COLUMNISTS

ปิดฉากมาตรการช้อปช่วยชาติ ‘HMPRO-BEAUTY-COM7’ เหนื่อย!!

Avatar photo
EcoIndy คิดต่างสร้างสรรค์
16167

ถือเป็นการส่ง สัญญาณการปิดฉาก “มาตรการช้อปช่วยชาติ” อย่างชัดเจน หลังจาก อภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ออกมาให้สัมภาษณ์ในช่วงปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา

โดยให้เหตุผลว่า ในปีนี้คาดว่าจะไม่ออกมาตรการดังกล่าว เนื่องจากขณะนี้เศรษฐกิจไทย “ฟื้นตัว” แล้ว

หลังจากที่รัฐบาลใช้มาตรการช้อปช่วยชาติ กระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงไตรมาสสุดท้ายของทุกๆปี มาเป็นเวลากว่า 3 ปี (2558-2560)

อย่างไรก็ตาม ในปี 2562 กระทรวงการคลังจะออกมาตรการชดเชยเงินภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ให้กับผู้มีรายได้น้อย ที่ใช้จ่ายผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ หรือ “บัตรสวัสดิการคนจน” ในการซื้อสินค้าทั่วไปที่ถูกคิดภาษีมูลค่าเพิ่ม

หุ้นในกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภคในปีนี้ คงออกอาการ “หืดขึ้นคอ”

จากที่เคยได้รับอานิสงส์เต็มๆ ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ยอดขายสินค้าดีเป็นเทน้ำเทท่า ผู้บริโภค “ตั้งหน้าตั้งตา” ช้อปกระหน่ำในช่วงปลายปี เพราะมี “แต้มต่อ” ในเรื่องของสิทธิลดหย่อนภาษี “ช้อปช่วยชาติ”

ปีนี้เราคงไม่ได้เห็นผู้บริโภคต่อคิวเรียงแถวขอรับใบเสร็จช้อปช่วยชาติ

เพราะปีนี้ “หมดโปรฯ” ทุกอย่างกลับเข้าสู่สภาวะปกติ!!!

ฝ่ายวิจัย บล.เอเซีย พลัส มองว่า การยกเลิกมาตรการช้อปช่วยชาติ จะทำให้เม็ดเงินใช้จ่ายในไตรมาส 4/61 ลดลงราว 2 หมื่นล้านบาทจากช่วงเดียวกันปีก่อน

และทำให้เงินคืนภาษีที่ผู้บริโภคเคยได้รับหายไปราว 2 พันล้านบาท อ้างอิงข้อมูลจากเว็บไซต์บีบีซีไทย

หุ้น “กลุ่มค้าปลีก” ได้รับผลกระทบเป็นวงกว้าง!!!

กระทบมากสุด คือ กลุ่มที่ขายสินค้าฟุ่มเฟือย หรือราคาแพงเป็นหลัก เช่น HMPRO, BEAUTY, COM7 เนื่องจากเชื่อว่าจะรับผลกระทบจากการยกเลิกมาตรการช้อปช่วยชาติมากสุด แต่กลับได้รับผลบวกจากการชดเชย VAT น้อยที่สุด

กระทบปานกลาง คือ กลุ่มที่ขายสินค้าหลากหลาย เช่น BJC, ROBINS เพราะได้รับผลกระทบจากการยกเลิกมาตรการช้อปช่วยชาติปานกลาง ขณะเดียวกันก็รับผลบวกจากการชดเชย VAT ปานกลางเช่นกัน

กระทบน้อยสุด คือ กลุ่มที่ผู้ขายสินค้าอุปโภคและบริโภคเป็นหลัก เช่น CPALL คาดว่ารับผลกระทบจากการยกเลิกมาตรการช้อปช่วยชาติน้อยสุด และรับผลบวกจากการชดเชย VAT น้อยสุดเช่นกัน

การยกเลิกมาตรการช้อปช่วยชาติในปี 2561 เชื่อว่าอาจเป็น “ความเสี่ยง” ต่อประมาณการยอดขายกลุ่มค้าปลีกในปี 2561 เพราะฝ่ายวิจัยกำหนดอัตราการเติบโตของยอดขายสาขาเดิม โดยให้ปี 2561 นี้ มีมาตรการช้อปช่วยชาติด้วย

อย่างไรก็ตาม บล.เอเซีย พลัส ยังคงประมาณการกำไรกลุ่มค้าปลีกไว้เท่าเดิม และให้น้ำหนักลงทุน “เท่าตลาด” เนื่องจากราคาหุ้นในกลุ่มปรับตัวขึ้นใกล้เคียงมูลค่าพื้นฐานแล้ว โดยซื้อขายที่ PER 29 เท่า ใกล้ค่าเฉลี่ย 5 ปีย้อนหลังที่ 28 เท่า

โดยเลือก BJC ที่มี Upside สูง 29.0% เป็น Top pick ของกลุ่ม