Economics

หนุนธุรกิจธนาคารขยะ ‘เอสซีจี’ ชูแอป ‘คุ้มค่า’ เพิ่มประสิทธิภาพ

เอสซีจี ชูแอปพลิเคชัน “คุ้มค่า” หนุนธุรกิจธนาคารขยะ เพิ่มประสิทธิภาพบริหารจัดการ ส่งเสริมรีไซเคิล  ตั้งเป้าใช้งาน 170 แห่ง ภายในปี 2563

ประเทศไทย มีขยะมูลฝอยประมาณ 27.8 ล้านตัน สามารถนำกลับเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิล และนำไปใช้ประโยชน์ 34 % หรือประมาณ 9.58 ล้านตัน ในจำนวนนี้เป็นขยะพลาสติกประมาณ 2 ล้านตัน นำกลับมารีไซเคิลได้เพียง 0.5 ล้านตัน ทำให้หลายองค์กรต่างระดมเข้ามาช่วยแก้ปัญหา โดยเฉพาะในภาคธุรกิจ ที่ไม่ได้มองขยะเป็นแค่ CSR แต่ผนวกเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินธุรกิจ

ธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจี เปิดตัวแอปพลิเคชัน “คุ้มค่า” (KoomKah) เพื่อส่งเสริมการบริหารจัดการขยะของธุรกิจธนาคารขยะ (Waste Bank) ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ลดต้นทุนการจัดการ และเพิ่มความสะดวกให้ผู้ประกอบธุรกิจธนาคารขยะ และสมาชิก ในการคัดแยกขยะตั้งแต่ต้นทาง ส่งเสริมให้เกิดการรีไซเคิล

2 นายสัมพันธ์ ลู่วีระพันธ์
สัมพันธ์ ลู่วีระพันธ์

นายสัมพันธ์ ลู่วีระพันธ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอสซีจี พลาสติกส์ จำกัด ในธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจี กล่าวว่า แนวโน้มของธุรกิจด้านรีไซเคิล เช่น ธุรกิจธนาคารขยะ (Waste Bank) เริ่มเติบโตขึ้นตามเทรนด์ธุรกิจด้านสิ่งแวดล้อม

หากมีเครื่องมือที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ การบริหารจัดการของเสียแบบครบวงจร จะช่วยส่งเสริมให้ธุรกิจธนาคารขยะเติบโตได้อย่างยั่งยืน เอสซีจี จึงพัฒนาแอปพลิเคชัน “คุ้มค่า” เป็นเครื่องมือ หรือผู้ช่วยให้กับธนาคารขยะและสมาชิก สำหรับนำมาใช้บริหารจัดการขยะอย่างถูกต้อง และเกิดประสิทธิภาพสูงสุด

โดยแอปพลิเคชั่นนี้ ช่วยให้วางแผนกลยุทธ์การซื้อขายขยะได้ดียิ่งขึ้น เพิ่มมูลค่าให้กับขยะ และเพิ่มโอกาสการจำหน่ายขยะแต่ละชนิดไปยังโรงงานรีไซเคิล และโรงหลอมได้โดยตรง

ขณะเดียวกันยังช่วยสร้างแรงจูงใจ และการมีส่วนร่วมของคนในสังคมในการจัดการขยะในบ้านเรือน นำไปสู่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการคัดแยก และการทิ้งขยะของชุมชน ช่วยแก้ไขปัญหาการจัดการขยะและส่งเสริมกระบวนการรีไซเคิลได้อย่างยั่งยืน กำหนดเป้าหมายขยายการใช้แอปพลิเคชันไปยัง 170 ชุมชน ภายในปี 2563

ที่ผ่านมา ธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจี ร่วมพัฒนาและนำแอปพลิเคชัน “คุ้มค่า” นำร่องใช้งานร่วมกับธนาคารขยะแล้วหลายแห่ง เช่น มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต และธนาคารขยะชุมชนเขาไผ่ จังหวัดระยอง เป็นต้น

5 ทีมงานพัฒนาและออกแบบแอปคุ้มค่า

นายสัญญา จินดาประเสริฐ Digital Manager ในธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจี กล่าวว่า การออกแบบแอปพลิเคชัน “คุ้มค่า” เริ่มต้นจากการลงสำรวจพื้นที่ ศึกษาข้อมูล และความต้องการของผู้ใช้งานที่ประกอบธุรกิจธนาคารขยะ ซึ่งพบว่าส่วนใหญ่ยังคงบันทึกข้อมูลการซื้อขายด้วยระบบเดิม และไม่มีการจัดทำบันทึกสินค้าคงคลัง

จึงจุดประกายให้เกิดการนำพฤติกรรมนี้มาพัฒนาแอปพลิเคชัน “คุ้มค่า” เพื่อเป็นโซลูชันด้านดิจิทัลสำหรับการบริหารจัดการขยะ โดยเชื่อมั่นว่าจะช่วยแก้ไขปัญหาให้กับผู้ประกอบธุรกิจธนาคารขยะได้อย่างตรงจุด รวมทั้งยังเป็นเครื่องมือที่สอดคล้องกับไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่ จุดเด่น คือ ใช้งานง่าย มีฟังก์ชันที่หลากหลาย ครบวงจร ช่วยลดขั้นตอนการทำงานที่ซับซ้อน

ทำให้การซื้อขายรวดเร็ว และง่ายดายยิ่งขึ้น ทั้งช่วยอัปเดตข้อมูลได้ทันที มีความแม่นยำ โปร่งใส และตรวจสอบได้ทั้งด้านผู้ซื้อและผู้ขาย โดยมีทีมงานที่เชี่ยวชาญคอยให้คำแนะนำในการติดตั้ง และการใช้งานเบื้องต้น คาดว่าการนำดิจิทัลเทคโนโลยีมาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการขยะเช่นนี้ จะทำให้ผู้ประกอบธุรกิจธนาคารขยะทำงานได้สะดวกมากขึ้น สร้างรายได้เพิ่ม รวมถึงเป็นเครื่องมือที่ช่วยกระตุ้นให้คนในสังคมเกิดการคัดแยกขยะ และส่งต่อแนวคิดนี้ไปยังครอบครัวและชุมชนต่อไป”

ด้าน นายพงษ์พันธ์ ซาคะนัย เจ้าหน้าที่ธนาคารขยะมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต กล่าวว่า แอปพลิเคชัน “คุ้มค่า” ช่วยลดเวลา และขั้นตอนการทำงานลง จากเดิมที่ต้องกรอกข้อมูลลงบนกระดาษ เปลี่ยนเป็นใส่ข้อมูลบนแอปพลิเคชัน ทำให้ได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง ครบถ้วน อีกทั้งยังช่วยจัดระเบียบและวางแผนการซื้อขายได้อย่างดี

เช่นเดียวกับ นางสาวณภัทร ภูมิรัตนโชติ เจ้าหน้าที่ธนาคารขยะชุมชนเขาไผ่ จังหวัดระยอง ที่ยอมรับว่า ช่วยให้บริหารจัดการข้อมูลซื้อขายขยะทำได้ง่ายขึ้น ลดความผิดพลาด และตรวจสอบข้อมูลได้ทั้งฝั่งผู้ซื้อ และผู้ขาย

4 ทีมงานพัฒนาและออกแบบแอปคุ้มค่า

แอปพลิเคชัน “คุ้มค่า” มี  5 ฟังก์ชันหลัก ประกอบด้วย

  1. การรับซื้อขยะ (Buy) ช่วยบันทึก จัดเก็บข้อมูลขยะและคำนวณยอดเงินจากการซื้อขาย
  2. การจัดการสมาชิก (Membership Management) จัดเก็บข้อมูลสมาชิก ประวัติการแลกแต้ม และสะสมคะแนน
  3. การขายขยะ (Sell) บันทึกข้อมูลการขาย คำนวณรายรับและกำไรที่ได้จากการขาย
  4. จัดการสินค้าคงคลัง (Inventory Management) โดยจัดระเบียบข้อมูลสินค้าขยะแต่ละประเภท เงินทุนและแต้มสะสมจากการรับซื้อสินค้า ทำให้วางแผนกลยุทธ์การซื้อขายได้ดียิ่งขึ้น
  5. การจัดทำรายงานรับซื้อ และขายขยะ (Report) ที่สามารถเลือกช่วงเวลาประมวลผล และดาวน์โหลดไฟล์ออกมาในรูปแบบ Excel ได้

 

Avatar photo