Economics

‘อิปซอสส์’ ชำแหละ ‘ชิม ช้อป ใช้’ เห็นผลกระตุ้นใช้จ่าย คนใช้ ‘ชิม’ สูงสุด

อิปซอสส์ เผยผลวิจัยมาตการ “ชิม ช้อป ใช้” พบกลุ่มสูงวัยพอใจ ช่วยกระตุ้นจับจ่าย ขณะที่เด็กรุ่นใหม่มองว่า เป็นสิ่งที่ควรได้รับเพราะมาจากภาษีประชาชน แต่ภาพรวมอยากให้มีอีก พบคนนิยมใช้เงิน 1,000 บาท กับการ “ชิม” มากที่สุด

นางสาวอุษณา จันทร์กล่ำ กรรมการผู้จัดการ บริษัท อิปซอสส์ (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า จากการสำรวจนโยบาย “ชิม ช้อป ใช้” ของรัฐบาล จากกลุ่มตัวอย่างทั่วประเทศเป็นจำนวน 500 คน ซึ่งมีอายุตั้งแต่ 18 ถึง 60 ปีขึ้นไป พบว่า ภาพรวมโครงการ “ชิมช้อปใช้” กระแสตอบรับดี กลุ่มสูงวัยอายุ 50 – 59 ปี เห็นว่านโยบายที่ดีซึ่งช่วยกระตุ้นการใช้จ่าย ส่วนกลุ่มหนุ่มสาว ที่มีอายุ 18 – 29 ปี มองว่าเป็นสิ่งที่เขาควรจะได้รับ เนื่องจากเงินสนับสนุนจำนวนนี้เป็นเงินส่วนหนึ่งที่มาจากภาษีที่พวกเขาที่จ่ายให้กับประเทศ

2 15

ทั้งนี้ สัดส่วนของผู้ที่เข้าร่วมโครงการเมื่อเทียบกับสถิติคนที่ไม่ร่วม อยู่ในอัตรา 59 : 41 โดยกว่า 97% ของคนลงทะเบียนรับสิทธิ มีความรู้ความเข้าใจถึงวัตถุประสงค์ของโครงการ และอีก 95% ของพวกเขายังยินดีที่จะแนะนำให้ ครอบครัว ญาติ และเพื่อนฝูงร่วมรับเงินสนับสนุนส่วนนี้จากรัฐบาลอีกด้วย

เมื่อศึกษาถึงเหตุผลที่บางคนเลือกที่จะเข้าร่วมโครงการและไม่เข้าร่วมแล้ว สามารถสรุปเป็นประเด็นสาระสำคัญ ได้ดังนี้

3 12

  • 62% ของกลุ่มคนที่เข้าร่วมนโยบายและลงทะเบียนรับสิทธิ์ “ชิมช้อปใช้” มีความคิดที่ว่า นโยบายนี้เป็นนโยบายที่ดีในการกระตุ้นการใช้จ่าย
  • 44 % เข้าร่วมเพราะคิดว่าเงินจำนวนนี้มาจากภาษีของพวกตน
  • 41% มองว่าเป็นสิทธิ์ที่พวกเขาควรจะได้รับจากรัฐบาล
  • 4 2

ในทางกลับกัน ผู้ที่ไม่ได้ลงทะเบียนรับสิทธิ์ได้ให้เหตุผลที่ตัดสินใจไม่เข้าร่วม คือ ขั้นตอนเยอะ และมองว่าเป็นเรื่องยาก 44%, กดรับสิทธิ์ไม่ทัน 42%, ระบบไม่เสถียร 22%, อื่นๆ 20%, ไม่เข้าใจการใช้แอป เป๋าตัง – จี วอลเล็ต 13%, ไม่สามารถยืนยันตัวตนได้ 7%, ไม่มีสมาร์ทโฟน 2% และ 1%

ด้านความเชื่อของประชาชนในหัวข้อที่ว่า โครงการ “ชิมช้อปใช้” สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากและกระจายรายได้ไปสู่ธุรกิจขนาดเล็กได้หรือไม่นั้น พบว่า 72% เชื่อว่า เศรษฐกิจ และร้านค้าขนาดเล็กได้รับผลประโยชน์ มีเพียง 28% เท่านั้น ที่คิดว่านโยบายนี้ไม่สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจและกระจายรายได้สู่ร้านค้าขนาดเล็กได้ โดยกลุ่มคน 72% คิดว่ารายได้สามารถกระจายไปสู่ร้านค้าขนาดเล็กได้นั้น เนื่องจาก 71% ของพวกเขามีการวางแผนและมีความตั้งใจที่จะไปใช้จ่ายกับร้านค้าขนาดเล็กหรือร้านค้ารายย่อยเท่านั้น

5 1

นอกจากนั้นอีก 56% ยังมองว่าการรณรงค์ให้ใช้จ่ายนับเป็นตัวช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจที่ดี สำหรับอีก 28% ของกลุ่มคนที่มีแนวคิดเห็นตรงกันข้าม 63% ของพวกเขายังฝังใจว่าร้านค้าขนาดใหญ่เท่านั้นที่จะได้รับประโยชน์ และอีก 49% ไม่เชื่อว่ามาตรการนี้จะสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้จริงในระยะยาว

เมื่อศึกษาถึงหมวดของสินค้าหรือบริการ ตลอดจนประเภทร้านค้าที่ผู้รับสิทธิ์ส่วนมากเลือกที่จะใช้จ่ายด้วยนั้น ปรากฏว่า หมวด “ช้อป” ถูกเลือกในสัดส่วนที่สูงสุด ตามด้วย ชิม และ ใช้ โดยสัดส่วนระหว่าง ชิม : ช้อป : ใช้ อยู่ในอัตรา 35 : 61 : 4 โดยรูปแบบร้านที่ผู้มีสิทธิ์เลือกเป็นจุดซื้อนั้น สามารถเรียงลำดับได้ ดังนี้

7

 

 

  • 47% เป็น ร้านธงฟ้า
  • 39% ร้านค้าปลีกขนาดใหญ่ ท็อป มาร์เก็ต เทสโก้ โลตัส
  • 36% ร้านค้า โอท็อป ท้องถิ่น
  • 23% ร้านค้าขนาดเล็ก เช่น แฟมิลี่ มาร์ท
  • 14% ร้านค้าขนาดกลาง เช่น บลูช็อป
  • 11% ห้างสรรพสินค้า เช่น เซ็นทรัล สยามพารากอน
  • 10% ผู้ค้ารายใหญ่ เช่น แม็คโคร

8 1

สำหรับคำถามที่ว่าร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการมีจำนวนเพียงพอหรือไม่ สัดส่วนความคิดเห็นของผู้เข้า ร่วมโครงการระหว่าง เพียงพอ กับไม่เพียงพอ มีสัดส่วนเท่าๆกันคือ 50 : 50 โดยกลุ่มคนที่ระบุว่าร้านค้าที่ลงทะเบียนกับรัฐบาลมีจำนวนไม่มากพอนั้น มองว่าการหาร้าน “ถุงเงิน” เป็นเรื่องยาก

ในส่วนของพฤติกรรมการใช้จ่าย ได้ถามถึงวงเงินที่ได้รับมาจำนวน 1,000 บาท มีความเหมาะสมหรือ ไม่ ปรากฏว่า 70% ของผู้เข้าร่วมโครงการมีความเห็นว่า 1,000 บาทเป็นวงเงินที่มากพอ มีเพียง 30% เท่านั้นที่เห็นว่า รัฐบาลควรเพิ่มวงเงิน

10 1

เมื่อถามต่อถึงการใช้จ่ายเงินจำนวนนี้ พบว่า กลุ่มตัวอย่างกว่า 75% มีการใช้เงิน 1,000 บาทในครั้งเดียว อีก 25% ทยอยจ่ายหลายครั้ง และมีคนจำนวนไม่น้อยที่หลังจากจบโครงการแล้ว ใช้จ่ายน้อยกว่าจำนวนเงินที่ได้รับมา โดยสามารถจำแนกได้ดังนี้ 22% ใช้จ่าย น้อยกว่า 500 บาท, 15% ใช้จ่ายเป็นจำนวน 500 – 999 บาท, 38% ใช้จ่ายเป็นจำนวน 1,000 บาท และ 26% ใช้จ่าย มากกว่า 1,000 บาท

จุดประสงค์ที่สำคัญที่สุดของนโยบาย “ชิมช้อปใช้” คือความคาดหวังว่าประชาชนจะจับจ่ายใช้สอยเพิ่มมากขึ้นกว่าปกติ โดยสามารถสรุปจากผลสำรวจได้ว่า 56% ของผู้เข้าร่วมโครงการมีความรู้สึกว่าตนเองมีการใช้จ่ายที่เพิ่มมากขึ้นกว่าปกติ ในขณะที่ 17% ไม่รู้สึกว่าพวกเขามีการใช้จ่ายที่มากกว่าเดิมส่วน และอีก 18% นั้นไม่แน่ใจว่าตัวเองมีการใช้จ่ายเพิ่มมากขึ้นหรือไม่

11 6

โครงการ “ชิมช้อปใช้” ถือเป็นหนึ่งในโครงการของรัฐบาลที่ถูกวิจารณ์ในหลายด้าน อย่างไรก็ตาม 74% ของประชาชนชาวไทยอยากให้รัฐบาลดำเนินโครงการอย่างต่อเนื่องหลังจบมาตรการแล้ว มีเพียงแค่ 14% และ 12% เท่านั้นที่ไม่แน่ใจ หรือรู้สึกอยากให้รัฐบาลยกเลิกโครงการนี้ไปเลย

นับได้ว่าผลสำรวจนี้เป็นประโยชน์ต่อหน่วยงานและภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้อง เพราะสามารถทำให้เข้าใจความคิด และพฤติกรรมของประชาชนส่วนใหญ่ ทำให้ทุกภาคส่วนสามารถปรับแผนและแนวทางรองรับความต้องการและแนวโน้มได้อย่างถูกทิศทาง

12 2

Avatar photo