Economics

GC ใช้ศิลปะ สื่อสาร ‘Circular Living’ ผ่านมุมมองเด็กๆ

GC ใช้ศิลปะภาพระบายสี สื่อสารเศรษฐกิจหมุนเวียน ผ่านมุมมองเด็ก หวังสร้างระบบนิเวศ นำขยะพลาสติกกลับมาใช้ใหม่ ตอบเป้าหมาย Zero Waste

วันนี้ (19 พ.ย.) บริษัทพีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC จัดโครงการประกวดวาดภาพระบายสี “มหัศจรรย์ ปิโตรเคมี ปี 5” หัวข้อ “GC Circular Living for Better World” มีเยาวชนจากทั่วประเทศส่งผลงานเข้าประกวดจำนวน 1,051 ชิ้น โดยคณะกรรมการตัดสินการประกวด จากคณาจารย์ในแวดวงศิลปะของสถาบันการศึกษาต่างๆ รวมไปถึงนักวิชาการด้านปิโตรเคมี ช่วยกันคัดเลือกผลงานได้รับรางวัลรวม 40 ชิ้น

Upcycling05 01

ดร.คงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร GC กล่าวว่า วัตถุประสงค์ของการจัดโครงการนี้ต้องการให้เด็กๆเข้าใจในเรื่องปิโตรเคมี และเข้าใจหลักการ เรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ซึ่ง GC ดำเนินการในเรื่อง Circular Living อยู่แล้ว

IMG 20191119 145631

จึงต้องการสนับสนุนให้เด็กๆได้วาดภาพ ซึ่งเป็นสิ่งที่รัก พร้อมกับถ่ายทอดเรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียน ซึ่งเชื่อว่าการสื่อสารผ่านสายตาเด็กๆจะเข้าใจง่าย ขณะเดียวกันก็สร้างสรรค์ออกมาเป็นผลงานศิลปะที่สวยงาม และในปีต่อไปจะส่งเสริมให้มีการสื่อสารปิโตรเคมี ผ่านศิลปะทุกแขนง เช่น ประติมากรรม เป็นต้น

timeline 20191119 160654

“สิ่งที่เราทำเรื่อง เศรษฐกิจหมุนเวียน ทั้งโครงการนี้ และโครงการอื่นๆ ก็เพื่อจุดประกาย และสร้างโมเมนตัม รวมถึงสร้างแนวร่วม ซึ่งเด็กๆเป็นส่วนที่สำคัญมาก หากเข้าใจ ก็จะสามารถขยายผลไปยังคนรอบข้างของเขา ทั้งครอบครัว เพื่อน และเติบโตด้วยความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง ตรงกับหัวใจการทำงานของเรา ที่ต้องการทำสิ่งเล็กๆไปหาใหญ่ และทำอะไรก็ตามต้องจับต้องได้จริง “

IMG 20191119 140839

สำหรับจุดยืนของ GC ในเรื่องขยะพลาสติกนั้น ไม่สนับสนุนให้แบนพลาสติก เพราะพลาสติกกว่าจะผลิตได้มีกระบวนการ และขั้นตอนมากมาย ขณะเดียวก็มาช่วย ทำให้ชีวิตประจำวันของผู้คน มีความสะดวกสบายมากขึ้น แต่เราสนับสนุนให้ทุกคนมีทางเลือก ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

ดังนั้นจึงเสนอทางออกให้ทุกคน ทั้งไบโอพลาสติกย่อยสลายได้ 100% ที่ GC ผลิตอยู่ และการรีไซเคิลขยะพลาสติก ที่ GC กำลังเริ่มก่อสร้างเป็นต้นแบบ รวมถึงการ Upcycling ขยะพลาสติก นำไปทำเป็นเสื้อ กระเป๋า หรือแม้แต่จีวรพระ สร้างมูลค่าเพิ่มได้มากมาย

IMG 20191119 145208

สิ่งที่จะต้องช่วยกัน คือ สร้างระบบนิเวศ (Ecosystem) เพื่อนำพลาสติกใช้แล้ว กลับมาใช้ใหม่ให้มากที่สุด ที่ผ่านมา GC จึงมุ่งเน้นสร้างความรู้ความเข้าใจ ทั้งรัฐ เอกชน และลูกค้า เพื่อไปสู่เป้าหมายใหญ่  Zero Waste โดยเรากำลังเลิกใช้พลาสติกครั้งเดียวทิ้ง (Single-use plastics)ใน 5 ปี  แต่จะทำเลยไม่ได้ ต้องให้เวลาคนที่นำเม็ดพลาสติกของเราไปใช้ให้ปรับตัว  โดยขณะนี้ทำงานร่วมกันอยู่ เพื่อให้เกิดการเตรียมความพร้อม เพราะเรามีหลักเสมอว่า จะทำอะไรก็ตามต้องไม่ทิ้งใครไว้เบื้องหลัง

สำหรับแต่ละภาพวาดของเด็กๆภายใต้ หัวข้อ “GC Circular Living for Better World” มีการถ่ายทอดในเชิงบวก และมีความหมาย โดยเฉพาะเด็กเล็ก ที่เข้าใจหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนได้อย่างดี

IMG 20191119 141110 ตัด

ภาพ “ขาเทียม” รางวัลชนะเลิศระดับประถมศึกษา ของ ด.ช.ภทรธร อนันตะแวง อายุ 8 ปี ชั้นป.2 โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยมหาสารคาม (ฝ่ายประถม) จังหวัดมหาสารคาม บอกมุมมองของเขา ผ่านภาพวาดที่สื่อตรงไปตรงมาอย่างอ่อนโยน ว่า เป็นภาพเด็กเก็บขยะ นำไปรีไซเคิลเป็นขาเทียมให้ผู้พิการขา

“ขยะมันเยอะ เลยวาดเป็นเด็กเก็บขยะ นำไปรีไซเคิลเป็นขาเทียม เป็นกระเป๋า เป็นเสื้อผ้า จะได้ลดโลกร้อน แต่ก็ต้องคัดแยกก่อน เป็นเศษอาหาร เป็นพลาสติก “

IMG 20191119 141122

ขณะที่ภาพ “แก้วน้ำของผม” ของด.ช.กุลกันต์ ยันต์วิเศษ อายุ 7 ปี นักเรียนโรงเรียนบ้านคลองตาลกระจ่างจินดา จังหวัดสุโขทัย กับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ก็น่าสนใจไม่น้อย เขา เล่าว่า โลกร้อน เลยอยากให้ทุกคนใช้แก้วน้ำเยติ ใช้ซ้ำได้ ทำให้ผลิตแก้วใหม่น้อยลง เลิกทิ้งขยะเกลื่อนกลาด และลงทะเล ทำให้สัตว์ทะเลกินเข้าไปต้องตายลง ” 

IMG 20191119 141139 ตัด

อีกภาพก็สะท้อนสิ่งแวดล้อมที่สะอาดรอบตัวของ ด.ญ.อภินันทนี รุ่งสุริยากรณ์ อายุ 7 ปี โรงเรียนเมรี่อิมมาคุเลตคอนแวนต์ จังหวัดชลบุรี รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2

ภาพนี้มีเธอเป็นศูนย์กลางโอบล้อมไปด้วยน้ำ และอากาศที่สะอาด มีปลาว่ายน้ำไปมาในน้ำใส และผู้คนรอบตัวเธอ มีแต่ความสุข เธอ บอกว่า เราต้องเก็บขยะ นำไปรีไซเคิล และต้องปลูกต้นไม้ “บ้านหนูเป็นแบบนี้ ก็เลยอยากให้ที่อื่นเป็นเหมือนกัน “

IMG 20191119 141051 ตัด

ในปีนี้มีการมอบรางวัล CEO’s Choice ด้วย ให้กับภาพชื่อ “หมุนเวียนสู่โลกอนาคต” ของ ด.ช.ธีรยุทธ สีทานันท์ นักเรียนชั้นป.6 โรงเรียนแก้วอินทร์สุธาอุทิศ จังหวัดนนทบุรี ซึ่งภาพของเขาสื่อสารด้วยสัญลักษณ์รีไซเคิล ที่ทุกคนเข้าใจได้

เขา บอกว่า สัญลักษณ์ลูกศรชี้ขั้นลงเป็นวงกลม แสดงถึงการรีไซเคิล จึงวาดออกมา เพราะนึกถึง การนำขยะกลับมาใช้ใหม่ แต่ต้องคัดแยกก่อน เป็นเศษอาหาร เอาไปให้หมูกิน และพลาสติกเอารีไซเคิล “ขยะจะได้ไม่ล้นโลก”

สายตาของเด็กๆต่อปัญหาขยะ ที่สะท้อนออกมาเป็นภาพวาดระบายสีแต่ละภาพ อาจไม่สัดส่วนแบบศิลปินชั้นเอกอุ แต่ให้ความหมายที่ทุกคนเข้าใจได้ดี เพราะเรื่อง “ขยะ” อยู่ใกล้ตัวของทุกคน เหลืออยู่ที่การต่อยอดความคิดไปสู่การลงมือปฏิบัติ เพื่อช่วยกันแก้ไขเท่านั้น  

Avatar photo