CEO INSIGHT

จากแบก ‘หนี้สิน’ 40 ล้าน พลิกฟื้นด้วยเกษตรสมัยใหม่ ‘เฟรชวิลล์ ฟาร์ม’

ในภาวะเศรษฐกิจซบเซา เกษตรกรได้รับผลกระทบจากดินฟ้าอากาศ ราคาพืชผลตกต่ำ ทั้งที่เป็นประชาชนกลุ่มใหญ่ของประเทศ แต่กลับเป็นกลุ่มที่มีรายได้น้อยและมีปัญหาทั้งจากค่าครองชีพเพิ่มสูงขึ้น  แต่รายได้กลับไม่เพิ่มขึ้นตาม

แต่สำหรับ สัมพันธ์ พิพัฒน์วรการ เกษตกรยุคใหม่ ผู้ก่อตั้ง “เฟรชวิลล์ ฟาร์ม” กลับสามารถใช้การเกษตรมาช่วยพลิกฟื้นจากชีวิตติดลบ ให้กลับมาเป็นบวก และส่งพลังบวกพร้อมองค์ความรู้ที่มี เพื่อให้ผู้ที่สนใจทำการเกษตร ให้มีมุมมองใหม่ ด้วยการนำเทคโนโลยีมาปรับใช้สร้างความสำเร็จ

เฟรช2

เกษตรกรไทยส่วนใหญ่ เอาชีวิตตัวเองไปฝังอยู่กับผลผลิต เช่น เอาชีวิตฝากไว้กับเมล่อนลูกนั้น ฝากไว้กับแตง กับผัก ก็จะอยู่ไม่ได้ และไม่เปิดใจ ลูกหลานอยากกลับไปทำเกษตร พ่อแม่ไม่ยอม แต่รุ่นพ่อแม่ก็ยังคิดแบบเดิม ทำแบบเดิม ไม่ปรับแนวคิดปรับตัว”สมพันธ์กล่าว

เขาเล่าถึงเส้นทางสู่ชืวิตเกษตรกร ผู้ปลูกฟาร์มกลางกรุง ว่า จากวิศวกรรมที่จบการศึกษาระดับปริญญาโทถึงสองใบ ทั้งด้านวิศวะ และรัฐศาสตร์การเมือง มีงานทำในระดับดี จนกระทั่งออกมารับเหมาก่อสร้างเพื่อสร้างธุรกิจของตัวเอง สำหรับเด็กบ้านนอกจากจังหวัดเชียงรายแล้ว ถือว่าประสบความสำเร็จเกินคาดหมายไปไกล

แต่แล้วชีวิตก็มาถึงจุดหักเห เมื่อธุรกิจทำให้ต้องแบบหนี้สินถึง 40 ล้านบาท จนเรียกได้ว่า ล้มละลาย เมื่อ 10 ปีที่ผ่านมา

“ตอนนั้นมีลูก ป.6 ไม่รู้ว่าจะทำอะไร รู้สึกว่าแพ้ ไม่มีทางเลือก เลยหันมาทำเกษตร ไม่ได้คิดอะไร คิดว่าจะทำให้ลูกมีกิน ใครจะคิดว่าจากวันนั้น เกษตรทำเงินให้เราได้เป็นล้าน”

เฟรช5

สิ่งที่เขาค้นพบคือ การนำความรู้ด้านวิศวกรรมมาบวกกันงานเกษตรที่เริ่มเข้ามาเรียนรู้ เริ่มจากการเช่าที่ทำฟาร์มเล็กๆ ย่านรามคำแหง เพื่อปลูกเพาะเห็ด แล้วคิดค้นตู้เห็ดอัจฉริยะในประเทศไทยตู้แรกขึ้น เมื่อ 7-8 ปี ที่ผ่านมา จนกระทั่งขยายพื้นที่เช่าทำฟาร์มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนกลายเป็น “ฟาร์มกลางเมือง

ความสำเร็จแรกที่เกิดขึ้น เกิดมาจากการนำความรู้เรื่องของวิศวะเข้ามาพัฒนาต่อยอด เพราะในความเป็นจริงนั้น ความรู้ในเรื่องการเกษตรทุกคนเรียนรู้ได้เหมือนกัน ทันกัน จึงเอาความรู้ด้านวิศวะมาใช้สร้างความได้เปรียบ เช่น เลี้ยงเห็ด ทุกคนเลี้ยงเห็ดเหมือนกัน ผมก็เลี้ยงเหมือนเขา แต่ผมยังเลี้ยงไม่ค่อยได้ดี เลยมาติดตั้งตู้ ติดระบบคอนโทรล ใช้ความรู้เรื่องแสง จนเกิดเป็น”ตู้เห็ดอัจฉริยะ

จากนั้น เมื่อข่าวเรื่องตู้เห็ดอัจฉริยะเริ่มกระจายออกไป คนก็เริ่มยอมรับ ทำให้จับจุดได้ว่า เกษตรกรรมที่เค้าทำกันมา 50-60 ปี ก็ยังเหมือนเดิม แต่หากนำเอาความรู้ที่เรามี มาบวกกับสิ่งที่เราเรียนรู้ใหม่ มันไปได้ไกลกว่า ทุกอย่างง่ายขึ้น เร็วขึ้น กลายเป็นว่าไปตอบโจทย์เกษตรกรรมในเมืองหลวง เลยเปิดฟาร์มเกษตรในเมือง

เฟรช4

จนถึงปัจจุบัน เฟรช วิลล์ ฟาร์ม มี 5 แห่งที่กระจายอยู่ในกรุงเทพ มีเห็ด ผัก เมล่อน คือ ทำการเกษตรครบวงจร ตั้งแต่ผลิตปุ๋ยอินทรีย์ ทำปุ๋ยบำรุงพืช ทำระบบเลี้ยง ระบบสอนโซลาเซล โดรน แสงอาทิตย์เทียม สอนปลูกผัก สอนผสมดิน เรียกได้ว่า องค์ความรู้ไม่มีที่สิ้นสุด

สิ่งที่สัมพันธ์ได้เรียนรู้ จากประสบการณ์ที่ผ่านมาคือ การได้มาซึ่งองค์ความรู้จากการได้ผลผลิตเป็นสิ่งสำคัญที่สุด นั่นคือ ทำให้ปราชญ์ชาวบ้าน ปราชญ์แผ่นดินอยู่ได้ เพราะองค์ความรู้ที่ได้มาซึ่งผัก เอาไปทำอาชีพได้ ไม่ใช่ให้คนเอาเสื้อม่อฮ่อมมาใส่แล้วไปปลูกผักก็อยู่ไม่ได้ แต่ต้องทำเพราะมีองค์ความรู้อย่างแท้จริง

ทุกวันนี้ สัมพันธ์ ไม่ได้ทำการเกษตรเพื่อขายผลผลิตเพียงอย่างเดียว แต่ยังทำครบวงจร ตั้งแต่ขายเมล็ดพันธุ์ ผสมปุ๋ย ทำวิทยาลัยโรงเรือน และสุดท้ายต้องแบ่งปัน คือการสอนให้ผู้ที่สนใจได้เข้ามาเรียนรู้ได้ฟรี

K สัมพันธ์ 1

เรารู้ เราต้องแบ่งปัน ไม่ใช่เก็บเงียบ ได้ตรงไหนต้องมาแบ่งปันกัน แล้วผู้คนก็จะเข้ามาหาเราเอง เห็นได้จากตอนนี้ รายได้หลักมาจากการทำครบวงจร ไม่ใช่จากผลผลิตอย่างเดียว แต่เป็นการต่อยอด เช่น ปลูกผักสลัดไม่กี่ต้น ขายผักสลัดได้เดือนละ 1-3 หมื่น แต่สิ่งที่เราได้เพิ่มเติมคือ น้ำสลัดที่เราออกบูธขายวันละหมื่นเพิ่มเข้ามา”

ทุกวันนี้ วันนี้ทำมาปีที่ 7 มีผู้คนเข้ามาเรียนรู้มากมาย เมื่อสนใจทำเกษตรจริงๆ ก็จะเข้ามาศึกษา ซื้ออุปกรณ์ ซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดจากการที่เราแบ่งปันก่อน นที่คิดจะซื้อจะนึกถึงเราก่อนและตามกลับมาซื้อ นอกจากนี้ยังมีรายได้จากการออกบูธ รับเชิญไปให้ความรู้ตามสถานที่ต่างๆ ทำให้ปัจจุบันมีรายได้เฉลี่ยจากวันละ 3 หมื่น 5 หมื่น บางเดือนเป็นหลักล้านบาท

โครงการต่อยอดที่ เฟรชวิลล์ ฟาร์ม กำลังดำเนินการคือ การเปิด 1 เฟรชวิล ฟาร์ม 1 อำเภอ ซึ่งปัจจุบันมีคนมาสมัครแล้ว 280 กว่าอำเภอ จากประเทศไทยมีทั้งหมด 900 กว่าอำเภอ โดยวางเป้าหมายจะเปิดให้ได้ 300 อำเภอ เพื่อให้แต่ละรายในอำเภอไปขยายองค์ความรู้ต่อ จากนั้นจะเปิดตัวบริษัท และนำสินค้าที่ผลิตได้จากแต่ละอำเภอมาจำหน่ายภายใต้แบรนด์ “เฟรชวิลล์ ฟาร์ม”

เฟรช

ทั้งหมดของการสนทนาครั้งนี้ ประเด็นสำคัญ ไม่ใช่อยู่ที่การทำรายได้ได้เดือนละเป็นล้านจากอาชีพเกษตรกร แต่อยู่ที่ การรู้จักแบ่งปันสิ่งที่มี โดยไม่หวังผลตอบแทน แต่ผลตอบแทนจะกลับมาหาเองในที่สุด

Avatar photo