Economics

‘ไออาร์พีซี’ ตั้งงบลงทุนปี 63 กว่า 1.2 หมื่นล้าน รับเทรนด์ขาขึ้น

“ไออาร์พีซี” เดินหน้าลงทุนปี 63 วงเงิน 12,500 ล้านบาท ตั้งงบลงทุนซื้อกิจการกว่า 4,000 ล้านบาท พร้อมเพิ่มสัดส่วนผลิตภัณฑ์ชนิดพิเศษเป็น 60% รับเทรนด์ปิโตรเคมีขาขึ้นปีหน้า 

นายนพดล ปิ่นสุภา กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงแผนการดำเนินธุรกิจ ของบริษัท ว่า ในปี 2563 ได้ตั้งงบลงทุนไว้ที่ 8,500 ล้านบาท เพื่อลงทุนในโครงการ “Utra Clean Fuel Project” (UCF) 4,000 ล้านบาท รองรับการผลิตน้ำมันมาตรฐานใหม่ยูโร 5 และงบสำหรับบำรุงรักษาโรงงาน 2,000- 2,500 ล้านบาท นอกจากนี้ยังได้เตรียมวงเงินสำหรับการเข้าซื้อกิจการ และร่วมลงทุน (M&A) 3,000-4,000 ล้านบาท รวมเบ็ดเสร็จลงทุนปี 2563 รวม 11,500-12,500 ล้านบาท

CEO 01 ปก

โดยจะเน้นซื้อกิจการบริษัทต่างประเทศ ที่ทำธุรกิจเม็ดพลาสติกพีพี คอมเพาวด์ ( PP Compound) ที่ใช้ในอุตสาหกรรมรถยนต์ นอกจากนี้ยังมองหากิจการในกลุ่มอุตสาหกรรมปิโตรเคมีขั้นปลายด้วย

สำหรับโครงการ “Utra Clean Fuel Project” นั้น จะสามารถผลิตน้ำมันดีเซลมาตรฐานยูโร 5 ได้ประมาณเดือน มกราคม ปี  2564 กำลังการผลิตประมาณ 400 ล้านลิตรต่อเดือน โดยปัจจุบันปริมาณความต้องการใช้น้ำมันดีเซลในประเทศอยู่ที่ 2,000 ล้านลิตรต่อเดือน นอกจากป้อนตลาดในประเทศแล้ว ยังสามารถส่งออกไปตลาดต่างประเทศด้วย เพราะหลายประเทศเพื่อนบ้าน เช่น กัมพูชา เวียดนาม ก็ได้เริ่มใช้น้ำมันดีเซลมาตรฐานยูโร 5 แล้ว

126A7915

นายนพพล ย้ำว่ากลยุทธ์ของบริษัทหลังจากนี้ จะเพิ่มสัดส่วนการผลิตเม็ดพลาสติกมูลค่าสูงมากขึ้น จากปัจจุบันเป็นกลุ่มสินค้าโภคภัณฑ์ (Commodities)45% เป็น Commodities Plus และ Specialties รวมกัน 55% จะปรับให้เป็น 60% ในปีหน้า

สินค้าเกรดพิเศษที่สำคัญของบริษัท เช่น “ผลิตภัณฑ์ยางมะตอยเกรดพิเศษ”  ซึ่งไออาร์พีซี ถือเป็นโรงกลั่นรายแรกในประเทศไทย ที่ผลิตยางมะตอยเกรดพิเศษ 40:50 ออกสู่ตลาด โดยปัจจุบันมีกำลังการผลิต 3,000 ตันต่อเดือน และมีโอกาสเพิ่มกำลังการผลิตได้อีก

ในอนาคตผลิตภัณฑ์ยางมะตอยเกรดนี้จะถูกใช้มากขึ้น เพราะช่วยเสริมความแข็งแกร่ง ลดการเกิดร่องตามท้องถนน และมีอายุการใช้งานนานขึ้น โดยภาครัฐนำร่องใช้ยางมะตอยเกรดพิเศษนี้บนถนนพระราม 2 ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการก่อสร้าง

“การทำผลิตภัณฑ์ชนิดพิเศษ เป็นหนึ่งในแผนงานที่สำคัญของบริษัท เพื่อลดความผันผวนของอุตสาหกรรมปิโตรเคมี พร้อมกันนี้จะปรับกลยุทธ์ของบริษัท โดยยึดลูกค้าเป็นศูนย์กลาง (Customer Centric) โดยใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย และนวัตกรรมมาตอบโจทย์ลูกค้าให้มากขึ้นด้วย” 

126A7882

โดยที่ผ่านมาได้มีการวิจัย และพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ออกสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง ทั้งเม็ดพลาสติกพีพี คอมเพาวด์ สำหรับรถยนต์ไฟฟ้า ทุ่นพลังงานแสงอาทิตย์ลอยน้ำ จากเม็ดพลาสติกเอชดีพีอีคอมพาวด์ (HDPE Compound)ซึ่งมีความคงทน อายุการใช้งาน 25 ปี รวมถึงท่อน้ำประปา ที่ผลิตจากเม็ดพลาสติกเอชดีพีอี ทนต่อสารคลอรีนมากกว่าท่อน้ำประปาทั่วไป อายุการใช้งานมากกว่า 60 ปี เป็นต้น

ทางด้านความคืบหน้าโครงการ “MARS (Maximum Aromatics Project )”  กำลังผลิตพาราไซลีน (PX) 1.3 ล้านตันต่อปี และเบนซีน 5 แสนตันต่อปี มูลค่า 1,300 ล้านดอลลาร์นั้น บริษัทจะยังเดินหน้าโครงการต่อไป แต่จะชะลอขั้นตอนการหาผู้รับเหมาก่อสร้างออกไปก่อน เพื่อหาพันธมิตรร่วมทุนภายนอก และในกลุ่มปตท.ด้วยกัน คาดว่าจะสามารถตัดสินใจลงทุนขั้นสุดท้าย (FID)ในต้นปี 2564 จากนั้นเริ่มก่อสร้าง และแล้วเสร็จในปี 2568 สถานะปัจจุบัน อยู่ระหว่างการจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA)

นายนพดล กล่าวถึงเกณฑ์ใหม่ขององค์การทางทะเลระหว่างประเทศ (IMO) ที่กำหนดให้เรือเดินสมุทรใช้น้ำมันเตากำมะถันต่ำ 0.5% จากเดิม 3.5% ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 ซึ่งจะผลักดันให้มีการใช้น้ำมันเตากำมะถันต่ำมากขึ้น ซึ่งบริษัทผลิตอยู่ 52,000 ตันต่อเดือน จากกำลังการผลิตรวม 60,000 ตันต่อเดือน  วางเป้าหมายขายในประเทศ 65% และส่งออก 35%

ทั้งนี้พบว่าตลาดเอเชีย และตะวันออกกลาง มีความต้องการน้ำมันเตากำมะถันต่ำมากถึง 9.3 ล้านตันต่อเดือน จากปัจจุบันมีกำลังผลิตในตลาดเพียง 4.7 ล้านตันต่อเดือน  เป็นผลบวกต่อบริษัท

“ไออาร์พีซี เป็นโรงกลั่นเดียวในประเทศไทย ที่มีหน่วยกำจัดกำมะถันออกจากน้ำมันเตา ทำให้มีความได้เปรียบด้านคุณภาพ  รวมทั้งต้นทุนการผลิตที่ไม่ผันผวน เหมือนกับผู้ผลิตรายอื่น สามารถป้อนน้ำมันมาตรฐาน IMO เข้าสู่ตลาดได้เป็นรายแรก และก่อนระยะเวลาที่มาตรฐานกำหนด”

ส่วนการร่วมทุนระหว่างไออาร์พีซี กับ WHA Industrial Estate Rayong Co.,Ltd. เพื่อสร้างนิคมอุตสาหกรรมอัจฉริยะ WHA รองรับเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรืออีอีซี อำเภอบ้านค่าย จังหวัดระยอง ว่าขณะนี้พื้นที่ดังกล่าวได้รับการรับรองเป็นเขตส่งเสริมเมืองอัจฉริยะ ประเภทเมืองใหม่อัจฉริยะ (New City) จากสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแล้ว พร้อมเปิดให้บริการต้นปี 2564

นอกจากนี้เพื่อตอบรับกับโลกยุคดิจิทัล ไออาร์พีซียังมีแผนที่จะขยายความร่วมมือไปสู่ธุรกิจอี-คอมเมิร์ซ PLASTKET.COM โดยร่วมมือกับภาครัฐและเอกชน เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับลูกค้า เช่น การขอสินเชื่อจากสถาบันการเงินชั้นนำของประเทศ การให้บริการจัดส่งสินค้าทั่วประเทศจากสมาคมโลจิสติกส์แห่งประเทศไทย รวมทั้งการสนับสนุนข้อมูลทางเทคนิค และการพัฒนานวัตกรรมจากวิทยาลัยปิโตรเลียมและปิโตรเคมี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

สำหรับสถานการณ์ปิโตรเคมีนั้น นายนพดล บอกว่า ยังคงได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐ แต่ก็เริ่มมองเห็นแนวโน้มที่ดีขึ้น แต่ยังต้องขึ้นกับปัจจัยภาวะเศรษฐกิจโลกด้วย ซึ่งล้วนมีผลต่อความต้องการใช้ผลิตภัณฑ์ อย่างไรก็ตาม คาดว่าความต้องการใช้จากช่วงตรุษจีนในปีหน้า จะเข้ามาช่วยกระตุ้นความต้องการใช้

ส่วนทิศทางราคาน้ำมันดิบ ดูไบ ในปีหน้า คาดว่าจะอยู่ที่ 65 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้นจากปีนี้ที่มีราคาเฉลี่ย 61 ดอลลาร์ ส่วนน้ำมันสำเร็จรูปก็มีทิศทางที่ดีขึ้น จาก IMO ที่ทำให้ความต้องการใช้น้ำมันเตากำมะถันต่ำ

Avatar photo