Business

‘นกแอร์’ ขายตั๋วพรีเมี่ยม แต่อัพราคาแค่ 300 บาท หวังดึงลูกค้ากำลังซื้อสูง

“นกแอร์” ปรับกลยุทธ์! ปีหน้าจัดที่นั่งพรีเมี่ยม 20% แต่อัพราคาขายแค่ 300 บาท หวังโกยเงินจากลูกค้ากำลังซื้อสูง ลุยขยายเส้นทางบินระยะไกล จีน-อินเดีย-ญี่ปุ่น ลดต้นทุนต่อหน่วย

s01 154 Crop

นายวุฒิภูมิ จุฬางกูร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สายการบินนกแอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ NOK ผู้ให้บริการสายการบินนกแอร์ เปิดเผยว่า ในไตรมาสที่ 3 ปี 2562 บริษัทมีผลขาดทุนลดลง 50% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และมีสภาพคล่องดีขึ้น เนื่องจากบริษัทมีเงินกู้จากผู้ถือหุ้นใหญ่จำนวน 3,000 ล้านบาทมาเสริมสภาพคล่องและยังมีวงเงินเหลืออีกกว่า 1,000 ล้านบาท ส่วนผลประกอบการรวมในปี 2562 ก็มีแนวโน้มขาดทุนลดลงจากปี 2561 ที่มีผลขาดทุนสุทธิอยู่ที่ 2,786.76 ล้านบาท

ตัวเลขความตรงเวลาของเที่ยวบินนกแอร์ก็ดีขึ้นจากระดับ 60% เป็น 85% เนื่องจากนกแอร์ได้ลงทุน 100 บาท ตั้งคลังเก็บชิ้นส่วนและอะไหล่ภายในสนามบินดอนเมือง เพื่อให้สามารถซ่อมบำรุงเครื่องบินได้ทันทีเมื่อเกิดปัญหา ไม่ต้องจอดเครื่องบินเพื่อรออะไหล่จากต่างประเทศ 3-4 วันเหมือนในอดีต นอกจากนี้ในเดือนธันวาคม 2562 นกแอร์จะเปิดเส้นทางใหม่ ดอนเมือง-ฮิโรชิม่า ประเทศญี่ปุ่น และจะรับมอบเครื่องบินโบอิ้ง 737-800 ที่เป็นเครื่องเช่าจำนวน 2 ลำ ส่งผลให้ฝูงบินทั้งหมดเพิ่มเป็น 24 ลำ

นกแอร์ 2

บินไกลขึ้น ลดต้นทุน

ในต้นเดือนธันวาคม 2562 นกแอร์ก็จะเสนอแผนดำเนินการปี 2563 และแผนฟื้นฟูให้คณะกรรมการ (บอร์ด) พิจารณาอีกครั้ง หลังจากบอร์ดได้ขอให้ฝ่ายบริหารกลับไปทบทวนแผนฟื้นฟู เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน โดยเฉพาะราคาน้ำมันที่ลดลงและอัตราแลกเปลี่ยน (Fx) ที่แข็งค่ามากขึ้น โดยเมื่อบอร์ดอนุมัติแผนดำเนินการต่างๆ แล้ว ก็มีความชัดเจนว่า บริษัทต้องเพิ่มทุนอีกครั้งหรือไม่ และต้องเพิ่มทุนด้วยวงเงินเท่าไหร่

นอกจากนี้ บริษัทประเมินว่าสถานการณ์การแข่งขันในปี 2563 จะรุนแรงกว่าปีนี้  เนื่องจากสายการบินต่างๆ จะรับมอบเครื่องบินใหม่จำนวนมาก ทำให้นกแอร์ต้องเร่งปรับตัวเพื่อรองรับการแข่งขัน ด้วยการเพิ่มรายได้และลดรายจ่ายอย่างต่อเนื่อง

สำหรับแผนลดรายจ่ายนั้น บริษัทจะเร่งลดค่าใช้จ่ายด้านการซ่อมบำรุง โดยล่าสุดได้มีการเปลี่ยนคู่สัญญาบริษัทซ่อมบำรุงเครื่องบิน จากเดิมต้องนำเครื่องนกแอร์ไปซ่อมที่ประเทศสิงคโปร์ ก็เปลี่ยนมาเป็น การลงทุนตั้งศูนย์ซ่อมเอง ซึ่งการลงทุนศูนย์ซ่อมเองจะทำให้นกแอร์ลดค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ลงกว่า 10% และจะเพิ่มอัตราการใช้เครื่องบินให้สูงขึ้นด้วย

“ปีหน้านกแอร์จะขยายสัดส่วนเส้นทางบินระหว่างต่างประเทศให้เพิ่มจาก 20% เป็น 30% เพื่อเพิ่มอัตราการใช้เครื่องบินจาก 11 ชั่วโมงในสิ้นปีนี้ เป็น 12 ชั่วโมงต่อวันในปีหน้า ซึ่งช่วยลดต้นทุนต่อหน่วยลง โดยมีแผนที่จะเปิดเส้นทางบินเพิ่ม 3 ประเทศ คือญี่ปุ่น อินเดีย และจีน เช่น ดอนเมือง-โอกินาวา, ดอนเมือง-คาโกชิมะ, ดอนเมือง-วิสาขพนัม, ดอนเมือง-อี้อู ,ดอนเมือง-เห่อเป่ย เป็นต้น” นายวุฒิภูมิ

นกแอร์ 4

กันที่นั่ง 20% ขายตั๋วพรีเมี่ยม

ขณะเดียวกันบริษัทยังเดินหน้าหารายได้เพิ่มเติม โดยในช่วงครึ่งแรกของปี 2563 มีแผนที่จะเปิดบริการขายสินค้าออนไลน์ โดยเน้นอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่มีราคาสูง ในระดับพันบาทจนไปถึงหมื่นบาท จากปกติจะเน้นขายสินค้าที่จับต้องได้ง่ายราคาประมาณ 200 บาท ซึ่งจะสอดคล้องกับกลยุทธ์การขยายเส้นทางระหว่างประเทศ

นอกจากนี้ ในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปีหน้า นกแอร์จะปรับกลยุทธ์การขายครั้งสำคัญ โดยตั้งเป้าที่จะขายบัตรโดยสารแบบพรีเมี่ยมในสัดส่วน 20% ของที่นั่งทั้งหมด แต่ราคาที่ผู้โดยสารต้องจ่ายเพิ่มอาจไม่มากนัก เริ่มต้นตั้งแต่ 300 บาทขึ้นไป และผู้โดยสารจะได้กับสิทธิพิเศษต่างๆ เช่น น้ำหนักกระเป๋าเพิ่มเป็น 20 กิโลกรัม มีน้ำ อาหารว่าง และสามารถเลื่อนเที่ยวบินโดยไม่เสียค่าธรรมเนียม

สำหรับกลุ่มเป้าหมายของตั๋วแบบพรีเมี่ยม คือผู้โดยสารนกแอร์ที่มีกำลังซื้อสูง ซึ่งมีอยู่จำนวนไม่น้อย รวมทั้งจะมีการเพิ่มช่องทางจำหน่ายตั๋วผ่านร้านหนังสือซีเอ็ด บุ๊ก ที่ บริษัทเครือซัมมิท กรุ๊ป ถือหุ้นอยู่กว่า 350 สาขาทั่วประเทศ โดยจะนำร่องสาขาในกรุงเทพฯ ก่อน

ขณะเดียวกันจะเพิ่มบริการเสริมบนเที่ยวบินให้มากขึ้น  เช่น ขายน้ำหนักกระเป๋า, ขายที่นั่ง, ของที่ระลึก, ขายประกันการเดินทาง และขายตั๋วพรีเมี่ยม ซึ่งในส่วนนี้ปัจจุบันทำรายได้กว่า 1,600 ล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วนรายได้ที่ 15% และมีแผนที่จะปรับแผนให้รายได้ส่วนนี้เพิ่มขึ้นเป็น 17% ในปี 2563 และ 20%ในปีต่อๆ ไป

Avatar photo