Economics

‘ทีดีอาร์ไอ’ ประเมินปัญหาว่างงานรุนแรงขึ้น เสนอ 6 มาตรการแก้ไขด่วน

“ทีดีอาร์ไอ” เสนอ 6 มาตรการ แก้ปัญหาว่างงานทันที หวั่นเศรษฐกิจแย่ต่อเนื่อง ย้ำดูแลค่าเงินบาท-ประกบเอสเอ็มอี ช่วยให้ทำกิจการต่อเนื่อง-เร่งโครงการ “ผู้อาสาพัฒนาชาติ” จ้างบัณฑิตจบใหม่ทำงานในชุมชน-หันจ้างแรงงานไทยแทนต่างด้าว 

สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ)ได้วิเคราะห์ตลาดแรงงานในช่วงนี้ และอนาคตภายหลังการเลิกจ้างปรากฏให้เห็นไม่เว้นแต่ละวัน และคาดว่าจะมีต่อเนื่องไปจนถึงปีหน้า “คนตกงาน” จำนวนมากจะทำอย่างไร และทางออกควรเป็นอย่างไร

kids labour 3571864 640 ปก

รศ.ดร. ยงยุทธ แฉล้มวงษ์ ผู้อำนวยการวิจัย ด้านการพัฒนาแรงงาน ทีดีอาร์ไอ เล่าสถานการณ์ว่า จะเห็นได้ว่าช่วงนี้ประเทศไทยมีปัญหาทางเศรษฐกิจ อัตราการเติบโตไม่เป็นไปตามความคาดหมาย และในที่สุดก็สรุปไปในทิศทางเดียวกันว่าอัตราขยายตัวของ GDP น่าจะไม่ถึง 3% เป็นผลจากค่าเงินบาทแข็ง ทำให้มีผลต่อการส่งสินค้าไปต่างประเทศ ตราขยายตัวติดลบ แถมยังถูกซ้ำเติมจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีนที่มีความรุนแรงมากขึ้น

จนทำให้มูลค่าของการค้าถดถอยลงไป จนส่งผลกระทบกับประเทศคู่ค้ากับ 2 ประเทศได้รับผลกระทบตามไปด้วย อีกทั้งการขยายตัวของ GDP ของจีนลดลงค่อนข้างมาก และรัฐบาลกลางส่งสัญญานไม่สนับสนุนให้คนจีนไปต่างประเทศโดยเฉพาะการท่องเที่ยว ทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่มาประเทศไทย ไม่เพิ่มตามที่คาดหวังไว้ในปี 2562

graph 01 1024x724

ปัญหาภายนอกหลายๆ อย่างเหล่านี้ ย่อมส่งผลต่อประเทศไทย ทำให้การเติบโตของ GDP ไม่เป็นไปในทิศทาง ที่มีการคาดหมายเอาไว้ในทางทฤษฎี เมื่อสินค้าส่งออกไม่ได้เหมือนเดิม รวมทั้งกิจการที่เกี่ยวข้องกับภาคบริการของไทย ซึ่งจ้างงานเป็นสัดส่วนมากที่สุด เมื่อเกิดปัญหาจากการท่องเที่ยวหดตัว ก็กระทบตลาดแรงงานอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้

ผลการวิจัยของรศ.ดร. ยงยุทธ ยืนยันว่าตลาดแรงงานจะมีปัญหามากขึ้น ถ้าผลกระทบจากภายนอกที่ไทยควบคุมไม่ได้ยังคงดำเนินต่อไปจนถึงปีหน้าและต่อๆไป

ทั้งนี้ผลปัจจัยจากการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจที่มีผลต่อตลาดแรงงานแล้ว มีอีกตัวแปรหนึ่ง คือ ผู้ที่ขอรับสิทธิประโยชน์กรณีว่างงานมาตรา 33 ของสำนักงานประกันสังคม ซึ่งมีอยู่ 2 ทางเลือกคือ ลาออกเอง ซึ่งผู้ประกันตนประเมินดูแล้วว่าสถานประกอบการที่ทำงานอยู่มีปัญหาอาจจะชิงลาออกก่อน ซึ่งแน่นอนจะได้รับสิทธิประโยชน์การลาออกจากงาน 30% ของค่าจ้างเฉลี่ยภายในเวลา 90 วัน โดยผลการทำวิจัยพบว่า การลาออกเองมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเฉลี่ยทุกปี และในอนาคต ยังจะทรงตัวจนถึงปีหน้าถ้าเศรษฐกิจยังซบเซาอยู่เหมือนปี 2562

อีกสถานการณ์หนึ่ง คือ ผู้ประกันตนออกจากงาน เพราะถูกเลิกจ้าง จะด้วยการออกเอง หรือมีสถานการณ์บางอย่างที่ต้องออกจากงานโดยไม่มีความผิด จะขอรับสิทธิประโยชน์กรณีว่างงาน 50% ของค่าจ้างเฉลี่ยเป็นเวลาถึง 6 เดือน ซึ่งเชื่อว่าจะกลายเป็นความเสี่ยงว่างงานได้ เมื่อได้รับสิทธิประโยชน์ครบแล้ว ถ้าพวกเขาไม่กลับเข้ามาตามกระบวนการฟื้นฟูการมีงานทำอีกครั้งของกระทรวงแรงงาน

graph 02 1024x724รศ.ดร. ยงยุทธ อธิบายว่า ผู้รับสิทธิประโยชน์กรณีว่างงานจะสูงขึ้นเรื่อยๆ จากมกราคม 2561 จำนวนประมาณ 130,000 คน มาถึงสิ้นปี 2561 เพิ่มเป็น 150,000 คน หรือเพิ่มขึ้นมากกว่า 15% และเมื่อนับเฉพาะปี 2562 เดือนมกราค-สิงหาคม 2562 เป็นเวลา 8 เดือน จำนวนผู้ประกันตน ที่รับประโยชน์จากการว่างงานเพิ่มเป็นเดือนละประมาณ 190,000 คน หรือเพิ่มขึ้นมากกว่า 22 %

“ข้อมูลดังกล่าว แสดงถึงอาการของจำนวนคนว่างงานที่เพิ่มต่อเนื่องในปี 2562 ถึงเดือนสิงหาคม 2562 น่าจะดำเนินการต่อไปจนถึงสิ้นปี และต่อเนื่องไปจนถึงปี 2563 หรืออาจจะยืดยาวไปกว่านั้นถ้าเศรษฐกิจไม่กระเตื้องขึ้น” 

graph 03 1024x724

จากที่ข้อมูลที่ปรากฏาจะเห็นชัดเจนถึงสถานการณ์ ส่วนจะเพิ่มขึ้นมากหรือน้อยในปี 2563 และปีต่อๆ ไปขึ้นกับมาตรการของรัฐที่จะเข้ามาแก้ไขปัญหาด้านความต้องการแรงงาน

สะท้อนฝีมือของการบริหารจัดการเศรษฐกิจมหภาคของประเทศที่จะใช้มาตรการทางการคลัง หรือการเงินอย่างไร ให้เศรษฐกิจของประเทศ กลับมาขยายตัวสูงเกินกว่า 3.5 ถึง 4.0% อีกครั้ง

รศ.ดร. ยงยุทธ ย้ำถึงทางออกที่ต้องทำอย่างจริงจังว่า ต้องกลับไปดูว่าจะทำอย่างไร กับปัญหาด้านการเงินของประเทศ ที่เงินบาทยังแข็ง ทรงตัวอยู่ในระดับสูง ให้มีค่าอ่อนตัวลงกว่าประเทศคู่แข่งหลายๆ ประเทศ อย่างน้อยก็ช่วยยกระดับ หรือรักษาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ เพื่อพยุงการส่งออกและการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นหัวใจ หรือรายได้หลักเข้าประเทศที่สำคัญต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ ขณะที่ผลผลิตจากภาคการผลิต (real sectors) กำลังมีปัญหาอยู่ในขณะนี้

เพราะมีปัญหาจากปัจจัยภายนอกและภายในที่เข้ามากระทบประเทศไทยในช่วงปลายปีนี้หลายเรื่อง  และต่อเนื่องไปจนถึงปีหน้า ได้แก่ สงครามการค้าของยักษ์ใหญ่ คือ จีนและสหรัฐ หรือแม้แต่การถอนตัวจากสหภาพยุโรปของอังกฤษ ( Brexit)

รวมถึงข้อร้องเรียนของสหรัฐเรื่องแรงงานที่ไทย ยังทำได้ไม่ดีเกี่ยวกับเสรีภาพของแรงงาน ผลที่ตามมาจากปัจจัยนี้ คือ อาจจะตัด GSP สินค้านำเข้าจากไทยมากกว่า 570 รายการใน 6 เดือนข้างหน้า ซึ่งล้วนอาจมีผลให้โอกาสในการส่งออกสินค้าสำคัญต้องชะลอตัวลงไปอีก

“ตราบใดที่ตลาดหลักๆ ที่ไทยส่งออก ชะลอตัวในการนำเข้าสินค้า final products หรือ สินค้าชั้นกลาง หรือวัตถุดิบ ก็จะมีผลถึงบริษัทขนาดใหญ่ และ SMEs ของไทย”

แน่นอนสถานประกอบการขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และขนาดเล็กที่เข้าไปเกี่ยวข้องตลอดทั้งห่วงโซ่คุณค่าของการผลิต โลจิสติกส์ และโซ่อุปทาน จะถูกกระทบมากน้อยแตกต่างกัน แรงงานที่เกี่ยวข้องกับโซ่อุปทานดังกล่าว เมื่อผลผลิตลดลง ต้องมีการปรับตัว เพื่อความอยู่รอด โดยเริ่มจากการลดกะ (OT) ในการทำงาน ลดคนงานจาก ผู้รับเหมาช่วง (subcontractor) ลดจำนวนชั่วโมงทำงาน เป็นต้น

และหากการตกต่ำของการผลิต และภาคบริการยังยืดเยื้อ ไปจนถึงปีหน้า จะมีการปิดกิจการเพิ่มมากขึ้น โดยเริ่มจากธุรกิจขนาดเล็ก SMEs ที่มีเงินทุนหมุนเวียนน้อย และอยู่ในสภาพที่ธุรกิจย่ำแย่มาก่อน ก็จะทยอยปิดตัวไป

ทั้งนี้ตัวเลขที่ปรากฏมาในอดีต คือ จำนวนแรงงานที่ลาออกเอง และจำนวนผู้รับสิทธิประโยชน์จากการถูกเลิกจ้างจนถึงทุกวันนี้ ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องอยู่แล้ว ก็จะเพิ่มสูงต่อเนื่องไป หากไม่มีมาตรการป้องกันและแก้ไขเยียวยาที่ทันท่วงทีจากทางรัฐบาล

DSC02005
ยงยุทธ แฉล้มวงษ์

ทั้งนี้เพื่อบรรเทา หรือแก้ปัญหาการว่างงาน รศ.ดร. ยงยุทธ เสนอ 6 มาตรการ ที่รัฐสามารถช่วยได้ทันที ให้ความต้องการแรงงานกลับมา ประกอบด้วย

(1) เร่งรัดทำให้เศรษฐกิจกลับมาเติบโตโดยเร็ว เช่น การดูแลค่าเงินบาท ไม่ให้แข็งกว่าประเทศคู่แข่งจนเกินไป ซึ่งจะสามารถช่วยได้ทั้งการส่งออก และการกระตุ้นจำนวนนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศ

(2) มุ่งเป้าการเฝ้าระวังไปยัง SMEs หลายแสนราย ให้สามารถระบุได้ว่า ใครเสี่ยงมากน้อยเพียงใด ที่จะปิดกิจการโดยอาศัยข้อมูลจากสถาบันการเงิน โดยตั้งเป้าช่วยฟื้นฟูให้อยู่ได้ให้นานที่สุดสำหรับด้านอุปทาน

(3) ช่วยให้คนว่างงานที่อยู่กับประกันสังคมมาก่อน ไม่ว่าจะลาออกเอง หรือออกจากงาน เพราะถูกเลิกจ้าง มาตรา 33 ให้ได้กลับเข้าไปทำงานอีกครั้ง ผ่านกลไกที่มีประสิทธิภาพ จากความร่วมมือ 3 ฝ่ายตามกฎหมาย คือ ประกันสังคม กรมจัดหางาน และกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ซึ่งอยู่ภายใต้การกำกับดูแลโดยรัฐมนตรีกระทรวงแรงงานให้เกิดผลเป็นรูปธรรม

(4) โครงการ “ผู้อาสาพัฒนาชาติ” รับสมัครผู้ว่างงานสายอาชีพ และบัณฑิตที่ว่างงานอยู่แล้วมากกว่าแสนคน และผู้จบสายอาชีพ และบัณฑิตที่น่าจะตกงานมากขึ้นในปีหน้าอีกจำนวนมาก ให้จ้างมาช่วยพัฒนาชุมชนหรือโครงการด้านสุขอนามัยเป็นเวลาอย่างน้อย 6 เดือน แทนที่จะปล่อยให้ความรู้ของพวกเขาหายไปตามกาลเวลา ซึ่งเป็นการสูญเสียทรัพยากรที่หายากของชาติ

(5) ร่วมมือกับสถานประกอบการ ในกลุ่มเดียวกัน หรือเครือเดียวกัน ในการรับ และแลกเปลี่ยนคนงานซึ่งกันและกัน โดยไม่ปล่อยให้คนงานต้องออกจากงาน โดยมีกรมการจัดหางานเป็นคนกลาง

(6) ร่วมมือกับภาคเอกชน ชะลอการนำเข้าแรงงานต่างด้าว หรือ งดการต่อสัญญาแรงงานต่างด้าวทักษะปานกลาง หันมาดูแลโควต้าจ้างคนไทยอย่างจริงจังอีกครั้ง เพื่อเพิ่มโอกาสการจ้างงานให้กับคนไทย

 

 

 

Avatar photo