Branding

ชำแหละ ‘ซีพีออลล์’ 9 เดือนยังโตทั้งยอดขาย-กำไร สวนทิศเศรษฐกิจซบ

ในภาวะที่ภาพรวมอุตสาหกรรมค้าปลีกของประเทศไทยที่เติบโตเพียง 2.6% ซึ่งโตต่ำกว่า GDP ประเทศไทยที่ปีนี้คาดว่าจะเติบโต 2.8% แต่สำหรับผู้นำธุรกิจร้านสะดวกซื้อ หรือ คอนวีเนียนสโตร์ อย่าง บริษัท ซีพีออลล์ จำกัด (มหาชน) ผู้ดำเนินธุรกิจ ร้านเซเว่นอีเลฟเว่น ผลประกอบการในรอบ 9 เดือนที่ผ่านมาของปี 2562 ยังเติบโตได้อย่างน่าสนใจ ทั้งในแง่ของยอดขายและผลกำไร

CPALL cover 01

อะไรเป็นสาเหตุให้ เซเว่นอีเลฟเว่นยังคงเติบโตสวนทางภาพรวมอุตสาหกรรมค้าปลีกไทยและภาพรวมเศรษฐกิจไทยที่ยังคงไม่ฟื้นตัว

เริ่มจากผลประกอบการเฉพาะ ไตรมาส 3 ปี 2562 ของ ซีพีออลล์ ที่ทำ รายได้ของบริษัทและบริษัทย่อยอยู่ที่ 141,072 ล้านบาท ซึ่งเติบโตเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน 8.2% ขณะที่ กำไรขั้นต้นจากการขายและบริการเท่ากับ 31,177 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 11% จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และมีอัตรากำไรขั้นต้นในงบการเงินรวมของบริษัทเป็น 23% เพิ่มขึ้น 22.4% จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน

CPALL p02 01

ทั้งนี้ ปัจจัยหลักที่ทำให้รายได้รวมเพิ่มขึ้น มาจากรายได้จากการขายสินค้าและบริการที่เพิ่มสูงขึ้นจากธุรกิจร้านสะดวกซื้อ รวมถึงจากธุรกิจศูนย์จำหน่ายสินค้าระบบสมาชิกแบบชำระเงินสดและบริการตนเอง ภายใต้ชื่อ “สยามแม็คโคร” รวมถึงการขยายสาขาเพื่อรองรับกับการพัฒนาวิถีการดำเนินชีวิตของลูกค้า และให้ลูกค้าสามารถเข้าถึงสินค้าได้อย่างสะดวก

ปัจจัยที่ทำให้กำไรเพิ่มขึ้นมาจากธุรกิจร้านสะดวกซื้อมีสัดส่วนของยอดขายสินค้าที่มีกำไรขั้นต้นสูงเพิ่มขึ้น และธุรกิจศูนย์จำหน่ายสินค้าระบบสมาชิกแบบชำระเงินสดและบริการตนเองของสยามแม็คโคร ที่ยังคงรักษาอัตรากำไรขั้นต้นให้อยู่ในระดับที่น่าพอใจ

7 11

จากนั้น เมื่อพิจารณาภาพรวมผลประกอบการ 9 เดือน พบว่า ซีพีออลล์ ยังสามารถทำยอดขายและกำไรโดยรวมได้เพิ่มสูงขึ้น จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า เริ่มจากยอดขายที่มีรายได้รวมจำนวน 423,184 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9.1% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีสาเหตุหลักจากรายได้จากการขายสินค้าและบริการที่เพิ่มขึ้น 9.3% ในขณะที่กำไรสุทธิมีจำนวน 16,176 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.2% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และกำไรต่อหุ้นตามงบการเงินรวม มีจำนวน 1.72 บาท

ปัจจุบัน รายได้รวมของบริษัท ซีพีออลล์ จำกัด (มหาชน) มาจาก ร้านเซเว่นอีเลฟเว่นและธุรกิจอื่นๆ 66% อีก 34% มาจากธุรกิจค้าส่งแบบชำระเงินสดและบริการตนเอง หรือ แม็คโคร ขณะที่เมื่อดูผลกำไร กลับมาจากเซเว่นอีเลฟเว่นถึง 81% และแม็คโคร 19%

เซเว่นพัทยา

ดังนั้นจะเห็นได้ว่า เซเว่นอีเลฟเว่น ยังคงเป็นธุรกิจเรือธงที่สร้างรายได้ และผลกำไรให้กับ ซีพีออลล์ โดยในไตรมาส 3 ปี 2562 ร้านเซเว่นอีเลฟเว่น มีผลงานโดดเด่นประกอบด้วย

  • ขยายสาขาใหม่รวม 112 สาขา ส่งผลให้สิ้นไตรมาส 3 มีจำนวนสาขาทั่วประเทศรวม 11,640 สาขา โดยในจำนวนนี้ 15% เป็นสาขาในสถานีบริการน้ำมัน ปตท.
  • มีรายได้จากการขายสินค้าและบริการรวม 83,229 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน 6,378 ล้านบาท หรือคิดเป็นอัตราการเติบโต 8.3%
  • ยอดขายเฉลี่ยของร้านเดิมมีอัตราการเติบโตเท่ากับ 2% โดยมียอดขายเฉลี่ยต่อร้านต่อวัน เท่ากับ 80,714 บาท
  • ยอดซื้อต่อบิลโดยประมาณเท่ากับ 70 บาท และจำนวนลูกค้าต่อสาขาต่อวันเฉลี่ย 1,153 คน
  • สินค้ากลุ่มอาหารมีอัตราการเติบโตในระดับที่สูงกว่าสินค้าอุปโภค (ไม่รวมบัตรโทรศัพท์)
  • สัดส่วนของรายได้จากการขาย 71.1% มาจากสินค้ากลุ่มอาหาร และ 28.9% มาจากสินค้าอุปโภค
  • กำไรขั้นต้นอยู่ที่ 23,349 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน 2,073 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 9.7%
  • อัตราส่วนกำไรขั้นต้นเท่ากับ 28.1% เพิ่มขึ้นจากไตรมาส 3 ปี 2561 ที่มีอัตราส่วน 27.7%
  • มีรายได้อื่นอีกจำนวน 5,358 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันปีก่อน 414 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 8.4% จากการเพิ่มขึ้นของรายได้ค่าส่งเสริมการขาย ซึ่งเกิดจากการจัดรายการส่งเสริมการขายร่วมกับคู่ค้า

เซเว่น1

ขณะที่ 9 เดือนแรกปี 2562 มีประเด็นที่น่าสนใจคือ เซเว่นอีเลฟเว่น มีรายได้รวมจำนวน 270,400 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8.6% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยการเติบโตดังกล่าวเกิดจากรายได้จากการขายสินค้าและบริการที่เพิ่มขึ้น ในขณะที่กำไรสุทธิมีจำนวน 16,952 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 0.5% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

เมื่อพิจารณาจากเป้าหมายที่เซเว่นอีเลฟเว่น จะขยายสาขาให้ได้ครบ 13,000 สาขาภายในปี 2564 โดยตั้งเป้าจะเปิดสาขาใหม่ปีละไม่ต่ำกว่า 700 สาขา ซึ่งในปีนี้คาดว่าจะเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ จึงเชื่อว่าเป้าหมาย 13,000 สาขา ไม่น่าจะเกินเอื้อม เนื่องจากการขยายตัวของชุมชน ทำให้เกิดทำเลที่มีศักยภาพใหม่ๆ เพิ่มมากขึ้น และเป็นโอกาสของเซเว่นอีเลฟเว่นสำหรับการขยายสาขาใหม่เช่นกัน

เซเว่น

ด้านงบลงทุนในปีนี้ ซีพีออลล์ คาดว่าจะใช้ งบลงทุนประมาณ 11,500 – 12,000 ล้านบาท แบ่งได้ดังนี้

งบประมาณสำหรับเปิดสาขาใหม่ 3,800 – 4,000 ล้านบาท
• การปรับปรุงร้านเดิม 2,400 – 2,500 ล้านบาท
• โครงการใหม่ บริษัทย่อย และศูนย์กระจายสินค้า 4,000 – 4,100 ล้านบาท
• สินทรัพย์ถาวร และระบบสารสนเทศ 1,300 – 1,400 ล้านบาท

ต้องยอมรับว่า ปัจจุบัน เซเว่นอีเลฟเว่น เป็นผู้นำธุรกิจร้านสะดวกซื้ออย่างชัดเจน เด็ดขาด ทั้งในแง่จำนวนสาขา รายได้ ผลกำไร รวมไปถึงการปรับตัวพัฒนาธุรกิจอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการเปิดรับเทคโนโลยีใหม่ๆ แล้วนำมาปรับใช้กับธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นการเปิดร้านเซเว่น 4.0 ที่สาขาสาธิตไอพีเอ็ม ย่านแจ้งวัฒนะ เพื่อเป็นแฟลกชิพสโตร์สำหรับสาขาอื่นๆ ในการนำเทคโนโลยีมาปรับใช้ ไม่ว่าจะเป็น การชำระเงินด้วยตัวเอง ไมโครเวฟที่อุ่นอาหารได้อัตโนมัติจากบาร์โค้ด หุ่นยนต์สำหรับทักทายลูกค้า ฯลฯ

ตู้หยอดเหรียญ

นอกจากการนำเทคโนโลยีมาใช้ในร้านแล้ว เซเว่นอีเลฟเว่นยังมองโอกาสเติบโตนอกร้าน เพื่อทะลายข้อจำกัดในการเข้าถึงลูกค้าได้ทุกที่ทุกเวลา ไม่ว่าจะเป็น การตั้งตู้จำหน่ายสินค้าหยอดเหรียญในแหล่งชุมชน อาคารสำนักงาน คอนโดมิเนียม ไปจนถึงการขยายช่องทางจำหน่ายสินค้าออนไลน์ผ่านเว็บไซต์และโซเชียลมีเดีย จำหน่ายผ่านแคตตาล็อก ไปจนถึงการจัดส่ง

การปรับตัวอย่างไม่หยุดนิ่งเพื่อให้ตามเทรนด์ และนำเทรนด์นี่เอง ที่ทำให้ เซเว่นอีเลฟเว่น ยังคงครองใจลูกค้าและยึดตำแหน่งผู้นำตลาดค้าปลีก เซ็กเมนต์คอนวีเนียนสโตร์ไว้ได้อย่างเหนียวแน่น แม้จะมีอีคอมเมิร์ซเข้ามาท้าชิงอย่างดุเดือดในทุกวันนี้

Avatar photo