Business

กลุ่ม ปตท. เตรียมดึงบล็อกเชน – แพลตฟอร์มดิจิทัลเสริมทัพธุรกิจ

ไม่ธรรมดาเลยจริง ๆ สำหรับงาน D-Next Demo Day 2018 ที่ ปตท.ร่วมกับทาง RISE จัดขึ้น แต่ที่มากไปกว่านั้นคือแผนของ ปตท. ในขั้นต่อไปที่จะนำแพลตฟอร์มดิจิทัล รวมถึงบล็อกเชนเข้ามาปรับใช้กับการซื้อขายน้ำมันเต็มรูปแบบ ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ

orn
อรวดี โพธิสาโร

นางอรวดี โพธิสาโร กรรมการผู้จัดการบริษัท พีทีที ดิจิทัล โซลูชัน จำกัด เปิดเผยถึงแผนดังกล่าวว่า จะมีการนำแพลตฟอร์มดิจิทัลเข้ามาใช้งานมากขึ้น เพื่อรองรับการซื้อขายน้ำมันและปิโตรเคมีระหว่างกัน การนำบล็อกเชนมาใช้ ซึ่งคาดว่าจะช่วยลดขั้นตอนในการดำเนินงาน ส่วนสกุลเงินที่ใช้ในเบื้องต้น จะเป็นเงินบาท รวมถึงอาจกำหนดสกุลเงินดิจิทัลขึ้นมาเองเพื่อใช้งานในอนาคตด้วย

โดยหากย้อนมองความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นแล้วก็คือเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) มีการจับมือกับบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ.ร่วมกันศึกษาและพัฒนาระบบการโอนเงินระหว่างประเทศ (Cross-Border Payment) บนเทคโนโลยีบล็อกเชนแบบ B2B เป็นครั้งแรก เพื่อให้ ปตท.สผ. และคู่ค้าสามารถโอนเงินระหว่างกันได้

นอกจากนี้ การที่กลุ่ม ปตท. ได้มีการตั้งคณะทำงานในสายเทคโนโลยีและวิศวกรรม ได้ทำให้เกิดการขับเคลื่อนด้านดิจิทัลต่าง ๆ เกิดขึ้นภายในกลุ่ม ปตท. เป็นอันมาก และมีการลงทุนในโครงการที่เกี่ยวข้องเพื่อสร้างธุรกิจใหม่ หรือที่เรียกว่า New S-Curve ด้วย โดยมี PTT Digital เป็นบริษัทที่ดูแลโซลูชันดิจิทัลให้กับกลุ่ม ปตท.

ส่วนการจะร่วมมือนำเทคโนโลยีจากสตาร์ทอัพทั้ง 15 รายนี้มาใช้อย่างไรในอนาคตนั้น นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร ประธานเจ้าหน้าที่เทคโนโลยีและวิศวกรรม บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และประธานกรรมการ บริษัท พีทีที ดิจิตอลโซลูชัน จำกัด เผยว่า ในเบื้องต้นจะมี PTT Digital เป็นผู้ประสาน ทำให้สตาร์ทอัพเข้าใจธุรกิจ ของกลุ่ม ปตท. มากขึ้น และสามารถนำความต้องการทางธุรกิจมาต่อยอดเข้ากับเทคโนโลยีของตนได้ดียิ่งขึ้น ขณะที่พนักงานของกลุ่ม ปตท. ก็จะเข้าใจวิธีคิด และการทำงานแบบสตาร์ทอัพที่เน้นความกล้า ความว่องไว และการริเริ่มทำสิ่งใหม่ ๆ ที่เติบโตได้อย่างรวดเร็วด้วย

ชาญศิลป์ ตรีนุชกร2
ชาญศิลป์ ตรีนุชกร

กลุ่ม ปตท. เผยด้วยว่า เทคโนโลยีที่เข้ามานั้นจะช่วยให้ธุรกิจทำงานได้ดีขึ้น เร็วขึ้น และมีประสิทธิภาพมากขึ้น และคาดหวังว่าจะมีสตาร์ทอัพราวครึ่งหนึ่งของสตาร์ทอัพที่เข้าร่วมโครงการสามารถขยายการเติบโต และทำธุรกิจร่วมกับกลุ่ม ปตท. ต่อไปได้ด้วยเช่นกัน เนื่องจากมีแพลตฟอร์มที่ตอบโจทย์และมีศักยภาพอยู่เป็นทุนเดิมแล้วนั่นเอง

ทั้งนี้จะเห็นได้ว่า ในช่วงครึ่งปีที่ผ่านมา องค์กรขนาดใหญ่ของประเทศไทยมีการประกาศนำบล็อกเชนเข้ามาปรับใช้ในการดำเนินธุรกิจเป็นจำนวนมาก เช่น ธนาคารกรุงศรีอยุธยาที่นำบล็อกเชนมาใช้กับการให้บริการซัพพลายเชนด้านการเงิน ส่งผลให้ผู้ประกอบการที่เป็นลูกค้าของธนาคารสามารถขอสินเชื่อได้อย่างสะดวก รวดเร็ว ปลอดภัยมากขึ้น

หรือในการจับมือกันระหว่างจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และธนาคารกสิกรไทยเมื่อเร็ว ๆ นี้ ในการเปิดตัวแอพพลิเคชัน CU NEX ก็มีแผนที่จะนำเทคโนโลยีดิจิทัลอย่างบล็อกเชน – แมชชีนเลิร์นนิ่งเข้ามาปรับใช้กับการจัดการเอกสารสำคัญต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัยด้วยเช่นกัน

Avatar photo