World News

‘เห็นพระอาทิตย์ขึ้น 2 ครั้ง’ แควนตัสทดสอบเที่ยวบินไกลสุดในโลกกว่า 19 ชั่วโมง

แควนตัสประสบความสำเร็จ ทดสอบเที่ยวบิน ที่อาจจะเป็นการบินพาณิชย์ระยะทางไกลสุดในโลกจากกรุงลอนดอน มายังนครซิดนีย์ ใช้เวลาเดินทาง 19 ชั่วโมง 19 นาที ซีอีโอระบุ ได้เห็นพระอาทิตย์ขึ้น 2 ครั้ง

qan 1

เครื่องบินโบอิง 787-9 ดรีมไลน์เนอร์ ของสายการบินแควนตัส ออสเตรเลีย ออกเดินทางจากกรุงลอนดอน ช่วงเช้าวานนี้ (14 พ.ย.) ตามเวลาในอังกฤษ และลงแตะพื้นสนามบินในนครซิดนีย์ ออสเตรเลีย ช่วงเวลาประมาณ 12.00 น. วันนี้ (15 พ.ย.)

อลัน จอยซ์ ซีอีโอแควนตัส กล่าวหลังจากที่ก้าวลงจากเครื่องบินว่า “เราได้เห็นพระอาทิตย์ขึ้น 2 ครั้ง” โดยแควนตัสตั้งชื่อการทดลองนี้ว่า “โปรเจค ซันไรซ์” ตามชื่อเที่ยวบินของสายการบินในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2

EJUAAqNWwAExqab
ภาพ : Twitter @qantas

สายการบินเปิดเผยด้วยว่า หลังจากการบินอันยาวนานแล้ว เครื่องบินใน เที่ยวบินทดสอบนี้ ซึ่งมีผู้โดยสาร และลูกเรือเพียง 40 คนเท่านั้น ยังมีเชื้อเพลิงเหลือมากพอที่จะบินต่อไปได้อีกราว 1 ชั่วโมง 45 นาที โดยตามปกติแล้ว ดรีมไลน์เนอร์ สามารถบรรทุกผู้โดยสารได้สูงสุด 300 คน แต่ในปัจจุบันยังไม่สามารถบินตรงจากลอนดอน มายังซิดนีย์โดยไม่แวะพักเติมน้ำมัน ถ้าหากบรรทุกเต็มประสิทธิภาพทั้งผู้โดยสาร และสินค้า

ผู้โดยสารที่เดินทางมากับเที่ยวบินนี้ ส่วนใหญ่เป็นพนักงานของแควนตัส ซึ่งทำหน้าที่ติดตามรูปแบบการนอนหลับ การบริโภคอาหาร และเครื่องดื่ม แสงสว่าง และการเคลื่อนไหวร่างกายของผู้โดยสาร และลูกเรือ ขณะทำการบินระยะไกล

EJY3Wd7W4AAb8R
ภาพ : Twitter @qantas

เที่ยวบินนี้ ยังทำให้โบอิง 787-9 ดรีมไลน์เนอร์เป็นเครื่องบินลำที่ 2 ที่บินตรงในเส้นทางบินนี้ โดยไม่แวะพักที่ไหน โดยเที่ยวบินแรกเกิดขึ้นในเดือนสิงหาคม 2532 เป็นเครื่องบินโบอิง 747-400 ที่ทำการบินโดยมีเฉพาะลูกเรือเท่านั้น และปัจจุบันเครื่องบินลำนี้ถูกเก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑ์

การบินเส้นทางกรุงลอนดอน-นครซิดนีย์ ยังเกิดขึ้นหลังเมื่อเดือนที่แล้ว แควนตัสเพิ่งจะนำดรีมไลน์เนอร์บินตรงโดยไม่แวะพักจากนิวยอร์ก สหรัฐ มายังซิดนีย์ แต่เส้นทางบินดังกล่าว สั้นกว่าเส้นทางนี้ราว 1,600 กิโลเมตร

ทั้งนี้ แควนตัสดำเนินการทดสอบการบินระยะทางไกลแบบไม่แวะพัก ในช่วงเวลาที่สายการบินกำลังฉลอง 100 ปีของการให้บริการเดินทางทางอากาศ ซึ่งบริษัทยังจำเป็นต้องบรรลุข้อตกลงกับกลุ่มนักบิน และรอคำอนุญาตจากเจ้าหน้าที่คุมกฎระเบียบออสเตรเลีย ก่อนที่จะเปิดให้บริการจริง ที่ตั้งเป้าไว้ในปี 2566

Avatar photo