Politics

จากใจผู้ว่าฯ‘ณรงค์ศักดิ์’กับปฏิบัติการที่โลกต้องจดจำ!

หลังจบปฏิบัติ 17 วัน นำ “13 ชีวิต ทีมหมูป่า อะคาเดมี่ กลับบ้าน” วานนี้ (15 ก.ค.) PR.Chiangrai ประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงราย สัมภาษณ์  “ณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร” ผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยา ในฐานะผู้บัญชาการศูนย์อำนวยการร่วมค้นหาผู้สูญหายในวนอุทยานถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน จังหวัดเชียงราย (ผบ.ศอร.) ผ่านเฟซบุ๊กไลฟ์ เปิดใจเกี่ยวกับ ปฏิบัติการที่โลกต้องจดจำ”

ณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร
นายณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร ผู้ว่าราชการ จังหวัดพะเยา

ผู้ว่าฯ ณรงค์ศักดิ์ กล่าวว่าวันนี้ต้องขอบคุณทุกคน ที่ให้กำลังใจในการปฏิบัติงานครั้งนี้  ขอบคุณอาสาสมัครนับหมื่นคนที่หมุนเวียนเข้าไปช่วย ทั้งช่วยทำอาหาร ซักผ้า ขนอุปกรณ์  หนึ่งในทีมที่สำคัญที่สุดในคือ กลุ่มอาสาสมัครที่ช่วยขนท่อสูบน้ำในถ้ำ, ขนถังออกซิเจนเข้าไปให้ทีมดำน้ำในถ้ำ เป็นกลุ่มที่เปียกทั้งวัน มีแต่ความชื้นและความหนาว และไม่ปรากฎผ่านสื่อ ถือเป็น “พระเอกตัวจริง”

อีกกลุ่มคือทีมสำรวจโพรงบนยอดเขา เพื่อหาทางเชื่อมถ้ำ  มี 30 ทีม ทีมละ 10 คน  จำนวนกว่า 300-400 คน เป็นทีมที่สำรวจโพรงอยู่บนยอดดอยครั้งละ 3-4 วัน ไม่ได้ลงมาด้านล่าง เป็นกลุ่มที่นอนบนดินกินบนทราย เป็นคนที่ไม่ได้ออกสื่อ และถือเป็นอีกกลุ่มพระเอก ซึ่งมีอีกมาหมายที่ทำงานในครั้งนี้ และไม่ปรากฏผ่านสื่อ

ตลอดการทำงาน 17 วันในภารกิจกู้ภัยทีมหมูป่าทั้ง 13 ชีวิตครั้งนี้ ทีมงานกว่า 1 หมื่นคน ถือว่าเป็น “พระเอก” ที่ต่อจิ๊กซอว์คนละจุด จนภาพออกมาอย่างสวยงาม ทุกคนมีบทบาท ในทุกตำแหน่งงาน

“เปรียบการทำงานครั้งนี้ ที่มีจิ๊กซอว์เป็นหมื่นตัว แต่ละตัวไม่รู้ว่าสำคัญอย่างไร แต่รู้ว่ามีหน้าที่อย่างไร และทำหน้าที่นั้นให้ดีที่สุด ผมในฐานะผู้บัญชาการ เป็นจิ๊กซอว์ตัวหนึ่ง ที่มีหน้าที่วางเป็นตัวสุดท้าย และโชคดีที่รูปออกมาสวยงาม ถือว่าประสบความสำเร็จ”

หมูป่า ถ้ำหลวง
รูปเฟซบุ๊ก SISIDEA

อีกกลุ่มที่มีความสำคัญ คือ ชาวนาที่อยู่ในพื้นที่รับน้ำที่สูบออกจากถ้ำ พบว่ามีกว่า 1,000 ไร่  ซึ่งกระทรวงเกษตรฯจะลงมาดูแลอีกครั้ง เชื่อว่าราชการจะชดเชยให้กับพ่อแม่พี่น้องที่เสียสละพื้นที่ให้ระบายน้ำ ในการปฏิบัติงานพยายามควบคุมความเสียหายให้น้อยที่สุด  อีกกลุ่มคือ จิตอาสา ด้านอาหารการกิน การเบิกสิ่งของ เบิกยา การเก็บขยะ

นอกจากนี้ ต้องขอบคุณทุกหน่วยงานที่มีจำนวนมาก ทั้งหน่วยงานราชการกว่า 100 หน่วย รวมทั้งภาคเอกชนที่ส่งอุปกรณ์ต่างๆ เข้ามาช่วย  โดยเฉพาะอาสาสมัครต่างชาติ ที่เป็นมืออาชีพจริงๆ

“ผมต้องขอซูฮก ทีมดำน้ำจากอังกฤษ ที่เข้ามาช่วย ถือเป็นทีมงานที่สุดยอด ผมเรียกเขาว่า The Great”

หมูป่า ถ้ำหลวง

ย้อนปฏิบัติการกู้ภัย 13 ชีวิตติดถ้ำหลวง

เหตุการณ์ช่วยเหลือ 13 ชีวิตทีมนักฟุตบอลและโค้ช “หมูป่า อะคาเดมี่” ติดอยู่ในถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน เรื่องเกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 23 มิถุนายน  2561 ได้รับโทรศัพท์เกือบเที่ยงคืน แจ้งว่ามีน้องๆ ติดอยู่ในถ้ำหลวง อำเภอแม่สาย  ขณะที่ฟังยังนึกไม่ออกว่าติดอยู่ในลักษณะอย่างไร จึงส่งทีมกู้ภัยเข้าไปช่วยเหลือ จากนั้นจึงวิ่งจากจวนผู้ว่าฯ ในเมืองไปยังแม่สาย

เมื่อถึงถ้ำหลวงแล้วจึงตกใจ เพราะปัญหาเยอะกว่าที่คิดไว้มาก อุปกรณ์ใดๆ ที่มีอยู่ไม่สามารถใช้การได้เลย หลังจากส่งทีมกู้ภัยเข้าไป 3 ชั่วโมง ก็กลับมารายงานว่าเป็นเรื่องยากมากในการกู้ภัยครั้งนี้ เพราะน้ำขึ้นเต็มถ้ำไปแล้ว จึงถอนกำลังออกมาวางแผนสู้ใหม่

bear

จากนั้นวันอาทิตย์ (24 มิ.ย.) ช่วงเช้าจึงมาเริ่มวางแผนใหม่ มี 4 แผนคือ

1.นำน้องๆ ออกจากถ้ำผ่านทางที่เข้าไป  แต่อุปสรรคคือเรื่องเวลาและน้ำเต็มโถงบริเวณ 3 แยก และเชื่อว่าหลังจาก 3 แยกไป น้ำท่วมเต็มหมดแล้ว

2.หากเข้าทางปากถ้ำไม่ได้  ก็ต้องเข้าทางยอดเขา จึงสำรวจหาช่องและโพรงต่างๆ ที่จะเชื่อมเข้าถ้ำ

3.แก้ปัญหาน้ำในถ้ำที่มีปริมาณมาก จึงใช้วิธีนำน้ำใต้ดินออกเพื่อให้ปริมาณน้ำในถ้ำลดลง และหากโชคดีอาจจะพบตาน้ำที่ทะลุเข้าถ้ำได้

4.การเจาะภูเขา ซึ่งทางทฤษฎีเป็นไปได้ แต่ทางปฏิบัติเป็นไปไม่ได้!! เพราะภูเขาลึกประมาณ 600 เมตร กรณีคนติดเหมืองที่ประเทศชิลี ระยะทาง 1 กิโลเมตร รู้ตำแหล่งใช้เวลาเจาะ 2 เดือน แต่กรณีหมูป่า ไม่รู้ตำแหน่งที่อยู่ เชื่อว่าหากใช้วิธีนี้จะไม่มีอากาศในถ้ำ

แนวทางการกู้ภัย “หมูป่า” จึงใช้ทั้ง 4 แผน แต่มุ่งที่แผนแรก  แต่ต้องแข่งกับเวลาและปริมาณน้ำ  เมื่อต้องสู้กับน้ำจึงนำเครื่องสูบน้ำเข้าไปสู้ เพื่อให้ชนะพร้อมกันน้ำใหม่เข้ามาเติม โดยได้รับความช่วยเหลือจากทีมกรมอุทยาน ป่าไม้ ตำรวจ ทหาร เข้าไปอุดน้ำได้มากกว่าวันละ 2 หมื่นลูกบาศก์เมตร ซึ่งถือเป็นประโยชน์อย่างมาก

หลังจากกั้นน้ำและสูบน้ำออกได้แล้ว จากนั้นค่อยๆ ดูว่าน้ำจะลดลงได้เมื่อไหร่ จากนั้นปฏิบัติงานไปอย่างต่อเนื่อง  เมื่อได้รับความช่วยเหลือจากอาสาสมัครผู้เชี่ยวชาญดำน้ำถ้ำ จากต่างประเทศมาช่วยเหลือ  ซึ่งทีมต่างชาติชื่นชมทีมดำน้ำหน่วยซีล ทหารเรือของไทยอย่างมาก แต่อาจขาดความเชี่ยวชาญการดำนำถ้ำ  ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญจากอังกฤษ เป็นกลุ่มดำน้ำถ้ำที่เก่งมาก เมื่อทีมดำน้ำถ้ำจากอังกฤษมาถึง วาดแผนผังถ้ำและดำน้ำทันที จากนั้นมีทีมดำน้ำจากนานาชาติเข้ามาช่วยเหลือ สุดท้ายแล้วปฏิบัติการก็สำเร็จ!! นำทีมหมูป่า 13 ชีวิตออกมาได้อย่างปลอดภัยในวันที่ 10 กรกฎาคม 2561

หมูป่า ถ้ำหลวง
รูปเฟซบุ๊ก Thai NavySEAL

ถอดบทเรียน“พลิกวิกฤติเป็นโอกาส”

ผู้ว่าฯ ณรงค์ศักดิ์ กล่าวว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น หลังจากนี้จะนำมาถอดบทเรียนว่าจุดอ่อนและจุดแข็งอยู่ตรงไหน เพื่อวางแผนป้องกันในอนาคต บางเรื่องจะนำไปสอนนักเรียนว่าการเข้าถ้ำหน้าน้ำเป็นสิ่งที่อันตราย  ต่อไปอุทยานจะต้องมีฤดูเปิดและปิดถ้ำ

สำหรับถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน จะมีการยกระดับจากวนอุทยานเป็นอุทยาน มีหอประวัติศาสตร์ของเหตุการณ์ครั้งนี้  เชื่อว่าจะเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ชาวไทยและชาวโลกติดตาม ซึ่งจะเป็นอีกจุดขายให้ อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงรายและอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย “เราพลิกวิกฤติเป็นโอกาส”

อีกประเด็นสำคัญที่ได้เรียนรู้จากเหตุการณ์เด็กหายธรรมดาที่คิดว่าเป็นเรื่องง่าย คิดว่าเป็นงานกู้ภัยธรรมดาก็สามารถแก้ไขสถานการณ์นี้ได้  แต่ปรากฎว่าต้องไปขอความช่วยเหลือหน่วยซีลไทย และนักดำน้ำถ้ำจากทั่วโลก กลายเป็นงานกู้ภัยระดับโลก

บทเรียนที่ได้รับในครั้งนี้ คือ ห้ามประเมินสถานการณ์ผิด ต้องมีความพร้อมในการแก้ไขปัญหา อุปกรณ์เครื่องมือต่างๆ ที่จะนำมาใช้งานต้องมีแผน ครั้งนี้จึงเป็นบทเรียนระดับโลก ที่ต้องจัดทำรายชื่อของนักดำน้ำถ้ำระดับโลกว่ามีอยู่ที่ใดบ้าง ,ทีมกู้ภัยไทย,ยุโรป,สหรัฐ ,จีน,ญี่ปุ่น  ทีมผู้เชี่ยวชาญด้านดาวเทียมแต่ละประเทศ  เมื่อเกิดเหตุการณ์ลักษณะนี้ จะได้สามารถดึงข้อมูลผู้เชี่ยวชาญจากประเทศต่างๆ  เพื่อประมวลผล และเชิญมาร่วมทำงานได้ทันที  “ผมว่าเป็นบทเรียนที่ดี ที่ได้เรียนรู้จากเหตุการณ์นี้”

อีกประเด็นสำคัญ เมื่อความสำเร็จเกิดขึ้น ต้องไม่ลืมเรื่องอื่น โดยเฉพาะการเสียสละที่กล้าหาญของ “น.ต.สมาน กุนัน” หรือ “จ่าแซม” ที่สูญเสียชีวิตจากการกู้ภัยครั้งนี้  ทีมปฏิบัติงานทุกคนรู้สึกเสียใจกับความสูญเสียครั้งนี้

“ผมเสียใจมากกับการสูญเสียครั้งนี้ในฐานะหัวหน้าทีม เชื่อว่าพี่จ่าแซม จะอยู่ในความทรงจำของน้องๆ ทุกคน และในชั่วชีวิตผมจะจำจ่าแซมไว้ตลอด เพราะเป็นบุคคลที่มีบุคคลกับผมอย่างมากในภารกิจนี้”

จ่าแซม หมูป่า ถ้ำหลวง
รูปเฟซบุ๊ก Thai NavySEAL

 ฝากข้อคิด“ดูแลหมูป่า 13 ชีวิต”

สำหรับการทำงานกู้ภัยครั้งที่ยากลำบากนี้ ผู้ว่าฯ ณรงค์ศักดิ์ เล่าว่าทีมงานทำด้วยความเชื่อมั่นว่า จะช่วยน้องๆ หมูป่าไว้ได้  จึงต้องการบอกว่า “คนเราไม่ว่าจะทำอะไรก็ตาม ขอให้มีความเชื่อมั่น มีความมั่นใจว่า สิ่งที่ทำถูกต้อง และต้องมีความหวัง”

“สื่อมวลชนชอบกดดันผมว่า ยังเชื่ออีกเหรอว่าน้องๆ ยังอยู่ปลอดภัย ผมบอกว่าผมเชื่อทุกวัน เพราะไปหาข้อมูลทฤษฎีการแพทย์ว่าคนเราอยู่ได้ 30 วัน โดยไม่รับประทานอาหาร  สื่อยังบอกว่าผมมั่วหรือเปล่า แต่สิ่งที่เกิดขึ้นก็พิสูจน์ว่าน้องๆ ยังอยู่ได้ ความมุ่งมั่น ความเชื่อมั่น จากคนเป็นหมื่นคนที่ได้ทำให้น้องๆ หมูป่า เชื่อว่าบุญกุศลที่ได้ทำในครั้งนี้ ทุกคนประสบความสุขความเจริญ”

หลังจากทีมกู้ภัยทำภารกิจ ช่วยเหลือทีมหมูป่าสำเร็จแล้ว ทุกคนมีความภูมิใจ แต่คนที่อาจลำบากในอนาคตคือ น้องๆ หมูป่า 13 คน ที่ต้องบอกว่าพวกเขา “ไม่ใช่พระเอกและไม่ใช่ผู้ร้าย แต่พวกเขาเป็นเพียงเด็กน้อยกลุ่มหนึ่งที่มีความกระตือรือร้น เล่นกีฬาออกกำลังกาย มีความอยากรู้อยากเห็น แต่วันนี้ได้รับบทเรียนพอสมควร”

ส่วนผู้ใหญ่ที่จะดูแลน้องๆ หมูป่า หากดูแลผิดไป น้องๆ จะมีความกดดันสูง และจะดำรงชีวิตความเป็นอยู่อย่างลำบาก โดยต้องดูแลน้องๆ อย่างคนปกติธรรมดา ไม่ใช่ดูแลอย่างคนที่ประสบความสำเร็จ หรือดูแลอย่างผู้บกพร่อง เป็นสิ่งที่ต้องฝากไว้ด้วย

หมูป่า ถ้ำหลวง น.ต.สมาน กุนัน

“เชื่อเหลือเกินว่า หลังจากน้องๆ หมูป่ากลับบ้านแล้ว จะมีกลุ่มสื่อมวลชนทุกสื่อ ไปสอบถามน้องๆ  หรือแม้กระทั่งให้เขียน หรือเล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้น เพื่อแลกกับรายได้บ้างอย่าง มองว่าจะไปกันใหญ่ จึงขอฝากพ่อแม่พี่น้องชุมชน โป่งผา แม่สาย จังหวัดเชียงราย ให้ช่วยดูแลน้องๆ ให้เป็นปกติสุขด้วย เพราะเราได้ช่วยพวกเขาแค่ให้ร่างกายปลอดภัย แต่ต้องดูแลจิตใจให้ปลอดภัยด้วย เพื่อเติบโตขึ้นมาเป็นกำลังของประเทศชาติ ต้องเติบโตเป็นคนดีของสังคม  วันหนึ่งหากพวกเขายืนและปักหลักในอาชีพการงานได้แล้ว  ต้องการเห็นน้องๆ เรียนรู้ว่า มีคนเป็นหมื่นคนที่ช่วยเหลือในภารกิจครั้งนี้ มีคนเป็น 10 ล้านคนที่คอยให้กำลังใจ”

“วันนี้เราเป็นผู้ให้ น้องๆ หมูป่าเป็นผู้รับ วันข้างหน้าหากน้องๆ ปักหลักได้ ต้องการให้น้องๆ เรียนรู้การเป็นผู้ให้บ้าง เพราะจะพบแต่ความสุข แต่หากวันข้างหน้า น้องๆ ไม่สามารถเรียนรู้การเป็นผู้ให้ ก็จะใช้ชีวิตได้ลำบากในชีวิตอนาคต จึงฝากพี่น้องโป่งผา ดูแลน้องๆ หมูป่าด้วย เพราะผมเป็นห่วงจริงๆ”

ย้ำการทำงานสื่อ “ข้อมูลต้องแม่นยำ”

ผู้ว่าฯ ณรงค์ศักดิ์  ยังฝากข้อคิดถึงการทำงานของสื่อมวลชนว่า ช่วงแรกของการทำงานภารกิจกู้ภัยหมูป่า  สื่อมวลชนและสื่อเกรียนคีย์บอร์ด จะกดดันการทำงานมาก  มุ่งสื่อสารข้อมูลรวดเร็ว แต่ข้อมูลผิดและคาดเคลื่อน

“สื่อมวลชนทำข่าวเร็วเป็นเรื่องที่ดี แต่ต้องถูกต้องด้วย  หากเป็นข่าวเร็วแล้วผิดพลาดจะเป็นการให้ข้อมูลที่ผิดต่อสังคม ทำให้เกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อน  ซึ่งส่งผลต่อการปฎิบัติงานของเจ้าหน้าที่ มีหลายข่าวที่นำเสนอคลาดเคลื่อนและผิด ทำให้ทีมปฏิบัติงานต้องเหนื่อยในการชี้แจ้งข้อเท็จจริง แทนที่จะใช้เวลาไปทำงานอื่น”

แต่สิ่งที่สำคัญที่สุด คือ หลังจากเหตุการณ์ผ่านไป 3-4 วันของการค้นหาทีมหมูป่า พบว่าสื่อมวลชนที่อยู่หน้างานกว่า 1,000 คน  รายงานได้ถูกต้อง และให้ความสำคัญกับข่าวสารที่ถูกต้อง รวมทั้งให้ความสำคัญกับทีมประชาสัมพันธ์ ศอร. และทีมผู้บัญชาการเหตุการณ์หน้างานในการแถลงข่าวแต่ละวัร ทุกคนเชื่อข้อมูล และการข้อร้องให้ถอนตัวออกจากพื้นที่หน้างาน เพื่อการปฏิบัติของรถกู้ภัยและรถพยาบาล สื่อมวลชนต่างให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี

“ผมอยากให้เหตุการณ์นี้เป็นบทเรียนในอนาคต หากเกิดเหตุการณ์อะไรก็ตาม ขอให้เคารพในสิทธิและหน้าที่ซึ่งกันและกัน อยากให้สื่อมวลชนเรียนรู้บทเรียนที่โป่งผา และนำไปใช้ในการทำงาน เชื่อว่าการอยู่ร่วมกันระหว่างคนให้ข่าวและผู้สื่อข่าว จะอยู่กันอย่างมีความสุข และผู้สื่อข่าวจะได้ข่าวที่ถูกต้องรวดเร็ว แทนที่จะเป็นข่าวเร็วที่สุดแต่คลาดเคลื่อน อนาคตสื่อมวลชนต้องปรับปรุงตัวเองด้วย เหตุการณ์นี้ถือเป็นบทเรียนสำคัญ”

บทเรียนจากถ้ำหลวงที่โป่งผา อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย เป็นบทเรียนระดับโลก ที่คนทั้งโลก ต้องเรียนรู้นำไปสอนหนังสือ นำไปถอดบทเรียน เตรียมความพร้อม เจ้าหน้าที่ ข้าราชการ ต้องนำไปปรับปรุงการทำงาน สื่อมวลชนนำไปปรับปรุงการทำงาน

งานนี้จะไม่สำเร็จ หากขาดความร่วมมือจากหน่วยงานราชการทั้งหมด จิตอาสา อาสาสมัครกู้ภัย ชาวนาที่เสียสละพื้นที่เพื่อรับน้ำ  สื่อมวลชนและพ่อแม่พี่น้องทั่วประเทศที่เป็นกำลังใจ ถ้าขาดส่วนใด ส่วนหนึ่ง ที่มีบทบาทสำคัญในเหตุการณ์ครั้งนี้ “ผมขอให้ทุกคนมีความสุขมากๆ”

ณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร
รูปเฟซบุ๊ก PR.Chiangrai ประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงราย

The Bangkok Insight เรียบเรียงบทสัมภาษณ์ ณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร ผู้ว่าราชการ จังหวัดพะเยา ในฐานะ ผบ.ศอร. จากเฟซบุ๊ก  PR.Chiangrai ประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงราย

ขอบคุณข้อมูลและรูปจาก เฟซบุ๊กไลฟ์ : PR.Chiangrai ประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงราย กรมประชาสัมพันธ์  และ Thai NavySEAL

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight