Technology

ส่อง ‘RPA’ กับธุรกิจไทย แนะใช้รับยุคเริ่มเข้าสู่ ‘แรงงานดิจิทัล’

เอบีม คอนซัลติ้ง เผยระบบการทำงานซอฟต์แวร์อัตโนมัติ หรือ RPA กำลังเป็นกระแสที่เติบโตในโลกของแรงงานดิจิทัล โดย RPA ในประเทศไทยมีศักยภาพเติบโตสูงมาก พบธุรกิจในประเทศไทยที่มีการนำเทคโนโลยีนี้มาใช้มีเพียง 13% โดยเฉพาะในภาคธนาคารและประกันภัย

นายอิชิโร ฮาระ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอบีม คอนซัลติ้ง (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ให้บริการด้านคำปรึกษาชั้นนำของญี่ปุ่นบริษัทที่ปรึกษาระดับโลก ในเครือบริษัท เอบีม คอนซัลติ้ง จำกัด ประเทศญี่ปุ่น เปิดเผยว่า การใช้งาน RPA ตามแบบกฎเกณฑ์มาตรฐานอัตโนมัติ หรือ rule-based automation ซึ่งถือว่ายังไม่เป็นแรงงานดิจิทัลเต็มรูปแบบนั้น เป็นแนวโน้มที่กำลังเติบโตของโลก และเทคโนโลยีนี้ยังคงมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องด้วยผสมผสาน ระบบการรู้จำอักขระด้วยแสง (OCR) การประมวลผลภาษาธรรมชาติ (NLP) และปัญญาประดิษฐ์ (AI) ซึ่งจะทำให้เป็นเทคโนโลยีที่ชาญฉลาดมากขึ้นและพร้อมให้ใช้งานในตลาดเร็ว ๆ นี้

ABeam Consulting RPA1
Robotic hand using a laptop computer, illustration.

จากการสำรวจเกี่ยวกับสถานการณ์ของ RPA ในประเทศไทยกับบริษัทขนาดใหญ่ใน SET100พบว่า กลุ่มที่ 1 จำนวน 66% ยังไม่ตระหนักว่า RPA คืออะไร และ RPA สามารถทำงานอย่างไร กลุ่มที่ 2 จำนวน 21% ของบริษัทที่สำรวจตอบว่ากำลังพิจารณาและสนใจเทคโนโลยีดังกล่าว แต่ยังไม่แน่ใจถึงประโยชน์ที่แท้จริง และกลุ่มที่ 3 ซึ่งพบว่ามีเพียง 13% เท่านั้นที่ได้ติดตั้งและใช้งาน RPA แล้ว

ทั้งนี้ กลุ่มแรกยังไม่สามารถหาคนทำงานที่เหมาะสมในการเริ่มต้นแนวคิดเกี่ยวกับเรื่องนี้ ในขณะที่กลุ่มที่ 2 ไม่ทราบวิธีการที่เหมาะสมที่จะเริ่มโครงการดังกล่าว ประสบกับปัญหาในการคำนวณอัตราส่วนของผลตอบแทนจากการลงทุน (ROI) และกำลังเผชิญกับแรงต่อต้านจากผู้ใช้งาน ส่วนกลุ่มสุดท้าย กำลังเผชิญกับการขยายผล การปรับเปลี่ยนตามธุรกิจการกำลังเปลี่ยนไป และการดำเนินงานให้ได้ตามเป้าหมายของ ROI

“การใช้ RPAจะช่วยให้ธุรกิจได้ประโยชน์สูงสุด หากธุรกิจมีกระบวนการเป็นมาตรฐาน แม่นยำสม่ำเสมอ และดำเนินการควบคุมอย่างถูกต้อง ซึ่งช่วยให้สามารถขยายงานได้ง่าย” นายฮาระกล่าว

อิชิโร ฮาระ เอบีม คอนซัลติ้ง
อิชิโร ฮาระ

ภาคธุรกิจที่มีการนำ RPA มาใช้มากที่สุด คือ ธุรกิจธนาคารอยู่ที่ 70% และธุรกิจประกันภัย 60% ในขณะที่ธุรกิจการผลิต ธุรกิจบริการ ธุรกิจพลังงาน ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม มีแสดงสนใจจะใช้เทคโนโลยีดังกล่าว โดยปัจจุบันการใช้ RPA ในประเทศไทยเน้นเรื่องการจัดทำรายงาน การส่งข้อมูลระหว่างระบบ (System interface) และการป้อนข้อมูลเข้าระบบ ซึ่งถือเป็นงานอันดับต้น ๆ ของหน่วยงานการเงินและบัญชี

สำหรับ RPA ซึ่งเป็นซอฟต์แวร์อัตโนมัติสำหรับงานที่ต้องใช้คนในภาคธุรกิจต่าง ๆ สามารถูกพัฒนาได้อย่างรวดเร็ว มีการลงทุนที่ต่ำและให้ผลตอบแทนเร็ว RPA เหมาะกับงานทั่วไปที่ต้องใช้พนักงานทำงานเป็นเวลานาน งานที่มีกฏและขั้นตอนชัดเจน งานที่ทำซ้ำ ๆ และงานที่มีปริมาณจำนวนมาก ๆ รวมทั้งงานที่มีโอกาสผิดพลาดอันเนื่องจากการทำงานของคน

ขณะเดียวกันระบบอัตโนมัติมีโอกาสที่จะสามารถทำงานในภาคธุรกิจต่าง ๆ ได้แก่ ระบบไอทีภายใน อาทิ การป้อนข้อมูล อีเมล์ และการค้นหาข้อมูลที่มีตรรกะเฉพาะด้าน โดยการจำลองข้อมูลและการรายงานผล ตรวจสอบข้อมูลหรือจับคู่ข้อมูล แรงงานดิจิทัลสามารถส่งผ่านข้อมูลระหว่างระบบไอทีกับระบบภายนอก เช่น แอพพลิเคชั่นของธนาคาร หรือการต่อเชื่อมกับกลุ่มบริษัท การดึงข้อมูลจากเว็บไซต์ต่าง ๆ เช่น การวิจัยข้อมูลของคู่แข่ง การตรวจสอบราคาหุ้น เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม การใช้งาน RPA อย่างมีประสิทธิภาพนั้น ภาคธุรกิจจะต้องประเมินผลประโยชน์และผลตอบแทนจากการลงทุนก่อนเป็นอย่างแรก ธุรกิจไม่จำเป็นต้องใช้กระบวนการอัตโนมัติทำงานแทนงานที่ทำด้วยคนแบบ 100% เพราะจะเป็นการใช้ต้นทุนที่มากและใช้เวลานานเกินไป อีกทั้งคนยังสามารถทำงานบางงานที่มีประสิทธิภาพมากกว่า

ในการช่วยให้ธุรกิจสามารถนำ RPA มาใช้นั้น เอบีมมีความพร้อมในการช่วยธุรกิจพิสูจน์แนวคิด (PoC) ที่รวดเร็ว ผ่านการพัฒนาระบบอัตโนมัติที่ทำงานได้จริงจำนวนไม่มากในธุรกิจ เพื่อวัดประสิทธิผลของ RPA ภายใน 8 สัปดาห์ โดย PoC ช่วยให้ธุรกิจสามารถวัดประโยชน์จริง ๆ ที่จะได้รับและสร้างโอกาส รวมทั้งตรวจจับประเด็นปัญหาด้านเทคนิค ด้วยต้นทุนที่ต่ำที่สุด

Avatar photo