Politics

‘กนก วงษ์ตระหง่าน’ ยกปม ‘เลบานอน’ สะท้อน ‘การเมืองไทย’

 “กนก” ย้ำเรื่องของประเทศไทย คิดคนเดียวไม่ได้ คนไทย ต้องช่วยกันคิด ที่สำคัญ ต้องช่วยกัน ลงมือ ทำ

ดร. กนก วงษ์ตระหง่าน รองหัวหน้าตามภารกิจ พรรคประชาธิปัตย์ โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว ในหัวข้อ มอง “เลบานอน” สะท้อน “การเมืองไทย” โดยระบุว่า

1. เมื่อวันที่ 29 ตุลาคมที่ผ่านมา (2562) “นายกรัฐมนตรีเลบานอน” ประกาศลาออกจากตำแหน่ง ภายหลังจากประชาชนจำนวนมากออกมาประท้วงปิดถนนเป็นเวลานานกว่า 2 สัปดาห์ แม้สถานการณ์ที่เกิดขึ้นนั้น จะอยู่นอกความสนใจจากสื่อในบ้านเมืองของเรา แต่หนีไม่พ้นความใส่ใจของผม ในแง่มุมที่น่าจะมีประโยชน์ต่อประเทศไทยไม่มากก็น้อย ผมจึงขอใช้พื้นที่ตรงนี้สื่อสารในประเด็นที่น่าสนใจ ดังนี้

ประเทศเลบานอนยุติสงครามกลางเมืองระหว่างชาวคริสต์และมุสลิมในปี ค.ศ. 1943 ด้วยการออกรัฐธรรมนูญที่มีการประนีประนอม และประสานประโยชน์ระหว่างประชาชนที่นับถือศาสนาคริสต์กับอิสลาม โดยกำหนดให้ชาวคริสต์มีที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎร 6 ส่วน ในขณะที่ชาวมุสลิมมีที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎร 5 ส่วน (อัตราสมาชิกในสภาฯ 6:5)

 

ต่อมาในปี ค.ศ. 1990 ได้มีการปรับสัดส่วนที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎรใหม่เป็นอัตรา 5:5 โดยการจัดสัดส่วนนี้ยังลงลึกไปถึงจำนวนข้าราชการด้วย และกำหนดให้ประธานาธิบดีเป็นชาวคริสต์ ประธานสภาผู้แทนราษฎรเป็นชาวมุสลิมนิกายชิอะห์ และนายกรัฐมนตรีเป็นชาวมุสลิมนิกายซูนี่

กนก55

2. ประเด็นของการประท้วงมีอยู่ 3 ประการที่สำคัญ คือ หนึ่ง ประชาชนเลบานอนมีความรู้สึกว่า ประเทศถูกแบ่งแยกเป็นกลุ่มตามศาสนาต่างๆ ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการสร้างความเป็นชาติที่เข้มแข็ง ดังนั้น จึงต้องการให้มีการยกเลิกการแบ่งแยกประชาชน เพื่อการสร้างความเป็นเอกภาพของคนในชาติ

สอง ประชาชนมีปัญหาความยากจน พวกเขามีรายได้ไม่เพียงพอกับรายจ่าย เพราะค่าครองชีพสูงมากขึ้นเรื่อยๆ ที่สำคัญรัฐบาลที่อยู่ในอำนาจก็ไม่สามารถแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจได้ เพราะขาดความเข้มแข็งในระบบของรัฐสภา ด้วยความที่กำหนดอัตราส่วนผู้แทนราษฎรไปยังโควต้าต่างๆ ของแต่ละพรรคการเมือง จนขาดพลังเสียงสนับสนุนในการตรากฎหมาย หรือออกนโยบายในการแก้ไขปัญหาทางด้านเศรษฐกิจ

และสาม ปัญหาคอร์รัปชั่นในรัฐบาล และการหาผลประโยชน์ส่วนตนผ่านกลไกจากทางภาครัฐ ที่กัดกินความรู้สึกของประชาชนมาอย่างยาวนาน จนปะทุขึ้นมาเป็นเชื้อไฟที่สำคัญในการประท้วงครั้งนี้

3. สถานการณ์ทางการเมืองในเลบานอนขณะนี้ นายกรัฐมนตรีลาออกแล้ว ประธานาธิบดีแต่งตั้งรักษาการนายกรัฐมนตรี เพื่อประคองสถานการณ์ประท้วงให้ทุเลาลง และนำไปสู่การจัดตั้งรัฐบาลและคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ ในขณะที่กองกำลังทหาร-ตำรวจออกมาช่วยดำเนินการให้ประชาชนที่ออกมาประท้วงกลับบ้าน และช่วยกันขนย้ายสิ่งกีดขวางต่างๆ ออกจากท้องถนน เพื่อคืนการดำเนินชีวิตให้กลับไปอยู่ในวิถีปกติ

แต่ประชาชนที่กลับบ้านไปแล้ว ก็ยังคงไม่พอใจกับการลาออกของนายกรัฐมนตรีเท่านั้น เพราะปัญหาที่เป็นหัวใจหลักในการเรียกร้องจากการชุมนุมยังไม่ได้รับการแก้ไข ตั้งแต่รัฐธรรมนูญที่แบ่งแยกประชาชนออกจากกัน ความยากจนที่ค่อยๆ กัดกินรอยยิ้มของชาวบ้าน และการทุจริตคอร์รัปชั่นที่ยังไม่ได้รับการสะสางผ่านกระบวนการยุติธรรม พวกเขาพร้อมจะกลับมาลงถนนอีกครั้ง เมื่อรัฐบาลใหม่ใช้เวลาที่ให้ไปอย่างไม่มีคุณค่า

นี่เองที่ทำให้ผมละการรับรู้จากเลบานอนไม่ได้ เพราะบริบททางการเมืองของเขา ไม่ได้ต่างจากประเทศของเราเลยสักนิด หรืออันที่จริงแล้ว อาจบอกได้ว่า นี่คือปัญหาหลักของประเทศที่ใช้ระบอบการเมืองการปกครองในรูปแบบของประชาธิปไตย (เป็นแกนหลัก) ก็ว่าได้ ต่างกันแค่เพียงช่วงเวลาที่นำไปสู่ปัญหาก็เท่านั้น

68658862 2515221971870224 1420487895449337856 n

4. เอาล่ะ เมื่อทราบความในเบื้องต้นแล้ว ผมอยากพามาลงลึกถึงความคล้ายคลึงของปัญหาระหว่างเลบานอนกับประเทศไทยของเรา ที่ต่อยอดไปถึงภาพอันชัดเจนจากผลลัพธ์ที่เคยปรากฏขึ้นต่อทั้งสองประเทศ เพื่อที่จะมาร่วมกันตกผลึกว่า ทางออกที่เหมาะสมควรต้องเป็นอย่างไร

ว่ากันด้วยเรื่องของ “รัฐธรรมนูญ” ก่อน ย้อนหลังไปเมื่อ 50 กว่าปีที่ผ่านมา กฎหมายสูงสุดของประเทศเลบานอนถูกออกแบบมาเพื่อสร้างการประนีประนอมกันระหว่างประชาชนที่นับถือศาสนาคริสต์และอิสลาม อำนาจได้รับการจัดสรรเป็นส่วนๆ เพื่อหยุดสงครามกลางเมืองที่ดำเนินมาอย่างยาวนาน แต่เมื่อจำเนียรกาลผ่านไป รัฐธรรมนูญที่ควรจะสร้างความปรองดอง ถูกตั้งข้อหาว่า “แยก” ประชาชนออกจากกัน สร้างการเป็นฝักเป็นฝ่าย ทำลายความเป็นหนึ่งเดียวกันของชาติ นี่จึงเป็นเหตุผลที่ประชาชนออกมารวมตัวกันที่ท้องถนน พวกเขาอยากแก้กฎหมายสูงสุดของประเทศ ที่จะต้องไม่แบ่งเขาแบ่งเราตามอัตราการนับถือศาสนาเหมือนที่เป็นมาอีกต่อไป

นี่แหละครับคือปัญหาที่น่าสนใจ รัฐธรรมนูญฉบับเดียวกันแท้ๆ แต่เมื่อบริบทเปลี่ยน สถานการณ์ประเทศไม่เป็นไปในแบบที่เคยเป็นมา จากที่เคยแก้ปัญหา ก็พลันกลายเป็นการสร้างปัญหาได้ เช่นกันกับประเด็นการเขียนรัฐธรรมนูญของประเทศไทย ที่ถึงที่สุดแล้วก็ปัญหาเก่าไปปัญหาใหม่มาอยู่เสมอ เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว อาจสรุปได้ว่า ช่วงเวลากับสภาพการณ์น่าจะเป็นสิ่งสำคัญในการแก้ไขปัญหาหนึ่งๆ แต่ใช่ว่าทุกปัญหาจะแก้ไขได้ด้วยคำตอบเดียวกันไม่

5. อีกประเด็นที่น่าสนใจ และต้องให้ความสำคัญเป็นพิเศษ ก็คือ “ความขัดแย้งกันเองของคนในชาติ” สืบเนื่องจากรัฐธรรมนูญของเลบานอนที่เขียนขึ้นเพื่อแบ่งอัตราส่วนเก้าอี้ในสภาผู้แทนราษฎรเอาไว้ตามการนับถือศาสนา ดังนั้น การแข่งขันทางการเมืองจึงนำความแตกต่างทางอัตลักษณ์และวัฒนธรรมทางศาสนามาใช้ในการสร้างความนิยมให้กับพรรคของตัวเอง

ที่แย่ไปกว่านั้นก็คือ ในระดับศาสนายังมีการแบ่งการสร้างความนิยมตามนิกายลงไปอีก ประชาชนจึงถูกแบ่งออกจากกันตามความเชื่อทางศาสนา ความนิยมที่ถูกเชิญชวน และการปลุกปั่นที่สร้างความชังต่อกัน ซึ่งวิธีการในแบบท้ายสุดนี้ เป็นที่นิยมมาก และได้ผลดี เพราะประชาชนอยู่ในสภาพที่ลำบากมาอย่างต่อเนื่องและยาวนาน ประเด็นความเหลื่อมล้ำและการแบ่งกลุ่มชนชั้นจึงกลายเป็นเรื่องเล่าที่สร้างอารมณ์ร่วมได้อยู่เสมอ

แม้ในประเทศไทยของเราจะยังไม่แย่ไปถึงขั้นการมีสงครามทางศาสนา หรือกองกำลังติดอาวุธในแบบเลบานอน แต่เงื่อนไขของความขัดแย้งที่เกิดขึ้นก็มีรูปแบบที่ไม่ต่างกันนัก ในปัจจุบันนี้ยิ่งเห็นภาพได้อย่างชัดเจน กลุ่มการเมืองหรือกลุ่มความเชื่อต่างๆ เริ่มมีการแตกกระจายกันออกไป หรือเกิดกลุ่มใหม่ๆ ขึ้นมา พร้อมประเด็นที่พวกเขาเหล่านั้นหยิบยกมาสร้างความรู้สึกร่วมกัน อาทิ ความยุติธรรม ความเหลื่อมล้ำ ความยากจน ฯลฯ เงื่อนไขเหล่านี้เองที่จะกลายเป็นเชื้อไฟอย่างดีของความขัดแย้งที่มากยิ่งขึ้น ดังนั้น ทางที่ดีการแก้ปัญหาพื้นฐานเหล่านี้ต้องเกิดขึ้น เพื่อตัดไฟแต่ต้นลม

6. สำหรับ “การทุจริตคอร์รัปชั่น” ที่เป็นเสมือนชนวนระเบิดของวิกฤตทางการเมืองในเลบานอน ก็ต้องบอกว่าเป็นผลสืบเนื่องมาจาก “ปัญหาเศรษฐกิจ” ประกอบกันไปด้วย เมื่อประชาชนลำบาก ตกงาน รายได้ไม่พอรายจ่าย เป็นหนี้ คุณภาพชีวิตแย่ ฯลฯ ความไม่พอใจต่อการดูแลทุกข์สุขประชาชนของรัฐบาลย่อมก่อตัวขึ้นเป็นธรรมดา แต่จะรุนแรงมากขึ้นเมื่อพวกเขามองเห็นหรือรับรู้ว่า คนที่มีอำนาจทางการบริหารสามารถที่จะใช้อำนาจนั้นเพื่อผลประโยชน์ของตัวเองและพวกพ้องโดยไม่ถูกต้องตามกฎหมาย (หรือบางเรื่องอาจถูกต้องตามกฎหมาย แต่ไม่สมควรหรือเหมาะสม) ก็ล้วนแต่เป็นไฟที่สุมความโกรธแค้นให้ประชาชนไม่ทนอีกต่อไป

นี่คือปัญหาใหญ่ของประเทศไทยเช่นกัน ที่ทำให้เราเปลี่ยนผ่านกฎหมายสูงสุดของประเทศมาหลายฉบับ แต่ก็ยังคงวนเป็นงูกินหางอยู่กับปัญหา “ความจน” และ “คนโกง” จนนำไปสู่ความขัดแย้งของคนในชาติที่ดำเนินกันอยู่ในหลายสิบปีที่ผ่านมา และยังคงมีที่ท่าว่าจะต่ออายุกันไปเรื่อยๆ

กนก331

ทั้งหมดที่ว่ามานี้ หยิบยกไว้เป็นกรณีศึกษา บนความเป็นห่วงที่ผมมีต่อประเทศของเรา และเชื่อว่า หลายคนก็คงมีความเป็นห่วงเช่นเดียวกับผม ก็ถือเสียว่าพื้นที่ตรงนี้เป็น “ตลาดนัดความคิด” ใครมีข้อเสนอหรือข้อแนะนำอะไรเพิ่มเติมก็นำมาแลกเปลี่ยนกันได้

เพราะ “เรื่องของประเทศไทย” คิดคนเดียวไม่ได้ “คนไทย” ต้องช่วยกันคิด และที่สำคัญ ต้องช่วยกัน (ลงมือ) ทำด้วยนะครับ

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight