Business

‘ไมโครอินฟลูเอนเซอร์’ ไม่แรงแต่ Real

ปัจจุบันคนทั่วไป 86%  “ไม่เชื่อ”สิ่งที่แบรนด์พูดหรือสิ่งที่แบรนด์โฆษณา แต่ 92% เชื่อ” ในสิ่งคนทั่วไปพูดถึงแบรนด์ โดยเฉพาะจากเพื่อนหรือคนใกล้ชิด ผู้บริโภคในยุคนี้ ชอบคอนเทนท์มากกว่าโฆษณา โดยเฉพาะคอนเทนท์ที่มาจาก อินฟลูเอนเซอร์ (Influencer)

เทลสกอร์ อินฟลูเอนเซอร์

ภาวุธ พงษ์วิทยภานุ ผู้ถือหุ้น บริษัท เทลสกอร์ จำกัด กล่าวว่าปี 2561 แนวโน้มการสื่อสารการตลาดและการใช้งบโฆษณาสื่อดิจิทัล จะมุ่งมาที่ “อินฟลูเอนเซอร์” มากขึ้น  สอดคล้องกับตลาดอีคอมเมิร์ซ ผ่านช่องทางออนไลน์ของผู้ประกอบการ ที่แบ่งเป็น 3 ช่องทางหลัก คือ เว็บไซต์หรือแอพพลิเคชั่นของผู้ประกอบการ ,มาร์เก็ตเพลส และ โซเชียลมีเดีย (โซเชียล คอมเมิร์ซ) พบว่าช่องทางโซเชียลเติบโตสูงสุดและเป็นแพลตฟอร์มที่นิยมใช้อินฟลูเอนเซอร์ในการสื่อสาร

โดยเฉพาะ “ไมโคร อินฟลูเอ็นเซอร์” ที่มีผู้ติดตามตั้งแต่ 500- 5 แสนรายขึ้นไป ซึ่งเป็นการสื่อสารที่สร้างความน่าเชื่อถือ จากการใช้งานสินค้าและบริการจริง พร้อมนำมาบอกต่อในกลุ่มคนที่ติดตาม  “ไมโคร อินฟลูเอนเซอร์ มีไลฟ์สไตล์ที่น่าสนใจเข้าถึงง่าย  เรียกได้ว่า “มีความเป็นมิตรกับผู้บริโภคมากกว่า”

“การสื่อสารผ่านอินฟลูเอนเซอร์กำลังเป็นที่นิยม และเป็นเทรนด์ที่กำลังเติบโต เพราะผู้บริโภคในยุคนี้เริ่มไม่เชื่อการสื่อสารผ่านเซเลบริตี้  เพราะมองว่าเป็นการจ่ายเงินเพื่อโฆษณา แต่การใช้ไมโครอินฟลูเอนเซอร์ ช่วยสร้างความถี่ในการเข้าถึงผู้บริโภคเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง”

ช่วงต้นปีที่ผ่านมา Linqia สำรวจนักการตลาด 200 คน พบว่า 39% มีแผนเพิ่มการใช้อินฟลูเอนเซอร์ในปีนี้มากขึ้น และ 92% บอกว่าการใช้อินฟลูเอนเซอร์ ส่งผลต่อแคมเปญการตลาดของแบรนด์ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น   ขณะที่แนวโน้มการใช้อินฟลูเอนเซอร์ในปีนี้  พบว่า 52% ของนักการตลาดจะใช้อินฟลูเอนเซอร์ควบคู่การใช้เซเลบริตี้ บล็อกเกอร์ และไมโครอินฟลูเอนเซอร์

เทลสกอร์ อินฟลูเอนเซอร์

“ภาวุธ”ลงทุนถือหุ้น เทลสกอร์ 15%

จากแนวโน้มการสื่อสารผ่านอินฟลูเอนเซอร์เพิ่มขึ้นดังกล่าว ภาวุธ บอกว่าเขาได้เข้าไปลงทุนส่วนตัว ร่วมถือหุ้นใน บริษัท เทลสกอร์ จำกัด ซึ่งเป็นสตาร์ทอัพด้านไมโครอินฟลูเอนเซอร์ (Micro Influencers)  สัดส่วน 15%  โดยมองโอกาสการนำธุรกิจดังกล่าวขยายสู่ตลาดต่างประเทศในปีหน้า

“เม็ดเงินโฆษณาสื่อดิจิทัลที่เพิ่มขึ้นทุกปี ปีนี้คาดการณ์ที่ 1.4 หมื่นล้านบาท แต่ 90% ไหลออกนอกประเทศ เพราะใช้จ่ายผ่านแพลตฟอร์มต่างชาติ  แต่เทลสกอร์ เป็นการใช้แพลตฟอร์มต่างชาติ เป็นช่องทางการสื่อสารที่เม็ดเงิน จะอยู่กับผู้สร้างสรรค์คอนเทนท์ กลุ่มอินฟลูเอนเซอร์คนไทย”

เทลสกอร์โชว์เครือข่าย 2 หมื่นราย       

สุวิตา จรัญวงศ์ ผู้ก่อตั้งและกรรมการผู้จัดการ บริษัท เทลสกอร์ จำกัด กล่าวว่า  “เทลสกอร์”เป็นเทค สตาร์ทอัพ ที่พัฒนาแพลตฟอร์ม “อินฟลูเอนเซอร์ แมเนจเมนต์” (Influence Management) เริ่มต้นในปี 2559  โดยเปลี่ยนธุรกิจจากเอเยนซี ออนไลน์ ที่ทำงานมา 20 ปี สู่การพัฒนารูปแบบการสื่อสารจากบุคคลไปยังบุคคล หรือ “ไมโครอินฟลูเอนเซอร์”  ในลักษณะการสื่อสารแบบตัวต่อต่อไปยังมวลชนผ่านสื่อโซเชียล  ซึ่งมีข้อดีด้านความน่าเชื่อถือ เพราะผู้บริโภค 90% ชอบคอนเทนท์ที่ผู้ใช้สื่อโซเชียลสร้างขึ้นมากกว่าโฆษณา โดยเฉพาะคอนเทนท์ที่มาจากอินฟลูเอนเซอร์

 

เทลสกอร์ อินฟลูเอนเซอร์ปัจจุบันเทลสกอร์ มีเครือข่ายอินฟลูเอนเซอร์ ระดับ ไมโครอินฟลูเอนเซอร์ ที่มีผู้ติดตามหลักพันราย ,กลุ่มอัพ คัมเมอร์ อินฟลูเอนเซอร์ (Upcomer Influencer) ผู้ติดตามหลักหมื่นราย, กลุ่มมาโคร อินฟลูเอนเซอร์ (Macro Influencer) ผู้ติดตามหลักแสนหรือหลักล้านราย  หลังจากเปิดให้บริการไตรมาส 4 ปี 2560 ปัจจุบันมีอินฟลูเอนเซอร์ในแพลตฟอร์มประมาณ 2 หมื่นราย โดยมีไมโครอินฟลูเอนเซอร์ 80% ส่วนมาโคร อินฟลูเอนเซอร์และเซเลบ 20%

ช่องทางการสื่อสารเทลสกอร์ผ่านอินฟลูเอนเซอร์ ประกอบด้วย เฟซบุ๊กบุคคล  58%  อินสตาแกรม 25% เฟซบุ๊กเพจ 12%  และทวิตเตอร์ 5%  ปีหน้าจะเพิ่มแฟลตฟอร์มยูทูบเข้ามา

สำหรับกลุ่มคอนเทนท์ในแพลตฟอร์ม เทลสกอร์ มี 12 กลุ่ม คือ  1.อาหาร,เครื่องดื่ม, ร้านอาหาร 2. โซเชียลเทรนด์, ปรากฎการณ์,ข่าว 3.ผู้หญิง,บิวตี้,แฟชั่น 4.ท่องเที่ยว 5.สุขภาพ,กีฬา 6.บันเทิง,ภาพยนตร์,ทีวี,เซเลบ 7.เทคโนโลยี,แกดเจ็ต,เกมส์,ผู้ชาย 8.รถยนต์,มอเตอร์สปอร์ต  9.การลงทุน,อสังหาริมทรัพย์  10.ดีไซน์,ศิลปะ,การตกแต่ง  11.ไลฟ์สไตล์,งานอดิเรก,การทำอาหาร,สัตว์เลี้ยง, DIY  12.กูรู

เทลสกอร์ อินฟลูเอนเซอร์

ไมโครอินฟลูเอนเซอร์ organic reach สูง

พบว่าไมโคร อินฟลูเอนเซอร์ ที่มีผู้ติดตาม  ต่ำกว่า 1,000 คน  มี organic reach สูงสุด 42.9%  ส่วนผู้ติดตามที่ 1,000- 1 หมื่นราย อยู่ที่ 24.8%  ผู้ติดตาม 1-5 หมื่นราย อยู่ที่ 14.9%  ผู้ติดตาม 5 หมื่น- 1 แสนราย อยู่ที่ 10.1%  ผู้ติดตาม 1 แสนรายขึ้นไป อยู่ที่ 7%  ผู้ติดตาม  5 แสนรายขึ้นไป อยู่ที่ 4.4%  และผู้ติดตาม  1 ล้านรายขึ้นไป อยู่ที่ 2.1%  ซึ่งเป็นผลมาจากการแสดงผลของเฟซบุ๊ก ที่จะแสดงโพสต์ในกลุ่มเพื่อนมากกว่าเพจที่มีผู้ติดตามจำนวนมาก

เทลสกอร์ อินฟลูเอนเซอร์

สุวิตา กล่าวว่าการสื่อสารผ่านอินฟลูเอนเซอร์เป็นสื่อสารส่วนบุคคลถึงกลุ่มเพื่อนและผู้ติดตาม แม้มีจำนวนไม่มาก อยู่ที่หลักพันคน แต่มีเอ็นเกจเมนต์ และ organic reach สูง ทำให้การลงทุนคุ้มค่า อีกทั้งเป็นการสื่อสารข้อมูลจริง (real content) ที่เกิดจากการรีวิวและใช้สินค้า จึงสร้างความน่าเชื่อถือให้กับสินค้าและบริการ อีกทั้งเป็นการสื่อสารที่สามารถใช้อธิบายสินค้าและบริการที่มีรายละเอียดในการใช้งานได้ดี เช่น สินค้าทางการเงิน  อสังหาฯ

รูปแบบการจ่ายเงินให้กับอินฟลูเอนเซอร์ของเทลสกอร์  มีตั้งแต่ 100 บาทต่อโพสต์ สูงสุดที่ 5 หมื่นบาทต่อโพสต์  อินฟลูเอนเซอร์ที่มีรายได้ประจำสูงสุดที่ 5 หมื่นบาทต่อเดือน

“การสื่อสารผ่านเซเลบริตี้ ที่มีคนติดตามหลักล้าน  ถือเป็นช่องทางแมสที่สร้างการรับรู้แบรนด์ ซึ่งมีราคาต่อโพสต์สูงตั้งแต่ 1.5 แสนบาทถึงหลักล้าน  แต่การสื่อสารผ่านไมโครอินฟลูเอนเซอร์ แม้ไม่แรงเท่าเซเลบ แต่มีความเรียล ที่ผู้ติดตามเชื่อถือจากการใช้จริง  การใช้งบสื่อสารผ่านไมโคร อินฟลูเอนเซอร์ จึงไม่ต้องจ่ายค่าความดัง แต่จ่ายค่ากระจายข่าวที่เข้าถึงผู้บริโภคได้จริง”

ตั้งแต่ปี 2559  เริ่มเห็นทิศทางนักการตลาด แบรนด์และสินค้าต่างๆ ที่จัดสรรงบประมาณผ่านการสื่อสารอินฟลูเอนเซอร์มากขึ้น ปัจจุบันอยู่ที่ 30-40%  โดยมีทั้งบโฆษณาและงบการตลาด  ปัจจุบันประเมินว่างบโฆษณาสื่อดิจิทัลกว่า 1.2 หมื่นล้านบาทในปี 2560  มีสัดส่วนมาจากการสื่อสารผ่านอินฟลูเอนเซอร์ 20-30%

เทลสกอร์ อินฟลูเอนเซอร์

สำหรับบริการของเทลสกอร์ จะเป็นรูปแบบ “มาร์เก็ตติ้ง ออโตเมชั่น” สามารถให้บริการจัดการอินฟลูเอนเซอร์ได้ครั้งละจำนวนมาก วิเคราะห์ สรุปค่าจ้าง และประเมินผลลัพธ์ของแคมเปญ  โดยมีบริการ 2 รูปแบบ คือ 1.บริการแบบบริหารจัดการด้วยตัวเอง (Self-Managed) ที่เอเยนซี หรือแบรนด์สามารถเข้ามาใช้ระบบเพื่อตั้งแคมเปญจ้างงานอินฟลูเอนเซอร์เพื่อสร้างคอนเทนท์ได้เอง 2.บริหารแคมเปญการตลาดแบบครบวงจร ผ่านทีมงานเทลสกอร์ ที่จะทำหน้าที่ให้คำปรึกษา จัดการแคมเปญ คัดเลือกอินฟลูเอนเซอร์ และรายงานวัดผล โดยคิดค่าบริการ 10%

ล่าสุดได้เปิดตัวฟีเจอร์ UTM Link Tracking  ซึ่งเอเยนซีและแบรนด์ สามารถวัดผลและตรวจสอบอินฟลูเอนเซอร์ สามารถสร้างเอ็นเกจเมนต์ Conversion  และนำไปสู่การปิดการขายได้  โดยปีหน้าวางแผนขยายธุรกิจไปสู่ต่างประเทศ

หลังจากเปิดให้บริการในไตรมาส 4 ปีก่อน ช่วงครึ่งปีแรก 2561 เทลสกอร์ทำรายได้ 40 ล้านบาท ถึงสิ้นปีนี้วางเป้าหมายรายได้ 80 ล้านบาท  ปัจจุบันมีกลุ่มลูกค้าทั้งเอเยนซีและแบรนด์ กลุ่มหลักคือ กลุ่มธุรกิจสื่อสาร, สินค้าอุปโภคบริโภค (FMCG) แกดเจ็ต

 

Avatar photo