Marketing Trends

โชว์นวัตกรรม ‘ถุงพลาสติกสลายตัวได้’ ประเดิมงาน ‘กาชาดสีเขียว 62’

สวทช. ผนึกกำลังพันธมิตร พัฒนา “ถุงพลาสติกสลายตัวได้” สำหรับขยะอินทรีย์ จากแล็บสู่การขยายผลเพื่อใช้งานจริง ประเดิมทดลองใช้สำหรับแยกขยะอินทรีย์ใน “งานกาชาด 2562”

ดร.จุลเทพ ขจรไชยกูล ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เปิดเผยว่า เอ็มเทค และ สวทช. ได้ร่วมกับสมาคมอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพไทย (TBiA) ผลิต “ถุงพลาสติกสลายตัวได้สำหรับขยะอินทรีย์” ที่เป็นผลงานวิจัยของเอ็มเทค สวทช. ร่วมกับ บริษัท เอสเอ็มเอส คอร์ปอเรชั่น จำกัด พัฒนาสูตรพลาสติกชีวภาพขึ้นโดยใช้วัตถุดิบที่มีในประเทศไทยคือ แป้งมันสำปะหลัง นำมาแปรรูปเป็นพลาสติกและทำการผสมสูตรเพื่อเพิ่มสมบัติทางวิศวกรรมให้เหมาะสมกับการนำไปขึ้นรูปเป็นฟิล์มบาง

Pic ถุงพลาสติกย่อยสลายได้ทางชีวภาพ

ทั้งนี้เนื่องจาก ปัญหาขยะพลาสติก ทั้งบนบกและในทะเลกลายเป็นประเด็นสำคัญที่ทั่วโลกตื่นตัวกันมาก โดยประเทศไทยถูกจัดอยู่ในลำดับที่ 6 ของประเทศที่ทิ้งขยะพลาสติกสู่ท้องทะเลมากที่สุดในโลก สาเหตุสำคัญมาจากพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง (Single-use Plastic) มีอัตราส่วนที่มากถึง 40% ของขยะพลาสติกทั้งหมด

จากผลกระทบของการหลุดรอดของขยะออกไปสู่สิ่งแวดล้อมทำให้ภาครัฐร่วมมือกับภาคส่วนต่างๆ จัดทำแผนปฏิบัติการด้านการจัดการขยะพลาสติก 20 ปี และกำหนดการลดและเลิกใช้ผลิตภัณฑ์พลาสติกประเภทใช้ครั้งเดียวทิ้ง จำนวน 7 ชนิด ที่พบมากในทะเลของประเทศไทยและก่อให้เกิดผลกระทบต่อระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อม

2 4

สำหรับ ถุงพลาสติกสลายตัวได้สำหรับขยะอินทรีย์ เป็นนวัตกรรมที่ผลิตขึ้นโดยนักวิจัยไทยและภาคเอกชนของไทย ซึ่งเตรียมประเดิมใช้ในงานกาชาด 2562 ตั้งแต่วันที่ 15-24 พฤศจิกายน 2562 ณ สวนลุมพินีเป็นงานแรก ซึ่งได้รับความร่วมมือจากภาคีอุตสาหกรรมพลาสติก ได้แก่ บริษัท โททาล คอร์เบียน พีแอลเอ (ประเทศไทย) จำกัด และ บริษัท บีเอเอสเอฟ (ไทย) จำกัด ผู้สนับสนุนวัตถุดิบเม็ดพลาสติกชีวภาพ และบริษัท ทานตะวันอุตสาหกรรม จำกัด (มหาชน) สนับสนุนกระบวนการเป่าขึ้นรูปถุงพลาสติกสลายตัวได้

Pic ดร.นพดล เกิดดอนแฝก นักวิจัย เอ็มเทค สวทช. โชว์ถุงต้นแบบงานวิจัย
นพดล เกิดดอนแฝก

ดร.นพดล เกิดดอนแฝก นักวิจัยทีมวิจัยเทคโนโลยีพลาสติก กลุ่มวิจัยเทคโนโลยีโพลิเมอร์ขั้นสูง เอ็มเทค สวทช. เปิดเผยว่า จุดเด่นของถุงพลาสติกย่อยสลายได้ มีส่วนผสมจากวัตถุดิบธรรมชาติ คือ แป้งมันสำปะหลัง จากบริษัท เอสเอ็มเอสฯ นำมันสำปะหลังของเกษตรกรไทยเป็นวัตถุดิบหลักมาผสมด้วยการใช้ความร้อนหลอม ผลิตออกมาเป็นเม็ดคอมพาวด์ หรือเม็ดพลาสติกผสมที่มีความเหนียว ยืดหยุ่นและแข็งแรง สามารถเป่าขึ้นรูปได้ง่ายด้วยเครื่องจักร เครื่องเป่าถุงที่โรงงานบริษัท ทานตะวันฯ โดยไม่ต้องดัดแปลงเครื่องจักร

ต้นแบบถุงพลาสติกย่อยสลายได้ สำหรับใช้คัดแยกขยะอินทรีย์มี 2 ขนาด คือ ถุงหน้ากว้าง 18 นิ้ว สำหรับใช้ตามร้านขายอาหาร และถุงหน้ากว้าง 30 นิ้วสำหรับวางตามจุดคัดแยกมากกว่า 40 จุดทั่วงานกาชาด โดยมีทีมงานจิตอาสาที่จะคอยให้ข้อมูลและแนะนำวิธีการคัดแยกขยะที่ถูกต้องก่อนที่ทางกรุงเทพมหานครจะนำไปบริหารจัดการขยะในโรงงานขยะต่อไป

Avatar photo