Economics

16 แบงก์ เทเม็ดเงินกู้ไอพีพี ‘กัลฟ์ ปลวกแดง’ 4.1 หมื่นล้าน

16 แบงก์ เทเม็ดเงินกู้ไอพีพี “กัลฟ์ ปลวกแดง” 4.1 หมื่นล้านบาท “กัลฟ์” ตั้งแผนเพิ่มกำลังผลิตไฟฟ้าเป็น 1.1 หมื่นเมกะว้ตต์ในปี 67 พร้อมวางเม็ดเงินลงทุนปี 63 มากกว่า 20,000 ล้านบาท 

วันนี้ (18 พ.ย.) บริษัท กัลฟ์ พีดี จำกัด (IPD) บริษัทย่อย ของ บริษัทกัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) ถือหุ้นทางอ้อม 70% ผ่าน บริษัท อินดิเพนเดนท์ พาวเวอร์ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด และเป็นผู้ดำเนินโครงการโรงไฟฟ้า กัลฟ์ ปลวกแดง (GDP) โรงไฟฟ้าเอกชนขนาดใหญ่ (ไอพีพี) กำลังผลิตติดตั้ง 2,650 เมกะวัตต์ ตั้งอยู่ในสวนอุตสาหกรรมโรจนะ ระยอง 2 อำเภอปลวกแดง จังหวัดระยอง มูลค่าโครงการประมาณ 50,000 ล้านบาท ได้ลงนามสัญญาเงินกู้เพื่อเข้ารับการสนับสนุนเงินกู้ในวงเงินรวมทั้งสิ้นประมาณ 41,000 ล้านบาท เป็นระยะเวลา 23 ปี

ทั้งนี้ โครงการ GPD มีต้นทุนดอกเบี้ยต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ค่อนข้างมาก เนื่องจากได้เข้าทำสัญญาแลกเปลี่ยนจากอัตราดอกเบี้ยลอยตัวเป็นอัตราดอกเบี้ยคงที่ (Interest rate swap) ในอัตราที่ต่ำจากภาวะดอกเบี้ยที่ต่ำในปัจจุบัน และเป็นระยะเวลา 20 ปี ทำให้สามารถปิดความเสี่ยงจากความผันผวนของอัตราดอกเบี้ยของตลาดในอนาคต โดยโครงการ GPD มีกำหนดเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ในปี 2566 และ 2567

IMG 20191118 170834 ปก

บริษัท IPD เป็นบริษัทย่อยที่กัลฟ์ และกลุ่ม Mitsui & Co., Ltd. ถือหุ้นในสัดส่วน 70% และ 30% ตามลำดับ ดำเนินโครงการโรงไฟฟ้า IPP 2 โครงการ ขนาดกำลังการผลิตติดตั้งรวมทั้งสิ้น 5,300 เมกะวัตต์ ได้แก่โครงการ GPD และโครงการ GSRC ขนาดกำลังผลิตติดตั้ง 2,650 เมกะวัตต์ ตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ อีสเทิร์นซีบอร์ด 1 อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี โดยได้เริ่มดำเนินการก่อสร้างไปแล้วตั้งแต่เดือนธันวาคม 2561 และมีความคืบหน้าการก่อสร้างประมาณ 39.5% ณ สิ้นเดือนกันยายน 2562 มีกำหนดเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ในปี 2564 และ 2565 ทั้งนี้ ทั้งสองโครงการมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) แล้วเป็นระยะเวลา 25 ปี

สำหรับการลงนามสัญญาเงินกู้ครั้งนี้ เป็นสกุลเงินบาทประมาณ 50% และดอลลาร์ 50% เป็นกลุ่มสถาบันการเงินทั้งใน และต่างประเทศ รวมทั้งสิ้น 16 แห่ง ได้แก่ ธนาคารเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (JBIC), ธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB), ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน), ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน), ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน), ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน)

ธนาคาร ซูมิโตโม มิตซุย แบงกิ้ง คอร์ปอเรชั่น จำกัด (SMBC), ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน), ธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน), ธนาคารออมสิน จำกัด, ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย จำกัด (มหาชน), ธนาคารโอเวอร์ซี ไชนีส แบงกิ้ง คอร์ปอเรชั่น จำกัด (OCBC), ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM), ธนาคารมิซูโฮ จำกัด สาขากรุงเทพฯ, ธนาคาร ซูมิโตโม มิตซุย ทรัสต์ จำกัด สาขาสิงคโปร์ และธนาคารดีซี แบงค์ จำกัด (DZ Bank)

IMG 20191118 171657

นายสารัชถ์ รัตนาวะดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท กัลฟ์ กล่าวว่า บริษัทยังมุ่งเน้นธุรกิจหลัก คือ โรงไฟฟ้า โดยตั้งเป้าหมายมีกำลังผลิตเข้าระบบทั้งหมดเป็น 11,910 เมกะวัตต์ในปี 2567 เป็นสัดส่วนตามการถือหุ้น 6,721 เมกะวัตต์ จากปี 2561 ที่มีกำลังผลิตตามสัดส่วนการถือหุ้น 2,583 เมกะวัตต์

ในปี 2563 บริษัทวางงบลงทุนไว้ประมาณ 20,000 ล้านบาท ทยอยลงทุนไอพีพี 2 โครงการดังกล่าว และ ท่าเรือมาบตาพุด เฟส 3 รวมไปถึงโครงการเก็บค่าผ่านทางมอเตอร์เวย์ 2 สายบางใหญ่-กาญจนบุรี และสายบางปะอิน-นครราชสีมา

สำหรับแนวโน้มรายได้ปี 2562 อยู่ที่ประมาณ 33,000 ล้านบาท ส่วนในปีหน้าจะเพิ่มเป็น 36,000 ล้านบาทเนื่องจากในปีหน้า จะมีโรงไฟฟ้าที่ผลิตไฟฟ้าเชิงพาณิชย์เข้ามาเพิ่ม เช่น โรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ ในโอมาน ขนาดกำลังการผลิต 326 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าชีวมวลที่ อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา ขนาด 20 เมกะวัตต์ และพลังงานลม ที่เวียดนาม 310 เมกะวัตต์

“เรายังเน้นธุรกิจโรงไฟฟ้า เราเป็นนักลงทุน ไม่ถนัดขายของ อย่างแบตเตอรี่ เราคงไม่ทำ  ส่วนธุรกิจสาธารณูปโภค ถือเป็นโครงการที่จะเกิดประโยชน์ แต่สัดส่วนธุรกิจด้านนี้ยังมีน้อยมาก ประมาณ 5-10% เท่านั้นในช่วง 5 ปี ” 

สำหรับธุรกิจก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) เรายังไม่ได้เสนอเป็นชิปเปอร์นำเข้าแอลเอ็นจี เพราะเสนอไปที่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ก็ปรากฎว่าปิดไปแล้ว และการทดสอบการเปิดเสรีกิจการก๊าซ โดยให้กฟผ.ทดสอบนำเข้าแอลเอ็นจีตลาดจร ก็ยังไม่ไปถึงไหน ดังนั้นเรายังเป็นผู้ซื้อแอลเอ็นจีจากปตท.อยู่ตามสัญญาระยะยาวทุกประการ เพราะก็ถือเป็นพันธมิตรกัน ร่วมลงทุนด้วยกันในมาบตาพุด ขณะเดียวกันเราก็ต้องติดตามดูแผนจัดหาก๊าซในภาพรวมของกระทรวงพลังงานที่ยังไม่แล้วเสร็จด้วย

ส่วนที่เวียดนาม กัลฟ์มีกำลังผลิตไฟฟ้า ที่จะต้องดำเนินการราว 6,000 เมกะวัตต์ ต้องใช้แอลเอ็นจีกว่า 5 ล้านตันต่อปี ต้องติดตามกฎระเบียบของเวียดนามต่อไปว่า จะเปิดโอกาสให้มีการเปิดเสรีนำเข้าแอลเอ็นจีในอนาคตหรือไม่ สำหรับโรงไฟฟ้าไอพีพีหินกอง 2 จังหวัดราชบุรี กำลังผลิตแห่งละ 700 เมกะวัตต์ ของราช กรุ๊ป นั้นยังไม่ได้ข้อยุติ เพราะราช กรุ๊ป ก็หาพันธมิตรไว้หลายราย

Avatar photo