Economics

‘บาทแข็ง-แข่งขันสูง-ประท้วงฮ่องกง’ ต้นเหตุวิกฤติข้าวไทย

ข้าวไทย ที่ครั้งหนึ่งเคยครองตลาดโลก กำลังเผชิญกับปัญหา 3 อย่างพร้อมๆ กัน ทั้งเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น การแข่งขันอย่างรุนแรงจากประเทศเพื่อนบ้าน และเหตุความไม่สงบในฮ่องกง ที่กลายมาเป็นแรงกดดันต่อความต้องการ

000 Hkg5439551

ยอดขายข้าวไทยในต่างประเทศที่ซบเซาลง เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ผลประกอบการของภาคส่งออกไม่สดใส หลังเงินบาทแข็งค่าขึ้นเกือบ 10% เมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์ ทั้งการส่งออกข้าวยังตกอยู่ท่ามกลางความเสี่ยง จากการแข่งขันอย่างรุนแรงจากชาติผู้ผลิตรายใหญ่ อย่าง อินเดีย เวียดนาม และจีน

เทรดเดอร์ยังชี้ว่า เหตุประท้วงในฮ่องกง ที่ยืดเยื้อมาเป็นเวลานาน เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้การส่งออกข้าวลดลง เพราะจำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางไปยังเขตปกครองพิเศษของจีนแห่งนี้ลดลงอย่างหนักในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมาท จาก 5.1 ล้านคนในเดือนกรกฎาคม เหลือเพียงแค่ 3.1 ล้านคนในเดือนกันยายน ทำให้ความต้องการบริโภคข้าวลดลงไปด้วย

ระหว่างเดือนมกราคม – กันยายนปีที่แล้ว ไทยส่งออกข้าวไปยังฮ่องกงจำนวน 143,000 ตัน แต่ในช่วงเวลาเดียวกันของปีนี้ ไทยส่งออกข้าวไปยังฮ่องกงเพียงแค่ 127,000 ตันเท่านั้น ลดลงถึง 11%

“ข้าวขาวไทยระดับพรีเมียมที่ส่งไปฮ่องกง ส่วนใหญ่จะรองรับความต้องการในภาคท่องเที่ยว แต่ช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่าน เราส่งออกข้าวไปฮ่องกงน้อยลง เพราะความต้องการจากร้านอาหาร และโรงแรมต่างๆ น้อยลง” เจริญ เหล่าธรรมทัศน์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย ระบุ พร้อมให้รายละเอียดว่า ไทยเคยครองส่วนแบ่งในตลาดข้าวฮ่องกงสูงสุดเมื่อปี 2559 ที่ราว 64% แต่หลังจากนั้นก็ร่วงลงมาอยู่ที่ราว 52%

000 SAHK980109158780

อย่างไรก็ดี แหล่งข่าวจากบริษัทชัยทิพย์ ผู้ค้าข้าวรายใหญ่ของไทย ที่ส่งออกข้าวไปยังอ่องกงมานานกว่าศตวรรษ ระบุว่า เหตุประท้วงที่เกิดขึ้นในฮ่องกง ไม่ได้สร้างความเสียหายเท่ากับราคาข้าวที่เพิ่มสูงขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้

“ความต้องการที่ลดลง ไม่ได้มาจากการประท้วง แต่เป็นเพราะข้าวหอมมะลิราคาแพงเกินไป”

แหล่งข่าวรายนี้ บอกด้วยว่า ภัยแล้งที่เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ของไทยในปีนี้ ทำให้ผลผลิตข้าวหอมมะลิลดลง ซึ่งทำให้ราคาข้าวพุ่งสูงขึ้น โดยข้าวหอมมะลิ ถือเป็นข้าวไทยที่มีชื่อเสียงที่สุด โดยมีราคาล่าสุด อยู่ที่ตันละประมาณ 1,268 ดอลลาร์ เทียบกับราคาข้าวขาวเวียดนามที่ถูกกว่าเกือบครึ่งหนึ่ง

ดร. นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) แสดงความเห็นว่า การพัฒนาข้าวหอมไฮบริดของอินเดีย และการวิจัยข้าวขาวให้นุ่มขึ้นของเวียดนาม ทำให้ข้าวหอมมะลิของไทยสูญเสียเสน่ห์ในหมู่ผู้ซื้อต่างชาติ

“เวียดนามมีต้นทุนที่ลดลง และควบคุมค่าเงินของประเทศ ซึ่งรัฐบาลไทยจำเป็นต้องพัฒนาข้าวสายพันธุ์ใหม่ ที่ตอบสนองต่อความต้องการของตลาดได้มากขึ้น”

ขณะเดียวกัน จีน ที่ประเมินกันว่ามีปริมาณข้าวสำรองอยู่มากกว่า 100 ล้านตันนั้น ได้เริ่มปล่อยข้าวสำรองออกสู่ประเทศต่างๆ ในแอฟริกา ซึ่งยิ่งส่งผลกระทบต่อผู้ผลิตไทย โดยเมื่อปีที่แล้ว ปริมาณการส่งออกข้าวของจีนเพิ่มขึ้นมากกว่า 70% เพราะความต้องการจากแอฟริกา โดยมีไอวอรี โคสต์ เป็นลูกค้ารายใหญ่สุด

เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ข้าวขาวของจีนมีราคาจำหน่ายอยู่ที่ตันละ 300 ดอลลาร์ เทียบกับข้าวไทยชนิดเดียวกันที่อยู่ประมาณ 390 ดอลลาร์ เวียดนามที่ 360 ดอลลาร์ และอินเดียที่ 370 ดอลลาร์

000 8U1G5 1

ดร. นิพนธ์ กล่าวด้วยว่า เมื่อ 20 ปีที่แล้ว ตลาดข้าวแทบจะไม่มีการแข่งขัน แต่ในปัจจุบันมีการแข่งขันเกิดขึ้นในทุกที่ ทั้งจากอินเดีย ปากีสถาน เมียนมา และกัมพูชา ซึ่งไทยจำเป็นต้องพัฒนาข้าวสายพันธุ์ใหม่ และลดต้นทุนการผลิตลงมา เพื่อให้แข่งขันได้

ก่อนหน้านี้ เจริญ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย เคยให้สัมภาษณ์ต่อบลูมเบิร์กด้วยว่า การแข่งขันกำลัง “ฆ่าเรา”

“เราไม่รู้ว่าจะทำอะไรได้อีก เราพยายามลดต้นทุนลงมา แต่ค่าเงินบาทก็ทำให้ข้าวของเราแพงขึ้น เราทำได้แค่เพียงนั่งรอ และบางรายก็ต้องออกจากธุรกิจไป”

ที่มา : South China Morning Post

Avatar photo