Digital Economy

กันไว้ดีกว่าแก้ 8 ช่องทางทำข้อมูลส่วนตัวรั่วไหล

data leak

จากกรณีที่บริษัท เรียล มูฟ จำกัด ผู้ให้บริการเครือข่ายทรูมูฟพบความผิดปกติในการลงทะเบียนโทรศัพท์มือถือประเภทเติมเงินในช่วงเดือน มีนาคม – พฤษภาคม 2561 โดยมีการลงทะเบียนซิมโดยใช้รูปภาพบัตรประชาชนและรูปหน้าตรงของ พล.อ.ประยุกธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จำนวน 55 เลขหมาย และนำไปสู่การจับกุมนายพีระเมศร์ วงศ์ทองเกื้อ เป็นผู้ต้องหาในคดีนี้นั้น

เชื่อว่าหลายคนคงไม่ปฏิเสธว่าการหาภาพของบุคคลระดับนายกรัฐมนตรีนั้นไม่ใช่เรื่องยาก ส่วนการหาเลขที่บัตรประชาชนที่ควรจะทำให้มันยากนั้น บางทีก็อาจมีการรั่วไหลในระดับที่เราลืมนึกกันไป วันนี้ ทีมงานจึงขอนำหลาย ๆ กรณีที่อาจกลายเป็นต้นเหตุของการหลุดรั่วของข้อมูลมาฝากกัน เพื่อให้ท่านผู้อ่านได้ระวังตัวกันมากขึ้น เริ่มจาก

เมมโมรี่ในเครื่องถ่ายเอกสาร

เครื่องถ่ายเอกสารรุ่นใหม่ ๆ จะมีเมมโมรี่มาพร้อมกับตัวเครื่อง ดังนั้น ในกรณีที่เรานำบัตรประชาชนไปถ่ายสำเนาที่ร้านถ่ายเอกสารเหล่านั้น ก็มีสิทธิที่ข้อมูลในบัตรประชาชนของเราจะติดอยู่ในเมมโมรี่ของเครื่อง และถูกปรินท์ออกมาเมื่อไรก็ได้ที่ต้องการ

เหตุการณ์ PaperJam

การนำบัตรประชาชนไปถ่ายเอกสาร อีกหนึ่งเหตุการณ์ที่อาจพบได้ก็คือปัญหากระดาษติด ซึ่งทางร้านก็จะถ่ายเอกสารชุดใหม่มาให้ ส่วนเอกสารชุดที่มีปัญหานั้น ส่วนมากทางผู้ไปถ่ายเอกสารมักไม่ขอมาด้วย ทีนี้ก็ขึ้นอยู่กับว่าทางร้านถ่ายเอกสารมีนโยบายในการจัดการอย่างไร ถ้าจัดการได้ไม่ดีพอ ข้อมูลส่วนตัวของเราก็มีสิทธิที่จะรั่วไหลออกสู่ภายนอกได้แล้ว

สถาบันการศึกษา

ในการประกาศผลสอบ นอกเหนือจากชื่อเสียงเรียงนามของเด็กที่สอบแล้ว สถาบันการศึกษาจำนวนไม่น้อยเลือกที่จะประกาศเลขที่บัตรประชาชนของเด็กนักเรียนออกมาด้วย ซึ่งข้อนี้ถือเป็นการกระทำโดยขาดความตระหนักในด้านความเป็นส่วนตัวของข้อมูลอย่างไม่น่าให้อภัย และทำให้ใครก็ตามที่มีกล้องถ่ายภาพก็สามารถเก็บข้อมูลส่วนตัวของเด็ก ๆ มาได้โดยง่าย

ไลน์กลุ่ม

จากเหตุการณ์ข้างบน ข้อมูลของเด็ก ๆ จะถูกนำเข้าสู่โลกออนไลน์ได้โดยง่าย หากมีพ่อแม่สักคนที่ขาดความตระหนักในเรื่องความเป็นส่วนตัวของข้อมูล “โพสต์” ข้อมูลเหล่านั้นลงใน “ไลน์กลุ่ม” หรือแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียอื่น ๆ (เช่น เฟซบุ๊ก) โดยในมุมของพ่อแม่อาจมีความภูมิใจที่ลูก ๆ สอบติด สามารถเข้าเรียนในสถานศึกษาเหล่านั้นได้ แต่สิ่งที่โพสต์ลงไป นอกจากจะทำให้ลูกตนเองมีความเสี่ยงแล้ว ยังทำให้เพื่อน ๆ ของลูกอีกนับสิบชีวิตเสี่ยงไปด้วยนั่นเอง

โทรศัพท์มือถือหาย หรือขายต่อ

หลาย ๆ คนคงทราบกันดีถึงความร้ายแรงของการที่ข้อมูลส่วนบุคคลในโทรศัพท์มือถือหลุดรั่วออกไปสู่โลกภายนอก ซึ่งการจะป้องกันความเสี่ยงในข้อนี้ ทำได้สองทาง นั่นคือทางหนึ่งไม่ควรขายโทรศัพท์ต่อ แต่ถ้าทำไม่ได้ ก็ไม่ควรบันทึกข้อมูลที่ไม่เหมาะสม หรือข้อมูลส่วนตัวใด ๆ ลงในโทรศัพท์

การถูกล่อลวงทางอินเทอร์เน็ต

หรือก็คือการถูก Phising กับการส่งลิงค์มาหลอกทางอีเมล เพื่อให้เราเข้าไปกรอกข้อมูลส่วนบุคคลในเว็บไซต์นั่นเอง

การถูกล่อลวงทางโทรศัพท์

ข้อนี้ไม่ได้มาทางอินเทอร์เน็ต แต่เป็นกลุ่มมิจฉาชีพโทรมาหาทางโทรศัพท์และหลอกถามข้อมูลต่าง ๆ รวมถึงเลขที่บัตรประชาชน เพื่อนำไปใช้กระทำการทุจริตต่อไป

บริษัทที่นำข้อมูลของเราไปขาดความรับผิดชอบ

สุดท้าย แม้เราจะระมัดระวังอย่างดีแค่ไหน แต่ก็มีหลายกรณีที่เคยเกิดขึ้นจากการที่บริษัทเอกชน หรือหน่วยงานต่าง ๆ ไม่ดูแลรักษาข้อมูลของเราให้ดี หรือไม่มีระบบในการจัดเก็บและทำลายเอกสาร ซึ่งจะส่งผลให้ข้อมูลสำคัญของลูกค้าถูกปล่อยออกไปสู่โลกออนไลน์ได้โดยง่าย หรือบางครั้งก็พบว่าข้อมูลของเรากลายเป็นกระดาษรียูสให้ผู้อื่นได้นำไปใช้ต่อก็มี ซึ่งประเด็นนี้ จะกลายเป็นเรื่องใหญ่มากหากกฎหมายใหม่อย่าง (ร่าง) พระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ได้รับการบังคับใช้อย่างเป็นทางการ โดยโทษมีทั้งจำทั้งปรับ และเป็นหลักแสนเสียด้วย

 

Avatar photo