Economics

ดึงศิลปะทุกแขนง ปลุก ‘พลังงานจากตะวัน’

ระดมศิลปะทุกแขนง สร้างแรงบันดาลใจประชาชน และมีส่วนร่วมผลิตพลังงานสะอาด ปีแรกเน้น “ไฟจากฟ้า” ดึงเบิร์ด ธงไชย แมคอินไตย์ กระตุ้นสังคม หันใช้ “โซลาร์เซลล์” ลดค่าใช้จ่าย-ดูแลโลก 

เป็นครั้งแรกของวงการพลังงาน ที่นำศิลปะทุกแขนงมาใช้ในการสร้างแรงบันดาลใจ ให้ผู้คนหันมาสนใจพลังงานสะอาดที่มีรอบตัว โดยเฉพาะโซลาร์เซลล์ที่ถูกเรียกอย่างละมุนว่า  “ไฟจากฟ้า”

ในปี 2562 เป็นปีแรกที่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.)ได้ร่วมมือกับองค์กรต่างๆ ที่แปลกแหวกแนวออกไป เพื่อให้เข้าถึงประชาชนทุกกลุ่มเป้าหมาย หวังยิงตรงให้มีความรู้  ดึงการมีส่วนร่วม และเกิด Action นำไปสู่การลงมือปฏิบัติใช้พลังงานอย่างประหยัด และมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะพลังงานหมุนเวียน และพลังงานสะอาด ที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อย

รูป

“ไฟ จาก ฟ้า” พลังงานสะอาดที่ทุกคนเข้าถึงได้ เป็นโครงการหลักที่เกิดขึ้น โดยใช้ Music Communication นำไปสู่การสื่อสารสร้างความรู้ความเข้าใจ เกี่ยวกับการใช้ไฟฟ้า ที่มาจากพลังงานสะอาด แก่ประชาชนทั่วไป เปิดตัวไปเมื่อวันที่ 2  สิงหาคมที่ผ่านมา งานนี้มีภาคีเครือข่ายชั้นนำร่วมงานมากมาย ได้แก่ บริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) บริษัท ทีวีบูรพา จำกัด หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (BACC)  สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ CEA และ Tellscore

ในวันเปิดตัวที่ “รอยัล พารากอน ฮอลล์” มีการจัดนิทรรศการ และแสดงดนตรี  “คอนเสิร์ต SINGING BIRD” รอบพิเศษ โดยเบิร์ด-ธงไชย แมคอินไตย์ ซึ่งถูกคัดเลือกให้เป็น “KOL” (Key Opinion Leader) หรือ Influencer Marketing  ทำหน้าที่ผู้นำทางความคิด สร้างแรงบันดาลใจ ส่งเสริมสังคม และประชาชนให้มีความรู้ความตระหนัก และมีส่วนร่วมทางด้านไฟฟ้าจากพลังงานที่สะอาด นับจากวันนั้นยังมีกิจกรรมต่อเนื่อง

IMG 20191108 154522

นายบัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ กรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เล่าว่า ในฐานะดูแลกองทุนไฟฟ้าตามมาตรา 97 ( 5) ของพรบ.การประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ.2550  ซึ่งมุ่งเน้นส่งเสริมสังคม และประชาชนให้มีความรู้ ความตระหนัก และมีส่วนร่วมด้านไฟฟ้า ได้เข้ามาดูแลกองทุนตามมาตรานี้ให้เกิดการใช้ประโยชน์อย่างจริงจัง จึงนำบทบาทของกองทุนฯดังกล่าว มากำหนดหัวข้อหลักของการสื่อสารกับแนวคิด “พลังงานสะอาดที่ทุกคนเข้าถึงได้” ให้สอดรับกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) โดยเฉพาะเป้าหมาย SDG ที่ 7 ที่มุ่งสู่การใช้พลังงานสะอาด มีความทันสมัยและยั่งยืน ของสหประชาชาติ หรือ ที่ระบุไว้ว่า “Affordable And Clean Energy” ครอบคลุม Ensure access to affordable, reliable, sustainable and modern energy for all

แต่ก่อนจะไปถึงขั้นนั้นได้ เราต้องสร้างความตระหนักรู้ก่อน เป็นที่มาของการวางหลักการสื่อสารด้านพลังงานในปี 2562 – 2563 ภายใต้ธีม “พลังงานสะอาดที่ทุกคนเข้าถึงได้” โดยจะทำในทีละประเภทพลังงานสะอาด ไม่เหวี่ยงแหเหมือนเดิม

ในปีแรก 2562 เน้นใน 2 เรื่องใหญ่ก่อน คือ โซลาร์เซลล์  และ W2E (Waste to Energy) หรือ พลังงานไฟฟ้าจากขยะ โดยมีการปรับแนวทางการบริหารจัดการเงินกองทุนฯ มาตรา 97 (5) ใหม่  เพื่อปิดปัญหาที่ผ่านมาใน 3 เรื่อง นั่นคือ โครงการที่ยื่นขอรับการสนับสนุนเป็นความสนใจของผู้ยื่นโครงการ ความเชื่อมโยงระหว่างโครงการมีน้อย และขาดการกำหนดเป้าหมายของการสื่อสารในรวม

นำมาสู่การกำหนดแนวทางการให้เงินกองทุนฯ มาตรา 97 (5) ใน 2 ส่วน คือ 1.Strategic Grant 70% และ 2.Open Grant สัดส่วน 30% วงเงินในปี 2562 ตั้งไว้ 485 ล้านบาท และ 200 ล้านบาทตามลำดับ โดยให้ผู้เสนอโครงการมุ่งเน้น

  1. การกระตุ้นการรับรู้ และสร้างแรงบันดาลใจ (Inspiration)
  2. สร้างความรู้ความเข้าใจ และให้ข้อมูลความรู้ (Education)
  3. สร้างการมีส่วนร่วม และการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม (Action) โดยมีประเด็นการสื่อสารในเรื่องโซลาร์เซลล์ และพลังงานไฟฟ้าจากขยะ

โดยมีคณะทำงาน 2 คณะ มากลั่นกรองข้อเสนอของโครงการ Strategic Grant  และ Open Grant ประกอบด้วยกกพ. และหน่วยงานภายนอก ซึ่งงบดำเนินงานในปี 2562 มีผู้ที่ผ่านการคัดเลือก Strategic Grant  6 โครงการ จากที่ยื่นมา 9 โครงการ ส่วน Open Grant ยื่นมา 119 โครงการ ผ่าน 12 โครงการ

ส่วนกิจกรรมหลักของ  Strategic Grant จะมีทั้งการสื่อสารผ่านโลกออนไลน์ สื่อสาธารณะ และสื่อไปยังตัวบุคคล

Strategic Grant แบ่งเป็น 3 ส่วน

  • การสร้างแรงบันดาลใจ มีการคัดเลือก จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ ,ทีวีบูรพา และหอศิลปะวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ( BACC )มาดำเนินงาน
  • การให้ความรู้ มี ทีวีบูรพา, จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่, Tellscore , แหล่งรวม Influencer บล็อกเกอร์ และนักการตลาด และสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (CEA ) ดำเนินงาน
  • การลงมือปฏิบัติ มีทีวีบูรพา และ Tellscore  ทำงานในระดับเครือข่ายพื้นที่

Open Grant แบ่งเป็น 3 แผนงาน 

แผนงานที่ 1 การเสริมสร้างศักยภาพพัฒนาความรู้  กลุ่มเป้าหมายเป็น โครงการหมู่บ้านจัดสรร โมเดิร์นเทรด สถานศึกษา ประชาชนทั่วไป ช่างไฟฟ้า เป็นต้น

แผนงานที่ 2 สร้างความตระหนัก จิตสำนึก และความเข้าใจ กลุ่มเป้าหมาย เป็น เยาวชนรุ่นใหม่  นักเรียนนักศึกษา หน่วยงานรัฐ นักวิ่งทั่วประเทศ ประชาชนทั่วไป ผู้ประกอบการ

แผนงานที่ 3 ส่งเสริมการมีส่วนร่วม กลุ่มเป้าหมายสื่อมวลชน นักเรียนนักศึกษา หน่วยงานรัฐ ประชาชนทั่วไป องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานเอกชน

photovoltaic 2138992 640

โซลาร์เซลล์ ผู้ที่ได้รับการคัดเลือกให้ทำในแผนที่ 1 คือ มูลนิธิสถาบันพลังงานทางเลือกแห่งประเทศไทย และมหาวิทยาลัยราชภัฎอุดรธานี  แผนงานที่ 2 มอบให้ สถาบันเอเชียศึกษา โดยความร่วมมือกับสถาบันวิจัยพลังงาน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ,บริษัทพีทู ดีไซน์ แอนด์ พริ้นท์ เป็นผู้ดำเนินงาน และแผนงานที่ 3 มอบให้สถาบันอาศรมศิลป์ ดำเนินงาน

พลังงานผสมผสาน โซลาร์เซลล์ และพลังงานไฟฟ้าจากขยะ มีบริษัทแอ็กเน็ต จำกัด ทำในแผนงานที่ 2 และบริษัทดี เอ็กซ์ โซลูชั่นส์ จำกัด ทำในแผนงานที่ 3

พลังงานไฟฟ้าจากขยะ มีบริษัท บัณฑิต เซ็นเตอร์ จำกัด และมหาวิทยาลัยศิลปากรทำในแผนงานที่ 2  ส่วนแผนงานที่ 3 ดำเนินงานโดยบริษัท คอนเทนต์ดี จำกัด บริษัท พาราดิซัล มีเดีย จำกัด และมูลนิธิสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย

นายบัณฑูร บอกว่า ในส่วนของการสร้างแรงบันดาลใจ เพื่อให้สังคมหันมาสนใจการผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์ แกรมมี่เป็นผู้ดำเนินงานระยะเวลา 6 เดือนเริ่มต้น กรกฎาคม – ธันวาคม 2562  โครงการหลัก คือ “ไฟจากฟ้า” ซึ่งสร้างการรับรู้ให้กับประชาชน

ระยะต่อไปจะเป็นเรื่องให้ความรู้ความเข้าใจและการนำไปฏิบัติจริง ซึ่งทีวีบูรพา จะมีบทบาท ผ่านรายการ “คนบันดาลไฟ” ถ่ายทอดเรื่องราวของบุคคล และสถานที่ต้นแบบที่ภาคประชาชน และเอกชนจำนวนหนึ่งได้บุกเบิก ใน 9 พื้นที่ จำนวน 13 ตอน รวมไปถึงกิจกรรมการมีส่วนร่วม

โครงการหลักเป็น “การอบรมคนบันดาลไฟ”  8 ครั้งใน 4 พื้นที่ มีทั้งหลักสูตรปฐมภูมิ หลักสูตรพึ่งตน หลักสูตรบูรณาการ ตามศักยภาพและความพร้อมของแต่ละพื้นที่

ขณะที่ BACC ซึ่งมีสถิติผู้เข้ามาเยี่ยมชม 1.3 ล้านคนต่อปี ก็มีความร่วมมือกัน ภายใต้โครงการ “จรัสแสงสร้างสรรค์” จัดกิจกรรมต่างๆ ตลอดปี โดยเมื่อว้นที่ 14 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ได้มีการเปิดตัวใช้โซลาร์เซลล์ในการผลิตไฟฟ้าในห้อง “จรัสLab” ศูนย์เรียนรู้เรื่องพลังงานสะอาด นอกจากนี้จะมีการเสวนาพลังงานทั้งในและต่างประเทศ มีละครและกิจกรรมจินตนาการสำหรับเด็ก เทศกาลหนังแห่งแรงบันดาลใจ เทศกาลละคร การอบรมครูเพื่อสื่อสารพลังงานทางเลือกในงานศิลปะ และเทศกาลศิลปะแสงกลางแจ้ง เป็นต้น

ขณะที่ CEA เน้นไปที่กระตุ้นบทบาทของเยาวชน ให้มีความคิดสร้างสรรค์ผ่านกิจกรรมแข่งขัน ในโครงการ Hackathon ส่วน Tellscore ก็มุ่งการนำบุคคล ที่เป็นที่รู้จักในแวดวงต่างๆมาร่วมรณรงค์ ทั้งศิลปินดารา บล็อกเกอร์ ยูทูบเบอร์ ผู้นำความคิด รวมประมาณ 1,000 คน อาทิ ท็อปนุ่น เจนนี่ได้หมดถ้าสดชื่น เป็นต้น

“จากการประเมินผลเบื้องต้น ในส่วนของการสร้างแรงบันดาลใจ ถือว่าประสบผลดี สามารถสร้างการรับรู้ได้อย่างดี ระหว่างเดือนสิงหาคม -ตุลาคมที่ผ่านมา เกิดเนื้อหาของกิจกรรมต่างๆ (คอนเทนท์) 1,443 คอนเทนท์ มีประชาชนเข้า 11,766,268 คน และได้คนที่เข้ามามีส่วนร่วม  (Engagement)  1,492,334 คน ”

ทางด้านการให้ความรู้ความเข้าใจ กลุ่มเป้าหมายในกิจกรรมต่างๆ เช่น การฝึกอบรมเห็นผลชัดเจน แต่กลุ่มเป้าหมายในวงกว้างต้องรอการประเมินผลต่อไป ส่วนการนำไปสู่การปฏิบัติ ยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นของ 3 เดือนแรกของการดำเนินโครงการ ยังต้องรอผลอีกระยะหนึ่ง โดยทุกโครงการที่กองทุนสนับสนุน กำหนดให้มีการประเมินผลโดยหน่วยงานภายนอก

IMG 20191108 154439

ขณะที่ น.ส.บุษบา ดาวเรือง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัทจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า  แกรมมี่ เป็นองค์กรที่มีนโยบายให้ความสำคัญเกี่ยวกับกิจกรรมสังคม และสิ่งแวดล้อมมาโดยตลอดอยู่แล้ว เมื่อกกพ.มีโครงการที่จะส่งเสริมเรื่องโซลาร์เซลล์ จึงมีความสนใจที่จะเข้าร่วม  เพราะต้องการเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างความตระหนักรู้ และมีส่วนร่วมทางด้านพลังงานไฟฟ้า

โดยรวมพลังศิลปิน ดารา นักร้อง ดีเจ ผู้ประกาศในสังกัด เป็น THAILAND VOLUNTEER ช่วยขยายการรับรู้และเผยแพร่ข่าวสารสู่สาธารณชนในวงกว้าง และนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของการใช้พลังงานในอนาคต

“เราคัดเลือกพี่เบิร์ด ธงไชย แมคอินไตย์ มาเป็น KOL เพราะเป็นผู้ที่สนใจและติดตั้งโซลาร์เซลล์เมื่อ 2 ปีมาแล้ว ที่ “บ้านไร่อุดมสุข” จังหวัดเชียงราย เพื่อใช้ในการทำสวนเกษตร ขณะที่เขาก็ติดดิน เข้าถึงได้ทุกกลุ่มวัย สื่อสารได้ดี พูดเรื่องยากให้เป็นเรื่องง่าย และสนุกสนาน ที่สำคัญมีพลังบวก” 

LINE P20191115 125425490

นอกจากการแสดงคอนเสิร์ตในวันเปิดตัว “ไฟจากฟ้า” เมื่อวันที่ 2 สิงหาคมที่ผ่านมา และมีการจัดนิทรรศการรณรงค์โซลาร์เซลล์แล้ว ยังมีการทำรายการวาไรตี้ “ไฟจากฟ้า” จำนวน 4 ตอน เริ่มออกอากาศตอนแรกในวันที่ 22 พฤศจิกายนนี้ ทางช่องวัน 31 โดยนำพี่เบิร์ดไปพูดคุยกับบุคคลต่างๆ สัมผัสบรรยากาศของผู้คนในชีวิตจริง ที่ใช้โซลาร์เซลล์ทั้งในครัวเรือน โรงเรียน และชุมชน

อาทิเช่น  “ชุมชนตำบลหนองตาแต้ม” จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เพื่อพบกับลุงเล็ก และปลัดปี๊ด ผู้เปลี่ยนแปลงหมู่บ้านที่ไฟเข้าไม่ถึงให้กลับมามีแสงไฟในยามค่ำคืนด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ จนได้รับรางวัลจากสหประชาชาติจากการประกวด United Nations Public Service Awards 2019 (UNPSA) โดยได้รับรางวัลชนะเลิศสาขา Developing effective and responsible public instructions

รวมถึง The Cloud ยังได้จัดทำวิดีโอซีรี่ส์ Song From The Sun พาไปไขข้อข้องใจกับ “ดร.ดุสิต เครืองาม”  นายกสมาคมอุตสาหกรรมเซลล์แสงอาทิตย์ จากคำถามคาใจต่างๆ อาทิ การดูแลแผงโซลาร์เซลล์ ขยะอิเล็กทรอนิกส์ การลงทุนติดตั้งโซลาร์รูฟท็อป เป็นต้น และยังได้ไปเยี่ยมบ้าน “ต้นคิดทิพย์ธรรม” ของ ดร.เดชรัต สุขกำเนิด อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่ติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ ลดค่าไฟในบ้านได้อย่างเป็นรูปธรรม รวมถึงจะพาไปดูบ้านไร่อุดมสุขของพี่เบิร์ด ที่ใช้โซลาร์เซลล์ทำเกษตรด้วย

LINE P20191115 125508601

ขณะเดียวกันแกรมมี่ยังแต่งบทเพลง “แสงของดวงตะวัน” ร้อยเรียงสะท้อนความงดงามของพลังงานสะอาดอย่างพลังงานแสงอาทิตย์ แต่งคำร้องโดย นิติพงษ์ ห่อนาค ซึ่งมีการออกอากาศไปแล้ว ผ่านช่องทางต่างๆของแกรมมี่ ทั้งบทเพลง และมิวสิควิดีโอ อัดเสียงด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งได้รับการตอบรับอย่างดี

“ถือเป็นนวัตกรรมใหม่ที่มีการนำ Music Communication มาใช้ในการสื่อสารสังคม เป็น Soft Power ที่ได้ผล เพราะในยุคปัจจุบันผู้คนต้องการแรงผลักดัน และแรงบันดาลใจ ในการลุกขึ้นมามีส่วนร่วมขับเคลื่อนประเด็นทางสังคม  และตลอดระยะเวลา 3-4 เดือนที่ผ่านมา  ยืนยันว่ากิจกรรมของเรากระชับ หนักแน่น และรุนแรง สื่อสารผ่านทุกช่องทางที่เรามีอยู่ สร้างการรับรู้ทางสังคมอย่างได้ผลไปยังกลุ่มเป้าหมายทุกกลุ่ม”

ต้องชื่นชม กกพ. ที่มีวิสัยทัศน์กว้างไกล กับการใช้ยุทธศาสตร์การสื่อสาร ที่ต้องยอมรับว่าเป็นนวัตกรรม และได้ผลจับต้องได้ ซึ่งสามารถสร้างการรับรู้แก่ประชาชนทั่วไปในวงกว้าง เพียงระยะเวลาสั้นๆ หลังจากเปิดตัวโครงการ “ไฟ จาก ฟ้า พลังงานสะอาดที่ทุกคนเข้าถึงได้

Avatar photo