Politics

‘อนาคตใหม่’ เทียบชัดๆ ความเหมือน-ต่างคดีหุ้น ‘ดอน’ รอด – ‘ธนาธร’ ไม่รอด

เพจเฟซบุ๊ก “พรรคอนาคตใหม่ – Future Forward Party” ได้โพสต์ข้อความระบุว่า [ความเหมือน-ต่าง ของคดีหุ้น “ดอนรอด-ธนาธรไม่รอด” ไล่ตั้งแต่ชั้น กกต. ไปจนถึงคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ]

ทั้ง 2 คดีมีความคล้ายกันในหลายจุด เริ่มจากมีผู้ไปร้องเรียน กกต. ว่าดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศในสมัยรัฐบาล คสช. และธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ถือหุ้นต้องห้าม ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบความเหมือน – ต่าง ของคดีดอน-ธนาธร จึงสามารถตั้งข้อสังเกตและข้อเปรียบเทียบได้ ดังนี้

75593794 2598748596867385 1419133803930058752 o

1. การสั่งการให้ยุติการปฏิบัติหน้าที่

เมื่อ กกต. ยื่นคำร้องของทั้งสองคนให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย เมื่อศาลรับคำร้องมาแล้วได้สั่งให้ธนาธรหยุดปฏิบัติหน้าที่ ส.ส. ชั่วคราว แต่ไม่ได้สั่งห้ามดอนหยุดปฏิบัติหน้าที่รัฐมนตรี นั้นคือความแตกต่างกรณีแรก

2. กกต. เชื่อว่าทั้งสองทำเอกสารโอนหุ้นย้อนหลัง

ใน”ความเหมือน” นั้นก็คือทั้งสองคนก็ได้ยกข้อกฎหมายเดียวกันมาต่อสู้ นั่นคือประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1129 และ 1141 (โดยธนาธรได้ยกแนวทางคำพิพากษาฎีกาที่เคยผ่านมาแล้วด้วย) โดยสรุปก็คือ กฎหมายให้ถือ “ตราสารโอนหุ้น” เป็นพยานหลักฐานเอกสารหลักว่าได้โอนหุ้นไปแล้ว และให้บันทึกลงในสมุดทเบียนผู้ถือหุ้นเอาไว้

อย่างไรก็ตาม ในการไต่สวนของศาลรัฐธรรมนูญ ศาลไม่ได้เน้นไต่สวนข้อเท็จจริงว่าดอนได้มีการโอนหุ้น หรือทำสัญญาโอนหุ้นในวันที่อ้างจริงหรือเปล่า ส่วนธนาธรนั้นโดนจี้ถามหนักมาก รวมถึงรายละเอียดที่ไม่เกี่ยวข้อง หรือไม่เป็นสาระสำคัญหลักของคดี เช่นถามว่าใครโทรหาธนาธรบ้างในวันที่ 8 มกราคม หรือยอดค่าหุ้นเท่าไหร่(เขาจะไปจำตัวเลข 7 หลักซึ่งมีค่าเพียง 1% ของทรัพย์สินทั้งหมดที่เขามีได้อย่างไร?) แต่เมื่อตอบว่า “จำไม่ได้” ก็กลายเป็นเรื่องราวถูกวิพากษ์วิจารณ์ใหญ่โต

อนาคตใหม่ ธนาธร

3. กระบวนการส่งสำเนาทะเบียนผู้ถือหุ้นหรือ บอจ.5

การส่งสำเนาทะเบียนผู้ถือหุ้นดังกล่าวนั้นบริษัทจะต้องส่งสำเนาให้กับกระทรวงพาณิชย์ หากดูในคดีของดอนนั้น ศาลไม่ได้ย้อนดูหรือนำมาเป็นประเด็นในการพิจารณา ศาลจึงยึดตามแนวทาง ปพพ. 1129 และตามตราสารโอนหุ้น ดังนั้นจึงเชื่อว่าดอนได้มีการโอนหุ้นโดยชอบแล้ว

แต่สำหรับธนาธร ศาลเห็นว่ามีการนำไปอัปเดต บอจ.5 กับกระทรวงพาณิชย์ในวันที่ 21 มีนาคม ที่แม้ไม่ผิดกฎหมาย แต่เมื่อรู้ว่าจะลงสมัครเลือกตั้งก็ควรจัดการให้เสร็จก่อนวันลงสมัครเลือกตั้ง 6 กุมภาพันธ์ และเมื่อพิจารณา “พฤติการณ์แวดล้อมกรณี ซึ่งไม่เกี่ยวกับการโอนหุ้น” สามารถนำมาหักล้าง “พยานเอกสารที่เป็นหลักฐานการโอนหุ้นโดยตรงซึ่งได้รับบทสันนิษฐานตามกฎมายว่าถูกต้องเป็นจริง” ได้ ดังนั้นศาลจึงไม่เชื่อว่าธนาธรโอนหุ้นแล้วในวันสมัครเลือกตั้ง จึงวินิจฉัยสั่งให้ธนาธรพ้นจากตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในที่สุด

4. ระยะเวลาในการดำเนินการ

หากนับตั้งแต่ชั้น กกต. จนถึงวันศาลรัฐธรรมนูญอ่านคำวินิจฉัย ดอนมีเวลา 549 วัน ส่วนธนาธรมีเวลา 241 วัน ดอนไม่พ้นจากตำแหน่งรัฐมนตรี ในขณะที่ธนาธรพ้นจากตำแหน่ง ส.ส.

อ่านคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญคดีดอน http://www.constitutionalcourt.or.th/occ_web/download/article/article_20181109164553.pdf

อ่านคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญคดีธนาธร

Click to access article_20191121160546.pdf

Avatar photo