Media

เจาะอินไซต์รับชม ‘สื่อเคลื่อนไหว’ ออนไลน์สร้าง ‘ช่องว่างระหว่างวัย’

โครงการสำรวจพฤติกรรมและแนวโน้มการบริโภคสื่อของไทย ปี 2562 จัดทำโดยสำนักนโยบายและวิชาการกระจายเสียงและโทรทัศน์ สำนักงาน กสทช. ร่วมกับสถาบันอาณาบริเวณศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ทำการสำรวจกลุ่มตัวอย่าง 10,000 ครัวเรือนทั่วประเทศ รวม 26 จังหวัด

การสำรวจพฤติกรรม “สื่อภาพเคลื่อนไหว” ครั้งนี้ ได้เน้นเฉพาะรายการโทรทัศน์ ทั้งรายการปกติซึ่งรับชมสดตามตารางการออกอากาศ/ผังรายการ และการรับชมย้อนหลังหรือรับชมตามความต้องการ รวมถึงการรับชมวิดีโอตามความต้องการหรือวิดีโอออนดีมานด์ (Video on Demand) ผ่านเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชันต่างๆ โดยแบ่งกลุ่มตัวอย่างออกเป็น 5 เจน

พฤติกรรมการรับชมสื่อเคลื่อนไหว

ผลสำรวจพบว่า อุปกรณ์หลักที่ผู้ชมใช้รับชมคือ เครื่องรับโทรทัศน์ดิจิทัล 33.6% โทรศัพท์เคลื่อนที่ 27.2% เครื่องรับโทรทัศน์แอนะล็อก 20.1% สมาร์ททีวี 11.1% ที่เหลือเป็นการรับชมผ่านทางคอมพิวเตอร์ทั้งตั้งโต๊ะ และคอมพิวเตอร์พกพา หรือโน้ตบุ๊ก รวมกัน 8%

ส่วนสถานที่รับชมนั้น ส่วนใหญ่เป็นการรับชมจากที่พักถึง 93.6% ที่เหลือเป็นการรับชมจากที่ทำงาน 4.9% รับชมระหว่างเดินทาง และสถานที่อื่นๆ 1.2% และ 0.3% ตามลำดับ

สถานทีรับชม

สำหรับระยะเวลาโดยเฉลี่ยในการรับชมสื่อภาพเคลื่อนไหว พบว่า ผู้ชมส่วนใหญ่ใช้เวลามากกว่า 2-4 ชั่วโมงต่อวัน เป็นสัดส่วนที่สูงที่สุดถึง 36.9% รองลงมาเป็นการใช้เวลารับชม 1-2 ชั่วโมงต่อวัน ในสัดส่วน 32.6% ในขณะที่กลุ่มผู้ชมที่ใช้เวลามากกว่า 4-6 ชั่วโมงต่อวันมีสัดส่วน 15.6% กลุ่มที่เหลืออื่นๆ ใช้เวลามากกว่า 6 ชั่วโมงต่อวันและน้อยกว่า 1 ชั่วโมงต่อวัน ในสัดส่วน 7.9% และ 7.0% ตามลำดับ

ขณะที่ช่วงเวลารับชมของผู้ชมส่วนใหญ่กระจุกตัวอยู่ในช่วงเวลา 18.01-22.00 น. ที่มีสัดส่วนสูงถึง 70.9% เนื่องจากเป็นช่วงเวลาหลังเลิกงาน ผู้ชมมีเวลาว่าง จึงมีความสะดวกในการรับชมทีวีสูงสุด ส่วนช่วงเวลาอื่นๆ มีสัดส่วนการรับชมใกล้เคียงกัน ได้แก่ ช่วงเวลาตั้งแต่ 10.01-14.00 น. และ 22.01-02.00 น. ในสัดส่วน 7.8% เท่ากัน ซึ่งช่วงเวลาที่มีผู้รับชมทีวีน้อยที่สุดเป็นช่วงเวลา 02.01-06.00 น. ที่เป็นช่วงเวลานอนพักผ่อน มีสัดส่วนผู้ชมทีวีอยู่เพียง 0.3% เท่านั้น

ช่วงเวลารับชม

พฤติกรรมการรับชมรายการย้อนหลัง หรือออนดีมานด์ (On Demand) เทคโนโลยีและการขยายการครอบคลุมของเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ทั้งในเรื่องความครอบคลุมในการเข้าถึงความเร็วของสัญญาณ และประสิทธิภาพในการรับส่งข้อมูล ทำให้ผู้ชมมีทางเลือกมากขึ้น ส่งผลให้พฤติกรรมการรับชมรายการตามความต้องการหรือออนดีมานด์ (On Demand) เติบโตสูงขึ้น

อย่างไรก็ตาม ยังพบว่า ผู้ชมรายการส่วนใหญ่กว่า 84.9% ยังคงรับชมรายการสดตามตารางการออกอากาศของ สถานีโทรทัศน์ โดย 49.9% เป็นผู้รับชมสดตามตารางการออกอากาศเท่านั้น และอีก 35% เป็นการรับชมสดตามตารางการออกอากาศควบคู่ไปกับการรับชมแบบออน ดีมานด์ ขณะที่ 15.1% เป็นการรับชมแบบ ออนดีมานด์ เพียงอย่างเดียว

ทั้งนี้ จึงสะท้อนให้เห็นความสำคัญของกิจการโทรทัศน์ที่ออกอากาศตามผังรายการปกติที่ยังคงมีอิทธิพลอยู่มากต่อประชาชนในยุคของความก้าวหน้าของเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ต

รูปแบบ

หากพิจารณาจากช่วงกลุ่มอายุพบว่า รูปแบบของการรับชมตามตารางการออกอากาศยังคงได้รับความนิยมสูงในกลุ่มเจเนอเรชัน เอกซ์ ขึ้นไป กล่าวคือ เจเนอเรชัน จี.ไอ. ที่มีอายุมากกว่า 76 ปีขึ้นไป นิยมการรับชมสดตามตารางที่ออกอากาศมากที่สุดถึง 97.1% รองลงมาเป็นกลุ่มเบบี้บูมเมอร์ 85.3% เจเนอเรชัน เอกซ์ 65.6% และเจเนอเรชัน วาย 41.0% โดยที่กลุ่มเจเนอเรชัน แซด เป็นกลุ่มที่รับชมรายการสดน้อยที่สุด สะท้อนให้เห็นว่า การแพร่ภาพออกอากาศโทรทัศน์โดยสถานีส่งสัญญาณภาพออกอากาศจะมีฐานผู้รับชมเป็นคนช่วงวัยตั้งแต่อายุ 42 ปีขึ้นไป

ในทางกลับกัน การรับชมรายการแบบย้อนหลัง และ On Demand นั้น ได้รับความนิยมสูงสุดจากกลุ่มเจเนอเรชัน แซด มากที่สุดถึง 28.5% สะท้อนถึงพฤติกรรมการเป็นชาวดิจิทัลโดยกำเนิด (Digital Native) รองลงมาเป็นกลุ่มเจเนอเรชัน วาย 17.9% กลุ่มเจเนอเรชัน เอกซ์ 6.7% และกลุ่มเบบี้ บูมเมอร์เพียง 1.9% โดยที่กลุ่มเจเนอเรชัน จี.ไอ. ไม่นิยมการรับชมย้อนหลังหรือแบบ On Demand เลย

ประเภทรายการ

ส่วนประเภทรายการ พบว่า รายการข่าว รายการละคร/ซีรีส์ และรายการวาไรตี้ เป็นประเภทรายการโทรทัศน์ 3 อันดับแรก ที่กลุ่มเจเนอเรชัน จี.ไอ. กลุ่มเบบี้บูมเมอร์ กลุ่มเจเนอเรชัน เอกซ์ และกลุ่มเจเนอเรชันวาย นิยมรับชม โดยรายการโทรทัศน์ประเภทรายการข่าวได้รับความนิยมมากที่สุด ตามมาด้วยรายการละคร/ซีรีส์ รายการวาไรตี้ ส่วนกลุ่มเจเนอเรชัน แซด นิยมรายการโทรทัศน์ประเภทรายการละคร/ซีรีส์ มากที่สุด 16.8%รองลงมาคือ รายการวาไรตี้ 16.3% และรายการภาพยนตร์ 15.5%

ผลการศึกษาข้างต้นสะท้อนให้เห็นว่า พฤติกรรมการบริโภคสื่อในประเทศไทยมีความแตกต่างกันอย่างชัดเจนระหว่างคนกลุ่มอายุต่างกัน ได้แก่ กลุ่มที่มีอายุ 57 ปีขึ้นไป (กลุ่มเจเนอเรชันเบบี้ บูมเมอร์ และกลุ่มเจเนอเรชันจี.ไอ.) กับกลุ่มคนรุ่นใหม่ (กลุ่มเจเนอเรชัน วาย และ แซด) โดยมีกลุ่มเจเนอเรชัน เอกซ์เป็นกลุ่มที่มีพฤติกรรมคาบเกี่ยวระหว่างทั้งสองกลุ่มข้างต้น

ชมสดย้อนหลัง

ทั้งนี้ กลุ่มที่มีอายุ 57 ปีขึ้นไปโดยรวมยังบริโภคสื่อในรูปแบบดั้งเดิมค่อนข้างมาก อาทิ การรับชมรายการโทรทัศน์สดตามตารางออกอากาศ/ผังรายการ ในขณะที่กลุ่มคนรุ่นใหม่มีการบริโภคสื่อหลากหลายช่องทางมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการบริโภคสื่อแบบออนดีมานด์ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์

ความแตกต่างดังกล่าวทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำระหว่างเจเนอเรชัน (Generation Divide) ซึ่งส่งผลให้เกิดช่องว่างระหว่างวัย(Generation Gap) และความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงสารสนเทศและความรู้ (Digital Divide) ขึ้น

ขอบคุณข้อมูลและภาพจาก : สำนักนโยบายและวิชาการกระจายเสียงและโทรทัศน์ สำนักงาน กสทช.

Avatar photo