COLUMNISTS

3 เทคนิคเริ่มต้นการสื่อสารที่ดีในครอบครัว

612
การสื่อสารในครอบครัว
คุยเมื่อเด็กพร้อมจะฟัง

ครูปุ๊กเชื่อในอานุภาพของการสื่อสาร เมื่อเราพูดคุยกันมากขึ้น เราจะเข้าใจกันมากขึ้น หลายครอบครัวที่ความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกไม่ค่อยดีเพราะสื่อสารความรู้สึกกันน้อยมาก ทำให้เข้าใจผิดกันทั้งที่เมื่อได้พูดคุยเปิดใจกัน เรื่องบางเรื่องอาจไม่เป็นไปอย่างที่เราคิดเลยก็ได้ ครูจึงมักให้แต่ละบ้านแก้ปัญหาความสัมพันธ์โดยการคุยกันให้มากขึ้นแต่จะสำเร็จหรือเปล่าก็ขึ้นอยู่กับความตั้งใจของสมาชิกในครอบครัวทุกคนนะคะสำหรับเด็กๆเมื่อเราต้องการขอความร่วมมืออะไรจากเขาก็ตาม มีเทคนิคในการสื่อสารที่ครูใช้ได้ผลดังต่อไปนี้ค่ะ

1. คุยเมื่อเด็กพร้อมจะฟัง : เด็กต้องนั่งอยู่ตรงหน้า ในระยะใกล้ชิดที่ผู้ใหญ่เอื้อมมือสัมผัสตัวเด็กได้ เพื่อให้เด็กจดจ่อกับสิ่งที่เรากำลังจะพูด ระยะห่างที่เหมาะสมทำให้เด็กได้ยินเสียงเราชัดเจน เราเองก็ได้สังเกตสีหน้า แววตา และคำพูดของเด็กได้ชัดเจนเช่นกัน ไม่ใช่ตะโกนจากชั้น 2 ลงมาชั้นล่างแล้วคาดหวังว่า “เด็กจะฟัง” การพูดคุยเรื่องสำคัญกับเด็กควรอยู่ในห้องที่เป็นสัดส่วน ไกลจากผู้อื่นเดินผ่านไปวุ่นวาย

2. พูดให้สั้น กระชับ ชัดเจน : บอกกับเด็กไปเลยว่า “เขาควรจะปฏิบัติตัวอย่างไร” ไม่ต้องตำหนิ บ่น อารัมภบท ไม่มีเด็กหรือผู้ใหญ่คนไหนอยากฟังเรื่องลบๆนะคะ จากภาพครูปุ๊กกำลังพูดคุยกับเด็กๆเรื่องการปฏิบัติตัวบนรถตู้โดยสาร (เรามีไปทัศนศึกษากันนอกสถานที่ค่ะ) ครูบอกกับเด็กเลยว่า “เดินขึ้นรถทีละคน เมื่อนั่งแล้วจะไม่เปลี่ยนที่ คาดเข็มขัดให้เรียบร้อย และไม่ส่งเสียงดังบนรถตู้” ไม่จำเป็นต้องว่ากล่าวเด็กก่อนทั้งที่เด็กยังไม่ได้ทำอะไรผิด

3. ยกเหตุผลที่เด็กเข้าใจง่าย และรู้สึกตัวเองมีส่วนร่วม : เด็กจะรับฟังและให้ความร่วมมือเมื่อเขาเข้าใจว่าสิ่งที่ผู้ใหญ่กำลังพูดอยู่นี้มีประโยชน์หรืออันตรายใดที่เกี่ยวข้องกับเขา เช่น ครูพูดเรื่องการนั่งเรือแจว ให้นั่งนิ่ง หันหน้าไปด้านหน้า ไม่เดินไปมาบนเรือ เพราะ เรือจะโคลงเคลง และล่มลงได้ มีอันตรายมาก

การพูดคุยประสบความสำเร็จมาก เด็ก ๆ ปฏิบัติตัวได้เหมาะสมตามที่ได้ตกลงกันไว้โดยที่ครูไม่ต้องพูดซ้ำๆบ่อยๆ คุณพ่อคุณแม่ที่หนักใจเรื่องพูดแล้วลูกไม่ฟัง ลองทบทวนดูนะคะว่า

“เราพูดตอนที่ลูกพร้อมฟังหรือไม่”
“เราพูดสั้น กระชับ ชัดเจนหรือไม่”
“เรายกเหตุผลที่ทำให้เขาเข้าใจว่าสิ่งที่จะทำนั้นเขาได้รับประโยชน์หรืออันตรายใดๆหรือไม่”

ลองเอาไปใช้กันดูนะคะ

ด้วยรัก
ครูปุ๊ก