ์ป้องกันไฟฟ้าย้อนกลับ ตัดปัญหาไม่ต้องยุ่งเกี่ยวกับการไฟฟ้า เพราะอาจมีปัญหาตามมาได้ เพราะไม่ใช่ทุกพื้นที่ ที่การไฟฟ้า จะสนับสนุนประชาชนให้มีการผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์ นอกจากนี้มีประชาชนจำนวนมากไม่รู้ว่า แม้จะติดตั้งโซลาร์เซลล์ขนาดเล็กๆใช้เองก็ต้องมาจดแจ้งกับคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ”

นายศุภกิจ กล่าวต่อว่ามีหลายเรื่องที่กลไกการกำกับดูแลครอบคลุมไม่ถึง รวมไปถึงเรื่องมาตรฐานแผงโซลาร์เซลล์ด้วย ซึ่งหากไม่ประกาศมาตรฐานให้ชัดเจน จะมีแผงโซลาร์เซลล์ไม่ได้มาตรฐานเข้ามาจำนวนมาก ซึ่งอายุการใช้จะสั้นไม่ถึงสิบปี จากปกติอายุการใช้งาน 20-25 ปี หากเป็นแผงมาตรฐานจริงๆสามารถใช้ต่อได้ถึง 30-40 ปี  ดังนั้นแผงมาตรฐานจะช่วยยืดการเพิ่มปริมาณขยะอิเล็กทรอนิกส์

ทั้งนี้เห็นว่ากกพ.เหมาะสมที่สุดที่ต้องเป็นหน่วยงานหลักในการดูแลมาตรฐานแผงและอุปกรณ์โซลาร์เซลล์  เพราะปัจจุบันได้ออก “คู่มือประมวลหลักการปฏิบัติ ( Code of Practice : CoP )” สำหรับผู้ประกอบกิจการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ให้ผู้ผลิตไฟฟ้าต้องจัดการแผงโซลาร์เซลล์ และอุปกรณ์ที่หมดอายุการใช้งาน มาแล้วตั้งแต่ปี 2557 แต่ไม่ครอบคลุมพอ เพราะกำกับมาตรฐานจริงๆ เฉพาะผู้ผลิตไฟฟ้าที่ขายเข้าระบบเท่านั้น

ขณะที่ต้องขยายการกำกับให้ครอบคลุมซัพพลายเออร์ผู้นำเข้าแผงและอุปกรณ์ด้วย โดยต้องให้เข้ามารับประกันการใช้งานตลอดอายุสินค้าไม่ต่ำกว่า 20 ปี   เพราะวันนี้มีผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ซื้อแผงมาจากซัพพลายเออร์ และมาทำธุรกิจรับติดตั้ง โดยเฉพะในต่างจังหวัด ซึ่งเป็นไปได้สูง ที่จะรับติดตั้งแล้วล้มหายตายจากไปก่อนแผงหมดอายุ ดังนั้นการกำกับซัพพลายเออร์ ที่ส่วนใหญ่นำเข้าแผงจากบริษัทในจีนน่าจะเป็นกลไกที่ดีกว่า

Screenshot 20191128 185803 com.facebook.orca ตัด
ศุภกิจ นันทะวรการ

“ทำอย่างไรให้แผง และอุปกรณ์โซลาร์เซลล์ ต้องรับประกันให้ผู้ใช้ตลอดอายุสัญญา และมีผู้รับผิดชอบแผง ที่หมดอายุใช้งานแล้ว เพื่อนำไปรีไซเคิล ซึ่งโอกาสที่บริษัทผู้รับติดตั้ง จะอยู่ยาวน่าจะน้อยกว่า ซัพพลายเออร์แผงและอุปกรณ์โซลาร์เซลล์ที่นำเข้า ดังนั้นต้องมีระบบการขึ้นทะเบียนซัพพลายเออร์ และเห็นว่าควรเป็นหน้าที่ของกกพ.” 

ขณะเดียวกันต้องให้ความรู้ความเข้าใจกับผู้ติดตั้งด้วย โดยเฉพาะบ้านเรือน และชุมชนต่างๆให้เลือกบริษัทรับติดตั้งที่ได้มาตราฐาน และต้องดูอย่างรอบคอบว่า ผู้รับติดตั้งใช้แผงโซลาร์เซลล์ของบริษัทไหน เชื่อถือได้หรือไม่ รับประกันกี่ปี และมีที่อยู่ติดต่อได้ชัดเจนหรือไม่ เมื่อแผงหมดอายุการใช้งาน

LINE P20191128 191229034

สำหรับขยะโซลาร์เซลล์ นายศุภกิจ ย้ำว่า ก็คือขยะอิเล็กทรอนิกส์อย่างหนึ่ง ที่ต้องมีการบริหารจัดการ แต่ยืนยันว่าแผงโซลาร์เซลล์รีไซเคิลได้ 95-98% เพราะวัสดุส่วนใหญ่ คือ กระจก และอลูมิเนียม เข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลได้เหมือนวัสดุอื่นๆ คาดว่าจะมีเอกชนลงทุนโรงงานรีไซเคิลในไทยมากขึ้นในอีกไม่นาน

ส่วนโลหะหนักในแผงโซลาร์เซลล์นั้น อาทิ แคดเมี่ยม ตะกั่ว พบว่าผู้ผลิตลดปริมาณการใช้ลงประมาณ 60% เพราะเขาต้องการลดต้นทุน เพื่อให้ราคาแผงลดต่ำลง อย่างไรก็ตามผลกระทบเรื่องสิ่งแวดล้อม มีน้อยมากไม่เท่าโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่แน่นอน

ที่สำคัญแผงและอุปกรณ์โซลาร์เซลล์ที่ได้มาตรฐาน มีอายุการใช้งานจริงๆถึง 40 ปี โดยหลังอายุการใช้งาน 20-25 ปี ไม่ได้หมายถึงแผงใช้ไม่ได้ แต่ประสิทธิภาพผลิตไฟฟ้าจะลดลง จาก 100 % เหลือ 80% และยังใช้งานต่อได้ ขณะเดียวกันโซลาร์เซลล์ยังช่วยการจ้างงาน เพราะปัจจุบันหลายองค์กร เข้าไปฝึกอบรมช่างในท้องถิ่น ให้ติดตั้ง และซ่อมบำรุงโซลาร์เซลล์ และกำลังขยายเพิ่มมากขึ้น

“ตอนนี้ก็เหลือแต่นโยบาย และการปราศจากอคติ ว่าจะส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์อย่างไร รวมไปถึงการวางระบบดูแลมาตรฐานอุปกรณ์ และการติดตั้งซ่อมบำรุง ไปจนถึงการรีไซเคิล เพื่อให้เป็นพลังงานสะอาดอย่างแท้จริง เพราะศักยภาพของโซลาร์เซลล์ รัฐคงห้ามไม่ให้มีการขยายการติดตั้งได้แล้ว ” 

Avatar photo