Economics

‘อุตตม’ สั่งประเมินสถานการณ์เศรษฐกิจใกล้ชิด!

“อุตตม” สั่ง “กระทรวงการคลัง” ติดตามสถานการณ์เศรษฐกิจใกล้ชิด พร้อมเร่งขับเคลื่อนมาตรการกระตุ้นต่อเนื่อง หลัง “สภาพัฒน์” ประกาศตัวเลขจีดีพีล่าสุด

นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่าวันนี้สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) แถลงเศรษฐกิจไทยไตรมาส 3 ปี 2562 ว่าขยายตัว 2.4% ต่อปี ดีขึ้นเล็กน้อยจากไตรมาส 2 ปี 2562 ที่ขยายตัว 2.3% โดยภาคการส่งออกยังคงได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งทางการค้าที่ยืดเยื้อและสภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว ส่งผลให้การส่งออกสินค้าที่ไม่รวมทองคำหดตัวลง นอกจากนี้ การผลิตภาคอุตสาหกรรมซึ่งมีบทบาทสูงในเศรษฐกิจไทยก็ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกและการส่งออกที่ชะลอลงเช่นเดียวกัน

ลวรณ27862

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของการลงทุนใหม่จากการประกอบกิจการใหม่และการขยายกิจการของโรงงานเดิมพบว่าในช่วง 1 มกราคม – 12 พฤศจิกายน 2562 มีเงินลงทุนเพิ่มขึ้นในกิจการโรงงาน 431,216 ล้านบาท สูงกว่าปีที่แล้ว 36.3% สะท้อนว่าภาพรวมการผลิตในอนาคตมีแนวโน้มขยายตัว และแม้ว่าในช่วง 1 มกราคม – 12 พฤศจิกายน 2562 จะมีกิจการโรงงาน 1,391 โรงงานที่ยื่นขอปิดกิจการ แต่การขอยื่นประกอบกิจการโรงงานใหม่มีถึง 2,889 โรงงาน มากกว่าปิดกิจการ 107% และโรงงานที่เปิดอยู่เดิมก็ยังมีการขยายกิจการเพิ่มเติมอีก 928 โรงงาน ขณะเดียวกันในส่วนของแรงงานแม้ว่ามีการเลิกจ้างงานจากการปิดกิจการ 35,533 คน แต่มีการจ้างงานจากการประกอบกิจการใหม่ 84,033 คน และมีการจ้างงานเพิ่มจากการขยายโรงงานอีก 84,704 คน

ส่วนสถานการณ์ด้านการท่องเที่ยวของไทยยังเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง โดยจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้ายังประเทศไทยในไตรมาส 3 ปี 2562 ขยายตัวสูงถึง 7.2% เร่งขึ้นจากไตรมาส 2 ปี 2562 ที่ขยายตัว 1.4% ด้านการบริโภคภาคเอกชน รายได้จากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มภายในประเทศ ณ ราคาคงที่ (ที่หักรายได้พิเศษ) ไตรมาส 3 ปี 2562 ขยายตัวที่ 1.9% สูงขึ้นจากไตรมาส 2 ปี 2562 ที่ขยายตัว 1.5% ซึ่งสะท้อนการบริโภคภาคเอกชนที่ยังคงขยายตัวได้

สำหรับเศรษฐกิจไทยระยะต่อไป คาดว่าจะยังคงได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกต่อเนื่องไตรมาส 4 ปี 2562 และปี 2563 ขณะเดียวกันมีเครื่องชี้ที่สะท้อนแนวโน้มในเชิงบวกต่อเศรษฐกิจไทย อาทิ รายได้จากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มภายในประเทศ ณ ราคาคงที่ (ที่หักรายได้พิเศษ) ล่าสุด ในเดือนตุลาคม 2562 ที่ขยายตัวเร่งขึ้นที่ 6.0% ต่อเนื่องจากไตรมาส 3 ขยายตัว 1.9%

อุตตม3112

ทั้งนี้ นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้มอบหมายให้หน่วยงานของกระทรวงการคลังติดตามสถานการณ์ด้านเศรษฐกิจอย่างใกล้ชิดและเร่งดำเนินการขับเคลื่อนชุดมาตรการด้านเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ประกอบด้วย มาตรการชิมช้อปใช้เฟส 1 มาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย ผ่านโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ มาตรการบรรเทาค่าครองชีพสำหรับสำหรับเกษตรกรผู้ประสบภัยแล้ง มาตรการพักหนี้กองทุนหมู่บ้านของ ธ.ก.ส. และมาตรการกระตุ้นการลงทุนภายในประเทศ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะ 2 เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2562 ประกอบด้วย มาตรการชิมช้อปใช้เฟส 2 และมาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์

รวมถึงล่าสุดมาตรการชิมช้อปใช้เฟส 3 เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2562 รวมถึงการเร่งรัดการเบิกจ่ายการลงทุนของรัฐวิสาหกิจ คาดว่าจะทำให้มีเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจประมาณ 100,000 ล้านบาท ภายในสิ้นปี 2562 เพื่อให้มาตรการต่าง ๆ ที่เริ่มไตรมาส 3 สามารถส่งผลได้อย่างเต็มที่ในไตรมาส 4 โดยกระทรวงการคลังจะประเมินสถานการณ์และแนวโน้มของเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องและพร้อมที่จะพิจารณามาตรการดูแลเศรษฐกิจที่เหมาะสมต่อไป

Avatar photo